เชียงใหม่โฟรเซ่นฟูดส์ ปั้น“คอร์นนิสต้า” รุกตลาดสแน็ค 4.5 หมื่นล้าน

17 เม.ย. 2566 | 17:35 น.
อัปเดตล่าสุด :17 เม.ย. 2566 | 17:39 น.

เชียงใหม่โฟรเซ่นฟูดส์ สลัดภาพ OEM ปั้นแบรนด์ “คอร์นนิสต้า” ชิงแชร์ตลาดขนมขบเคี้ยวมูลค่า 45,338 ล้านบาท เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

เชียงใหม่โฟรเซ่นฟูดส์ บุกตลาดขนมขบเคี้ยวสร้างแบรนด์สินค้าใหม่  “คอร์นนิสต้า” ข้าวโพดหวานอบกรอบเคลือบคาราเมล และไวท์ช็อกโกแลต ลงสนามรีเทลหลัง ปักธงธุรกิจ OEM สินค้าเกษตรส่งออกญี่ปุ่นอเมริกา ยุโรปและตะวันออกกลาง

เชียงใหม่โฟรเซ่นฟูดส์ ปั้น“คอร์นนิสต้า” รุกตลาดสแน็ค 4.5 หมื่นล้าน

นายอังกูร พลพิพัฒนพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่โฟรเซ่นฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าที่ผ่านมาบริษัททำธุรกิจแบบ OEM และส่งสินค้าเช่นผักแช่แข็ง เช่น ถั่วแระแช่แข็ง ข้าวโพดหวานแช่แข็งไปญี่ปุ่นเป็นหลัก ก่อนจะขยายตลาดส่งออกไปยังอเมริกา ยุโรปและตะวันออกกลาง ในปีที่ผ่านมาบริษัทต้องการขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง  

โดยเริ่มจากสินค้าประเภทข้าวโพดและถั่วแระญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการและมีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย จึงนำข้าวโพดแช่แข็งมา Freeze Dry และเติมรสชาติหวานเข้าไปแบบมีเอกลักษณ์จนได้ “คอร์นนิสต้า” ออกมาวางขายในไทย ข้าวโพดหวานแบบ Freeze Dry จะต่างกับแบบอบกรอบทั่วไป เพราะสามารถคงคุณภาพทางกายภาพได้ดีกว่าทำให้รสชาติและคุณภาพของข้าวโพดยังมีความสดใหม่และอร่อยกว่าวิธีการอบแบบดั้งเดิม

สำหรับการตลาด ในระยะแยกจะเน้นสื่อสารและให้คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักจดจำแบรนด์ให้ได้ก่อนผ่านการสื่อสารผ่านพรีเซนเตอร์ น้องมิย่า-น้องเซย่า ทองเจือ ก่อนจะสื่อสารการตลาดให้ครบกลุ่มเป้าหมายคือทุกเพศ ทุกวัย ทุกช่วงอายุต่อไป

 

“แม้เราจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการผลิตสินค้า OEM แต่ในแง่ของวงการค้าปลีก เราคือมือใหม่ ทุกอย่างจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเรา เราจึงต้องปั้นทีมขึ้นมาใหม่สำหรับการดีลงาน รวมทั้งทำการตลาดเพื่อสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มต่างๆ ให้เหมาะสม

ทางทีมมองว่าการเลือกพรีเซนเตอร์มาเสริม หลังจากที่วางขายสินค้ามาได้ซักพักหนึ่ง น่าจะช่วยให้สื่อสารกับ Buyer และลูกค้าได้ง่ายขึ้น เพราะสไตล์การเล่าเรื่องแบบเราทำเอง จะต่างกับการให้คนอื่นเป็นคนเล่าให้ฟังและน้องมิย่า น้องเซย่า ก็จะเป็นตัวแทนของคอร์นนิสต้าในการเล่าเรื่องสินค้าให้น่าฟังมากขึ้น

สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายจะเริ่มจากเป็นช่องทางที่เราคุ้นเคยและคุยง่ายก่อน เช่น Foodland, CJ Express, Jiffy, JapanMall และช่องทางออนไลน์ เพราะร้านเหล่านี้ช่วยเราสื่อสารได้เต็มที่ และเข้าถึงผู้บริโภคได้ดี การแข่งขันในการวางสินค้าขายในเชลฟ์ยังไม่สูงเท่ากับค้าปลีกรายใหญ่ การเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่นี้ นอกจากสินค้าต้องดี ราคาจับต้องได้แล้ว เรื่องของคุณภาพแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ที่ใช้ในการสื่อสารแบรนด์ก็ต้องเหมาะสมด้วยเช่นกัน”