“นมทางเลือก” คึกคัก รับเทรนด์สุขภาพ “ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์” ผวาต้นทุนพุ่ง

01 พ.ค. 2566 | 12:18 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2566 | 12:21 น.
736

ตลาดนมทางเลือกคึกคัก จับตาผู้เล่นใหม่พาเหรดเข้าตลาด รับเทรนด์ผู้บริโภคดูแลสุขภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพสัตว์ “ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์” ชูนวัตกรรมเพิ่มวาไรตี้ สร้างแต้มต่อ วอนรัฐช่วยพยุงลดค่าใช้จ่าย หลังต้นทุนพุ่งแบกรับหลังแอ่น

ข้อมูลจากสถาบันอาหารหรือ NFT ระบุว่า จากปัจจัยสนับสนุนทั้งเทรนด์รักสุขภาพ กระแสด้านสิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ผลักดันให้ความนิยมบริโภคเครื่องดื่มทางเลือกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยนมถั่วเหลืองยังครองมาร์เก็ตแชร์สูงสุด 93.4% ขณะที่นมจากพืชอื่นๆ อาทิ นมอัลมอนด์ น้ำนมข้าว นมข้าวโอ๊ต และกะทิ มีอัตราการเติบโตสูงถึง 18.5% ต่อปี ส่งผลให้ตลาดนมทางเลือกจากพืช (Plant-Based Milk) มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

โดยศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ประเมินตัวเลขเม็ดเงินของตลาดนมจากพืช ในปี 2564 พบว่า มีมูลค่าราว 2.36 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 4.8% เมื่อเทียบกับปี 2563 แบ่งออกเป็น นมถั่วเหลือง (Soy Milk) 2.22 หมื่นล้านบาท (94.25%) และนมจากพืชอื่นๆ (Other Plant-Based Milk) เช่น อัลมอนด์ ข้าวโอ๊ต มะพร้าวข้าว ฯลฯ 1,358.7 ล้านบาท (5.75%)

และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ที่ 4.6% ในระหว่างปี 2564-2569 และคาดว่าในปี 2565 ตลาดนมจากพืชจะมีมูลค่าตลาดกว่า 2.49 หมื่นล้านบาท การเติบโตดังกล่าวทำให้ในระยะ 3-5 ปีที่ผ่านมามีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดนมทางเลือกจำนวนมาก ซึ่งนอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่แล้ว ยังเห็นการแตกไลน์สินค้าเพื่อสร้างยอดขายและการเติบโตด้วย

นางสาวอริสา อร่ามวัฒนานนท์ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อาหารและเครื่องดื่ม Plant-Based โดยรวมมีแนวโน้มเติบโตสูง ในต่างประเทศผู้บริโภคให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่ง Plant-Based เป็นออฟชั่นที่ตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ได้ ขณะที่เมืองไทยตลาดยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการที่มีผู้เล่นใหม่ๆเข้ามา แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้เล่นบางรายที่ออกจากตลาด

“นมทางเลือก” คึกคัก รับเทรนด์สุขภาพ “ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์” ผวาต้นทุนพุ่ง

“เหตุผลที่ตลาดเติบโตเร็ว อาจเป็นเพราะตลาดมีขนาดเล็กมาก ย้อนไปเมื่อ 7 ปีที่แล้วเราเริ่มทำธุรกิจนี้เป็นรายแรกๆของไทยมูลค่าตลาดแทบไม่มีเลยและเพิ่งจะขึ้นมาแตะหลักพันล้านบาทได้เมื่อปีที่ผ่านมา ดังนั้นหากเปรียบเทียบกับตลาดนมถั่วเหลืองนับว่ายังห่างไกลอยู่มาก เพราะมีหลายปัจจัยทั้งอิมเพรสชั่น ราคา การเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ และการเข้าถึงสินค้าในบางพื้นที่ไม่ครอบคลุมเท่ากับนมถั่วเหลืองที่อยู่ในตลาดมานานมาก แต่มีการขยายตัวของการบริโภคทำให้นมทางเลือกไม่ใช่นิชมาร์เก็ตเหมือนเมื่อก่อนแล้ว”

สำหรับ ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ ตั้งเป้าหมายเจาะกลุ่มคนรักสุขภาพและคนที่แพ้นมวัว โดยในโรงงานผลิตจะไม่มีกระบวนการผลิตนมหรือเนื้อสัตว์เลยเพื่อป้องกันการปนเปื้อน ดังนั้นผลิตภัณฑ์ของบริษัทจึงเป็นเจ และฮาลาล 100% ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ในพอร์ตมากกว่า 30 รสชาติ นอกจากไลน์สินค้านมพร้อมดื่มสำหรับตลาด B2C แล้ว ยังขยายไปยังตลาด B2B เช่น ร้านกาแฟและแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ในเซ็กเมนต์ใหม่ “ไอศกรีมทางเลือก” เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมาและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ในปีที่ผ่านมากลุ่มไอศกรีม นมอัลมอนด์เติบโตขึ้น 3 เท่า โดยยอดขายหลักมาจากช่องทางออนไลน์และบริการจัดส่งถึงบ้านทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีหน้าร้าน 1 สาขา และล่าสุดเข้าวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดทั้งท็อปส์, กูรเม่ต์ มาร์เก็ต, ฟู้ดแลนด์ และร้านค้าสุขภาพและในอนาคตอันใกล้ มีแผนส่งออกไปต่างประเทศทั่วภูมิภาค เริ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีข้อได้เปรียบในการขนส่ง

“นมทางเลือก” คึกคัก รับเทรนด์สุขภาพ “ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์” ผวาต้นทุนพุ่ง

“เราตั้งเป้าที่จะเป็น Plant-Based Ice Cream อันดับ 1 ในอาเซียน ซึ่งในบ้านเราและในประเทศรอบบ้านยังไม่มีใครที่เข้ามาเล่นในตลาดไอศกรีม Plant-Based ที่เป็นตลาดแมส เราเป็นเจ้าแรกแต่อยู่ใน กลุ่ม Super Premium แต่ราคาเข้าถึงได้มากกว่าเพราะผลิตในประเทศ และในอนาคตมีโอกาสที่จะขยายออกมาเป็นร้านสแตนด์อะโลน ให้คนสามารถเข้าไปนั่งได้ เพราะสินค้ากลุ่มนี้ผู้บริโภคต้องการประสบการณ์และถูกขับเคลื่อนด้วยอีโมชั่น”

นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆในกลุ่มแมคคาเดเมียและกลุ่มนมอัลมอนด์ สูตรเสริมประโยชน์จากวิตามินและแร่ธาตุ 21 ชนิด เข้ามาตอบโจทย์การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในยุคที่คนมองหาตัวช่วยในเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งกลุ่มนมอัลมอนด์ผสม DHA ซึ่งเป็นสูตรเจ เจ้าแรกในตลาด เพื่อจับฐานลูกค้าที่เด็กลง

ทั้งนี้ข้อมูลของ เอซี นีลเส็น (AC Nielsen) พบว่าในผลิตภัณฑ์กลุ่มนมอัลมอนด์ของบริษัท มียอดขายรวมเป็นอันดับหนึ่ง มีส่วนแบ่งการตลาด 48% ของมูลค่าตลาดนมอัลมอนด์รวม ขณะที่ตลาดนมจากถั่วและธัญพืชในประเทศไทย (RNGS) มีมูลค่ารวมกว่า 988 ล้านบาทต่อปี โดยในตลาดนมทางเลือกที่ไม่รวมนมถั่วเหลืองประกอบด้วยนมอัลมอนด์ 58%, นมโอ๊ต 17%, นมพิสตาชิโอ 11%, นมแมคคาเดเมีย 1% ส่วนที่เหลือเป็นนมทางเลือกชนิดอื่น ๆ

“นมทางเลือก” คึกคัก รับเทรนด์สุขภาพ “ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์” ผวาต้นทุนพุ่ง

“เราเน้นทำสินค้านวัตกรรม เพราะฉะนั้นเราจะออกสินค้าใหม่ตลอดเวลาเช่นไอศกรีมตอนนี้เรา 17 รสชาติ 2 ขนาด และในปีที่ผ่านมาเรายังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาดได้เป็นอันดับ 1 ถึงแม้ตลาดจะค่อนข้างจะดุเดือดมากขึ้นและมีคนเข้ามาแข่งขันทางด้านราคามากขึ้น เราเติบโตขึ้นมาเกือบ 20% ซึ่งในช่วงโควิดภาพรวมตลาดมีลดลงเล็กน้อยแต่ในมุมของยอดขายบริษัทไม่ได้ลดลง และเรายังมีการส่งออกไปกว่า 30 ประเทศ โดยในปีนี้เราตั้งเป้าเติบโต 20-30%”

อย่างไรก็ตามตลาดยังคงมีปัจจัยลบที่เข้ามากระทบไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทที่ผันผวนอย่างมากถึง 20% ใน 1 สัปดาห์ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ผู้ผลิตต้องหาวิธีป้องกันและหาเครื่องมือทางการเงินเพื่อลดความเสี่ยงให้ได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ ค่าระวางเรือ ซึ่งเป็นวิกฤตที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องเข้ามาปรับปรุงองค์กรภายในหลายๆส่วนให้คล่องตัวมากขึ้น

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่วางขายในท้องตลาดมีการทยอยปรับราคาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว ในส่วนของบริษัทเองยอมรับว่ามีการปรับราคาขึ้นเฉลี่ย 10% เพื่อไม่ให้เป็นภาระสำหรับผู้บริโภคมากเกินไป

“ปีนี้เรากังวลในเรื่องของค่าเงินที่จะเข้ามากระทบธุรกิจมากกว่า เพราะไม่สามารถคาดเดาทิศทางได้ รวมถึง ต้นทุนสินค้า ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่ในแง่วัตถุดิบคิดว่าน่าจะใกล้จบเพราะราคาขึ้นมาเยอะมากในช่วงโควิด แต่เมื่อมีเรื่องของพลังงานเข้ามาก็ทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องดอกเบี้ยที่ยังขึ้นอย่างต่อเนื่องบวกกับวิกฤตสหรัฐซึ่งกลายเป็นต้นทุนทางการเงินของผู้ผลิตเช่นกันหากทางรัฐบาลมีนโยบายที่ช่วยพยุงค่าใช้จ่ายของฝั่งภาคธุรกิจเข้ามาช่วยมันก็น่าจะเป็นผลดี เพราะที่ผ่านมาเรื่องของค่าแรงที่ต้องปรับขึ้นอาจจะไม่ได้ทำง่ายในสภาพความเป็นจริง”

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,882 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2566