เปิดเทอมสะพัด5.7หมื่นล้าน โรงตึ๊งอุ้มดอก 0.25%

14 พ.ค. 2566 | 19:45 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2566 | 19:55 น.

แห่ชิงเค้ก “เปิดเทอม” 5.7 หมื่นล้าน สูงสุดในรอบ 14 ปี “โรงรับจำนำ” ประกาศหั่นดอกเบี้ยถูกสุดๆ แค่ 0.25% พร้อมสั่งสำรองเงินเพิ่ม เผยเม.ย. เดือนเดียวผู้ปกครองใช้บริการพุ่งเท่าตัว

การประเมินค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2566 ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ค่าใช้จ่ายโดยรวมในช่วงเปิดเทอมปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 19,507 บาทต่อคนเพิ่มขึ้น เติบโต 6.6% จากปี 2562 ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 18,299 บาทต่อคน (ปี 2563-2565 เกิดการระบาดของโควิด 19 ทำให้ต้องปรับรูปแบบการเรียนเป็นออนไลน์ เป็นช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ไม่มีการจับจ่าย)

ส่งผลทำให้เงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมปีนี้มีมูลค่ารวมกว่า 57,885 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.30% จากปี 2562 ที่มีมูลค่ากว่า 54,972 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าที่สูงสุดในรอบ 14 ปี สอดรับกับบรรยากาศทั้งในสถานธนานุบาล หรือโรงรับจำนำทั้งของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนห้าง ร้านค้าที่พบว่า ต่างคึกคักจากจำนวนผู้ปกครองที่เข้าไปใช้บริการมากมาย

เปิดเทอมสะพัด5.7หมื่นล้าน โรงตึ๊งอุ้มดอก 0.25%

นายชนาธิป ล.วีระพรรค ผู้อำนวยการสำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมการรับจำนำเทียบกับช่วงมีสถานการณ์โควิด ทั้งจำนวนเงินจำนำและผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นทั้งสองส่วนและปัจจุบันตัวเลขยังคงเพิ่มขึ้นเช่นกัน เห็นได้จากปีงบประมาณ 2564 มียอดจำนำ 6,071 ล้านบาทและเพิ่มเป็น 6,655 ล้านบาทในปี 2565 ในแง่จำนวนรายของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มเป็น 3.81 แสนราย จาก 3.77 แสนรายเมื่อเทียบกับในปี 2564 ส่วนวงเงินรับจำนำต่อตั๋วจำนำ 1 ใบเฉลี่ย 15,000-25,000 บาทหรือเทียบเท่ามูลค่าทองคำต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ

นายชนาธิป ล.วีระพรรค ผู้อำนวยการสำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้เงินในปีงบประมาณ 2566 เฉพาะ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ มียอดจำนำอยู่ที่ 3,770 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 110 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 3,669 ล้านบาท ส่วนจำนวนประชาชนผู้ใช้บริการปรับลดลงเล็กน้อยเป็น 2.06 แสนรายจากปีก่อน 2.1 แสนราย

ทั้งนี้สาเหตุที่การจำนำปรับเพิ่มนั้น มาจากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าขายทั้งประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อยต้องการสภาพคล่อง โดยบรรยากาศจำนำคึกคักในช่วงการเปิดเทอม ซึ่งเพิ่มเติมจากประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการ

“เฉพาะโครงการเปิดเทอมปีนี้มากกว่าปีก่อน โดยเทียบจากเดือนเมษายนผ่านมา 1 เดือน ปีนี้จำนวนคนเข้าโครงการเพิ่มเกือบเท่าตัวเป็น 2,400 ราย จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียง 1,500 ราย ขณะที่มีจำนวนเงินเข้าร่วมโครงการ 80 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 47 ล้านบาท

เปิดเทอมสะพัด5.7หมื่นล้าน โรงตึ๊งอุ้มดอก 0.25%

“ส่วนหนึ่งเพราะเรามีแคมเปญและลงพื้นที่เชิญชวนผู้ปกครองมาใช้บริการตามนโยบายท่านผู้ว่ากทม.ตอนเริ่มต้นโครงการเปิดเทอมวงเงิน 300 ล้านบาท หากอยู่ในช่วงเวลาที่กำหนด เราจะขยายวงเงินเพิ่มได้โดยมีวงเงินหมุนเวียน 2,000 ล้านบาท นายชนาธิป กล่าว”

สำหรับโครงการเปิดเทอมนั้น โรงรับจำนำกทม.เสนอแคมเปญอัตราดอกเบี้ยส่วนลดพิเศษตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2566 วงเงินจำนำตั้งแต่ 5,001-100,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ต่อเดือน โดยเน้นผู้ปกครอง นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการต้องแสดงหลักฐานและสูจิบัตร โดยระบุชื่อผู้ปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่จำนำทองคำรูปพรรณสัดส่วน 80% ที่เหลือเป็นอัญมณี และเบ็ดเตล็ดอื่น เช่น นาฬิกา แว่นตา เครื่องใช้ในบ้าน

ด้านนายประสงค์ พันธ์ลิมา ผู้อำนวยการสถานธนานุเคราะห์ (สธค.) โรงรับจำนำของรัฐ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวว่า ช่วง 7 เดือนมีจำนวนเงินใช้รับจำนำ 11,600 ล้านบาททรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวปีก่อน แต่หากแยกเฉพาะช่วงเปิดเทอมระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย.ของทุกปี จะมีลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้น โดยเดือนเมษายนเตรียมเม็ดเงินสำรองการรับจำนำ 600 ล้านบาท

นายประสงค์ พันธ์ลิมา ผู้อำนวยการสถานธนานุเคราะห์ (สธค.)

สำหรับปีนี้มีผู้ปกครอง/จำนวนประชาชนที่มาใช้บริการ 85% สถานการณ์ยังไม่กลับมาเป็นปกติเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดหรือก่อนปี 2563 เห็นได้จากปลายปี 2564 ผู้ปกครองทะยอยขายทรัพย์ ไม่มีทรัพย์กลับมาจำนำ กระทั่งปลายปี 2565 กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นมาจาถึงปัจจุบัน ประกอบกับคู่แข่งในตลาดที่มีผลกระทบต่อธุรกิจโรงรับจำนำเช่น ไมโครไฟแนนซ์ และร้านค้าทองคำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนเลือกใช้บริการซึ่งมีสาขาทั่วประเทศ แม้จะดำเนินการภายใต้กฎหมายคนละฉบับกับโรงรับจำนำก็ตาม

“เม็ดเงินธุรกิจโรงรับจำนำประมาณ 80,000 ล้านบาททั้งระบบ อัตราเติบโตแทบไม่มี เหตุคู่แข่งเพิ่มทั้งโรงรับจำนำเอกชน ไมโครไฟแนนซ์รวมบัตรกดเงินสด ร้านค้าทองคำ และสธค.ได้เปรียบในการทำตลาด โดยยังคงคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำปกติตลอดยาวไป เช่น วงเงิน ไม่เกิน 5,000 บาทรับจำนำที่ 0.25% ต่อเดือนแต่ต้นทุนจริงอยู่ที่ 0.70%” นายประสงค์ กล่าว

สำหรับวงเงินจำนำแบ่งเป็น 4 ช่วง เริ่มจากวงเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาทคิดดอกเบี้ย 0.25% ต่อเดือน วงเงิน 5,001-10,000 บาท คิดดอกเบี้ย 0.75%ต่อเดือน วงเงินตั้งแต่ 10,001-20,000บาทคิดดอกเบี้ย 1.00% และวงเงิน 20,001-100,000บาทคิด 1.25% ต่อเดือนหรือ 15% ต่อปี

นายสมชาย ขันอุระ ผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ 3 กล่าวว่า บรรยากาศในปีนี้การจำนำและไถ่ถอนเป็นไปอย่างคึกคัก เพราะไม่มีโควิด จึงมีการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้มีประชาชนนำทรัพย์สินมาจำนำ ประกอบกับเป็นช่วงเปิดเทอม จึงมีการจำนำเพื่อนำไปใช้จ่ายซื้อเสื้อผ้านักเรียน อุปกรณ์การเรียน และลงทุนค้าขายด้วย โดยปีนี้สถานธนานุบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ทั้ง 5 แห่ง เตรียมพร้อมสำรองเงินกว่า 500 ล้านบาท พร้อมจัดโปรโมชั่นลดดอกเบี้ยอัตราพิเศษ ในช่วงเปิดเทอมนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนเข้ามาจำนวนเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงปกติ 30-40%

เปิดเทอมสะพัด5.7หมื่นล้าน โรงตึ๊งอุ้มดอก 0.25%

ขณะที่บรรยากาศการจับจ่ายซื้อสินค้าเพื่อเตรียมเปิดภาคเรียนในปีนี้ พบว่าผู้ประกอบการต่างจัดแคมเปญขึ้นเพื่อรองรับกำลังซื้อของผู้ปกครอง โดยนางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า กำลังซื้อของกลุ่มผู้ปกครองมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นประเมินว่าผู้ปกครองจะมียอดการซื้อสินค้าเฉลี่ย 1,500-2,000 บาทต่อบิล ส่วนสินค้าที่ได้รับความนิยมในช่วงเปิดเทอม ได้แก่ 1. รองเท้านักเรียน และถุงเท้า 2. ชุดชั้นใน 3. กระเป๋าและกระติกน้ำ

“ภาพรวมของการจับจ่ายสินค้าชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ปีนี้คึกคักขึ้น โดยเดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มซัพพลายเออร์แบรนด์ชั้นนำ อาทิ นันยาง ซาบีน่า ฯลฯ จัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นให้เกิดยอดซื้อ ขณะที่ราคาสินค้าโดยรวมยังไม่มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด” นางสาววรลักษณ์ กล่าว

เปิดเทอมสะพัด5.7หมื่นล้าน โรงตึ๊งอุ้มดอก 0.25%

ด้านนายสุชาติ ไชยมงคล ผู้จัดการสาขา ศูนย์การค้า เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ กล่าวว่า ยอดขายโดยรวมกลับมาเติบโตขึ้น 7-8 % จากการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ทั้่งซัมเมอร์, BACK TO SCHOOL ซึ่งมีสินค้าไอเทมใหม่ต้อนรับเปิดเทอม ลดสูงสุด 50% ตั้งแต่ 20 เม.ย.-31 พ.ค. 2566 โดยลูกค้าเริ่มเข้ามาซื้อกันตั้งสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเม.ย. โดยพบว่ายอดขายสินค้านักเรียน ทั้งกระเป๋า รองเท้านักเรียน ถุงเท้า หรือแม้กระทั่งเสื้อผ้าต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็กเติบโตขึ้น 14%