TRC ลุ้น “คลัง” เพิ่มทุน สร้างเหมืองแร่โปแตช แก้ปัญหาปุ๋ยแพง

02 พ.ค. 2566 | 17:13 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2566 | 21:06 น.

TRC ดันเหมืองแร่อาเซียนโปแตช จ.ชัยภูมิ แก้ปัญหาปุ๋ยแพง ลดการนำเข้าต่างประเทศ ภาครัฐเตรียมเพิ่มทุนโครงการฯ หลังครม.มีมติสั่งคลังเพิ่มทุน เผยแผนล้างหนี้ 5 พันล้านบาท แลกขายปุ๋ยราคาถูก

นายภาสิต ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ (รักษาการ) บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC เปิดเผยในงานสัมมนา The Big Issue 2023 ปุ๋ยแพง :  วาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร ในหัวข้อปุ๋ยแพง ปัญหาใหญ่ภาคเกษตรกร ว่า ตนในฐานะนักอุตสาหกรรมและตัวแทนบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ซึ่ง TRC ถือหุ้น 25% โดยโครงการเหมืองแร่อาเซียนโปแตชชัยภูมิ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2516 ในการสำรวจแหล่งแร่โปแตชและเกลือหิน จนชาวบ้านนำมาขาย 

ในปี 2525 เริ่มโครงการทำเหมืองทดลองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นเหมืองใต้ดินแห่งแรกของไทย ต่อมาในปี 2533 ได้เริ่มดำเนินการขุดอุโมงค์ลึก 200 เมตร ระยะทาง 1 กิโลเมตร (กม.) จนถึงแหล่งแร่ โดยมีการส่งแร่ไปทดสอบที่ประเทศสหรัฐอเมริการและแคนาดา  ซึ่งบริษัทได้เข้าร่วมโครงการฯนี้ในปี 2550 ทั้งนี้ในต้นปี 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กระทรวงการคลังดำเนินการเข้าเพิ่มทุนในโครงการฯเพื่อดำเนินการต่อไป จากเดิมที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 20%
 

ที่ผ่านมามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังระบุอีกว่า บมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ เป็นหนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท เบื้องต้นเอกชนได้เข้าไปเจรจากับภาครัฐ ขอให้โครงการฯดำเนินการต่อไป เพื่อที่เอกชนสามารถชำระหนี้ที่ค้างกับภาครัฐได้ 

TRC ลุ้น “คลัง” เพิ่มทุน สร้างเหมืองแร่โปแตช แก้ปัญหาปุ๋ยแพง

“เราขอชำระหนี้กับภาครัฐเป็นปุ๋ย ในราคาที่ต่ำกว่าการนำเข้าปุ๋ยหรือต่ำกว่าราคาของกรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) ที่กำหนด -10% หากภาครัฐต้องการปุ๋ยมากกว่านั้น ทางเอกชนพร้อมจำหน่ายปุ๋ยให้แก่ภาครัฐตามที่กพร.กำหนด -7%” 
 

 นายภาสิต กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีปริมาณแร่โปแตชเซียมสำรองทั้งหมด 400,000 ล้านตัน แบ่งเป็น 2 แอ่ง ได้แก่ แอ่งสกลนครและแอ่งโคราช โดยโครงการนี้ได้จัดเตรียมพื้นที่ ประมาณ 5,600 ไร่ ที่ห่างไกลจากชุมชน ซึ่งไม่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ไม่พาดผ่านแนวรอยเลื่อน และไม่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว โดยอยู่สูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ 30-50 เมตร (ไม่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม) จาก 5,600 ไร่ เป็นพื้นที่บ่อกักเก็บหางแร่ประมาณ 2,777 ไร่ 

TRC ลุ้น “คลัง” เพิ่มทุน สร้างเหมืองแร่โปแตช แก้ปัญหาปุ๋ยแพง

ส่วนที่เหลือรอบบ่อ เป็นพื้นที่กันชน (Green belt buffering zone) ซึ่งดำเนินการให้ กลุ่ม SCG Forestry และ กลุ่มบริษัท AA ปลูกต้นกระดาษ เป็นแนวบังตา และกันชาวบ้านเข้าไปในบ่อเก็บหางแร่ โดยที่ผ่านมาโครงการฯได้ผ่านรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว ปัจจุบันบริษัทฯอยู่ระหว่างดำเนินการวางแผนระดมทุน 

สำหรับภาพรวมตลาดปุ๋ยเคมีในไทย พบว่าปุ๋ยเคมีราคาแพงขึ้น ถึงแม้ว่าปริมาณการนำเข้าปุ๋ยลดลง โดยในปี 2565 มีปริมาณการนำเข้าปุ๋ยลดลง 25% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจาก 45 ประเทศ ปริมาณ 5.5 ล้านตัน มีมูลค่าประมาณ 70,103 ล้านบาท 

TRC ลุ้น “คลัง” เพิ่มทุน สร้างเหมืองแร่โปแตช แก้ปัญหาปุ๋ยแพง

ทั้งนี้ยังพบว่าต้นทุนการผลิตพืชมีค่าปุ๋ยเคมีเกินกว่า 20% ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ย และแม่ปุ๋ย จากต่างประเทศ ราคาแม่ปุ๋ยทุกชนิดมีการปรับตัวขึ้นอย่างสูงมาก และยิ่งไปกว่านั้น ไม่สามารถสั่งนำเข้ามาได้ เนื่องจากประเทศผู้ผลิตหยุดการส่งออก(ช่วงเกิดสงคราม) 

นายภาสิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบันไทยใช้ปริมาณปุ๋ยทั้งหมด ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี โดยมีแม่ปุ๋ย N-P-K ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี โดยใช้แม่ปุ๋ยไนโตรเจน (Nitrogen / Granular UREA และ AS Capolactum ) หรือ 46-0-0 และ 21-0-0  ประมาณ 2,480,000 ตันต่อปี คิดเป็น 62% โดยนำเข้าจาก ซาอุดีอาระเบีย จีน กาตาร์ รัสเซีย และ แคนาดา

นอกจากนี้แม่ปุ๋ยฟอสฟอรัส (Phosphorus / Diammonium Phosphate “DAP”) หรือ 18-46-0 ประมาณ 720,000 ตันต่อปี คิดเป็น 18% โดยนำเข้าจาก สหรัฐอเมริกา โมร็อกโก และ จีน  ส่วนแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม (Potash / Muriate of Potash “MOP”) หรือ 0-0-60 ประมาณ 800,000 ตันต่อปี คิดเป็น 20% โดยนำเข้าจาก แคนาดา เบลารุส และ รัสเซีย