พายุลูกเห็บเกิดจากอะไร หลังตกในพื้นที่จ.เชียงใหม่ ทำความรู้จักที่นี่

24 เม.ย. 2566 | 06:10 น.

พายุลูกเห็บเกิดจากอะไร ทำความรู้จักที่นี่ หลัง กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเกิด พายุฤดูร้อน ระหว่างวันที่ 23-26 เม.ย.เนื่องจากสภาพอากาศร้อน ถึงร้อนจัด ล่าสุด ตกในพื้นที่ 3 อำเภอในภาคเหนือ

พายุลูกเห็บเกิดจากอะไร หลัง กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศ เรื่องพายุฤดูร้อน ช่วงระหว่างวันที่ 23 - 26 เมษายน 2566 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด 

อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ (23 เม.ย. 66) เกิดฝนตกและพายุลูกเห็บตก 3 ตำบล ในจังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้

  • ตำบลยั้งเมิน
  • ตำบลสะเมิงเหนือ
  • ตำบลแม่สาบ อ.สะเมิง

 

 

พายุลูกเห็บเกิดจากอะไร ทำความรู้จักที่นี่

ลูกเห็บ (Hail) คือ น้ำฟ้าที่ตกลงมาในลักษณะเป็นก้อนหรือชิ้นน้ำแข็ง มีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 5-50 มิลลิเมตร (0.2-2 นิ้ว) แต่บางครั้งอาจมีขนาดโตกว่าและอาจตกลงมาเป็นก้อน ๆ หรือ เกาะรวมกันเป็นก้อนขรุขระ

ก้อนลูกเห็บ (Hailstone) คือ ก้อนหรือชิ้นน้ำแข็งแต่ละก้อน มีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 5-50 มิลลิเมตร (0.2-2.0 นิ้ว) หรือบางครั้งอาจมีขนาดโตกว่านี้ ส่วนใหญ่มักเป็นก้อน น้ำแข็งใส หรือ ชิ้นน้ำแข็งใส หรือเป็นชั้นน้ำแข็งใสสลับกับชั้นน้ำแข็งทึบแสง (น้ำแข็งฝ้า) แต่ละชั้น หนาอย่างน้อย 1 มิลลิเมตรมีรูปร่างต่างกัน

พายุลูกเห็บส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในขณะที่เกิดพายุฤดูร้อนจะสามารถคาดหมายได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลแผนที่อากาศผิวพื้น แผนที่ลมชั้นบน ผลการหยั่งอากาศชั้นบน ภาพถ่ายดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาและผลการตรวจอากาศด้วยเรดาร์

โดยจะพบสาเหตุของการเกิดพายุฤดูร้อนและพายุลูกเห็บ จากตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นที่ดอยช้าง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2551 สืบเนื่องจากความกดอากาศสูงที่แผ่เข้ามาปกคลุมประเทศไทยปะทะกับมวลอากาศร้อนและชื้นที่ปกคลุมภาคเหนือของประเทศไทยประกอบกับลมที่พัดเวียนเข้าสู่ศูนย์กลาง(Cyclonic Vortex)

ขณะเดียวกันจะมีแนวลมพัดสอบของลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พาดผ่าน ประกอบกับมีกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้ามาพาดผ่านภาคเหนือ จึงทำให้อากาศเกิดการยกตัวอย่างรุนแรงจึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงและเกิดลูกเห็บตกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในเดือนเมษายน ทำให้เกิดความเสียหายต่อพืชไร่ที่ปลูก และ พืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ดอยช้างในพื้นที่เกือบ 6,000 ไร่

สาเหตุของการเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและเกิดลูกเห็บตกอาจเกิดขึ้นกับปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการคือ การทรงตัวของอากาศต้องเป็นแบบไม่เสถียรภาพ อากาศยกตัวขึ้นในแนวดิ่ง และ อากาศมีความชื้นสูง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา