โรงพยาบาลเครือ BDMS ภูเก็ตจับมือมอ.วิจัยใช้AIหนุนท่องเที่ยวสุขภาพ

15 เม.ย. 2566 | 08:08 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2566 | 08:21 น.

โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์และกรุงเทพภูเก็ต ลงนามความร่วมมือวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ม.อ. วิจัยใช้AIเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน (AI-TaSI) วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และ โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก

โดยมีรศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.อซีส นันทอมรพงศ์ คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ดร.กาญจนา เหล่าเส็น หัวหน้าศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน และนายแพทย์ณรงค์ฤทธิ์ ฮาวรังษี รองประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม 6 บจม. กรุงเทพดุสิตเวชการ พร้อมด้วย นายแพทย์พิริยะ อธิสุข รองอำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ ผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ ตลอดจนคณะผู้บริหารทั้งสองหน่วยงาน ร่วมในพิธีลงนามและเป็นสักขีพยาน

โรงพยาบาลเครือ BDMS ภูเก็ตจับมือมอ.วิจัยใช้AIหนุนท่องเที่ยวสุขภาพ

โรงพยาบาลเครือ BDMS ภูเก็ตจับมือมอ.วิจัยใช้AIหนุนท่องเที่ยวสุขภาพ

รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG) ในส่วนของเป้าหมายที่ 3 Good Health and Well Being เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ให้ประชากรทุกช่วงวัยมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยการดำเนินการด้านนี้ของมหาวิทยาลัย มีการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแบบครบวงจร สามารถผลิตบุคลากรเพื่อช่วยเหลือและดูแลประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ และต่อยอดสนับสนุนด้านการวิจัย ภายใต้หน่วยงานและคณะต่าง ๆ มีสวัสดิการดูแลให้กับบุคลากรและนักศึกษามีสุขภาพที่ดีและเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพที่ดี 

​ในปี 2563 ได้จัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพนานาชาติดันดามัน” (Andaman Health and Wellness Center) โดยมีแนวคิดในการขยายพื้นที่การดูแลด้านสุขภาพในโซนอันดามัน โดยขับเคลื่อน 3 ด้าน ได้แก่

โรงพยาบาลเครือ BDMS ภูเก็ตจับมือมอ.วิจัยใช้AIหนุนท่องเที่ยวสุขภาพ

1. การผลิตบัณฑิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่มีความเชี่ยวชาญ มีความสามารถ ควบคู่ไปกับทักษะด้านภาษา ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และให้บริการด้านการรักษาที่มีคุณภาพ แก่ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

2. การสร้างโรงพยาบาลที่ทันสมัยและรักษาโรคเฉพาะในพื้นที่ฝั่งอันดามัน รองรับการบริการทั้งในพื้นที่ภาคใต้ และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชากรทุกช่วงวัย

3. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบูรณาการ ภายใต้การดูแลของนักวิจัย นักวิชาการ เพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์มากยิ่งขึ้นในอนาคต 

​โครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ขับเคลื่อนดังกล่าว โดยมีทีมอาจารย์และนักวิจัย จากศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน (AI-TaSI) วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นกำลังสำคัญ ในการนำองค์ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ดิจิทัลเทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ ไปยังบริการของโรงพยาบาลและบริการท่องเที่ยว ของผู้ประกอบการต่าง ๆ อย่างครบวงจร 

ผศ.ดร.อซีส นันทอมรพงศ์ คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มีพันธกิจสำคัญในการผลิตบัณฑิตป้อนตลาดแรงงานทางด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนางานวิจัยด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และสร้างสรรค์นวัตกรรม บริการวิชาการด้านคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อชุมชน สังคม ทั้งในและต่างประเทศ   

ปัจจุบันวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีหลักสูตรครอบคลุมศาสตร์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบด้วย ปริญญาตรี จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาการคอมพิวเตอร์ (Computing) ธุรกิจดิจิทัล (Digital Business) และวิศวกรรมดิจิทัล (Digital Engineering) ส่วนหลักสูตรปริญญาโท จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่  สาขาวิชาการคอมพิวเตอร์ (Computing) สาขาวิทยาการข้อมูล (Data Science) และหลักสูตรปริญญาเอก จำนวน 1 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาการข้อมูล (Data Science) 

นอกจากนี้ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังมีทีมวิจัยต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่นกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีบล็อกเชน กลุ่มวิจัยมัลติมีเดีย กลุ่มวิจัยทางด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน (Andaman Intelligent Tourism and Service Informatics Center หรือ AI-TASI) ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาระบบอัจฉริยะทางด้านการท่องเที่ยวโดยใช้ศาสตร์ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการ ชุมชน และนักท่องเที่ยว 

ด้านดร.กาญจนา เหล่าเส็น หัวหน้าศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน กล่าวว่า ศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน (Andaman Intelligent Tourism and Service Informatics Center หรือ AI-TASI) วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นศูนย์วิจัยให้บริการ ดังนี้ 

1.วิจัยด้านการท่องเที่ยวโดยใช้ศาสตร์ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูล 

2.รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านบริการและท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน เพื่อให้บริการและความรู้แก่หน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการและชุมชนในด้านการท่องเที่ยว 

3.ให้คำปรึกษาด้านงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ 

4.พัฒนาระบบอัจฉริยะด้านการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการท่องเที่ยว

ปัจจุบันศูนย์วิจัย AI-TaSI มีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และการท่องเที่ยว จากหลากหลายภาคส่วน ได้แก่ นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และนักวิจัยจากภาคเอกชน ได้ร่วมกันพัฒนางานวิจัยด้านท่องเที่ยวร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

สำหรับที่มาของโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์นั้น เกิดจากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในหลายด้าน เช่น การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง การบริการ และความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ที่เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่น จากชาวไทยและต่างชาติ ส่งผลให้เกิดความต้องการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต     

นอกจากนี้ในส่วนของโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ และโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต มีความต้องการในการเพิ่มรูปแบบการให้บริการทางการแพทย์ ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) และให้บริการนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ตั้งแต่ก่อนเข้ารับการรักษา ระหว่างการรักษา และหลังการรักษา  

ดังนั้น โครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ จึงตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งาน ทั้งผู้ให้บริการ เช่น โรงพยาบาล หน่วยงานที่ให้บริการด้านการแพทย์ ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว และผู้รับบริการเช่น นักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย 

โดยแพลตฟอร์มนี้จะนำเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ โดยวิเคราะห์ข้อมูลการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของนักท่องเที่ยวในมิติต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ครบวงจร อันนำมาซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ต 

ทั้งนี้ เมื่อระบบถูกพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตภูเก็ต ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างและใช้งานแพลตฟอร์มในอนาคตต่อไป 

ขณะที่นายแพทย์ณรงค์ฤทธิ์ ฮาวรังษี รองประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 6 บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ผู้อำนวยการ และกรรมการผู้จัดการบริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ กล่าวว่า โรงพยาบาลภายใต้เครือบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS มีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการลงนาม MOU ในครั้งนี้ 

เนื่องด้วยจังหวัดภูเก็ตได้รับการขนานนามว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม และถูกจัดอันดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก มีจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ด้วยปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และศักยภาพการแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดภูเก็ต มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทั้งในด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว 

สอดคล้องกับกระแสการเติบโตด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก ที่นักท่องเที่ยวได้เริ่มให้ความสำคัญในการสร้างความสมดุลของชีวิต ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism คือการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิต และพักผ่อนหย่อนใจ โดยแบ่งเวลาส่วนหนึ่งจากการท่องเที่ยวไปรับบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ที่มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เช่น การตรวจสุขภาพ การรักษาโรคต่าง ๆ การดูแลผิวพรรณความงาม การทำฟันและการรักษาสุขภาพฟัน รวมไปถึงการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งความงาม หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดแปลงเพศ เป็นต้น

BDMS PHUKET กลุ่มบริการโรงพยาบาลมาตรฐานระดับสากล ที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism มีความพร้อมที่จะให้การดูแลผู้รับบริการกลุ่ม Wellness Tourism ทั้งชาวไทยและต่างชาติ  โดยศูนย์ดูแลสุขภาพและความงาม “ARTEMES Health and Beauty Destination Phuket”  ภายใต้การนำของคณะแพทย์เฉพาะทาง จากสถาบันศัลยกรรมตกแต่งความงามภูเก็ต  สถาบันผิวหนังและความงาม คลินิกเวชศาสตร์ชะลอวัย และศูนย์ทันตกรรม ศูนย์ดูแลสุขภาพและความงาม “ARTEMES Health and Beauty Destination Phuket” จึงสามารถให้การดูแลสุขภาพและความงามที่ครอบคลุมครบจบในที่เดียว 

ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนสรีระ การทำทันตกรรมเพื่อเติมเต็มความมั่นใจเพิ่มคุณภาพชีวิต ไปจนถึงการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่ลงลึกถึงระดับฮอร์โมนและเซลล์ ให้ยังคงความเยาว์วัย โดยเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพการให้บริการ เพื่อสร้างมาตรฐานและประสบการณ์ทางการแพทย์ที่นำไปสู่ความสุขทั้งภายในและภายนอก สะท้อนความเป็นตัวตนที่ผู้รับบริการออกแบบร่วมกับคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และทีมงานมืออาชีพ

จากข้อมูลในปี 2562 ที่ผ่านมา จังหวัดภูเก็ตมีชื่อเสียงในตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์โดยเฉพาะในด้านศัลยกรรมตกแต่งความงาม และการชะลอวัย โดยร้อยละ 70 ของลูกค้าศัลยกรรมตกแต่งความงาม คือ นักท่องเที่ยวจากประเทศออสเตรเลีย ในขณะที่ลูกค้ากลุ่มหลักของการบริการชะลอวัย คือ นักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เลือกใช้บริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในจังหวัดภูเก็ต ด้วยปัจจัยต่าง ๆ อาทิ โรงพยาบาลในจังหวัดภูเก็ตมีมาตรฐานในระดับสากล ผ่านการรับรองคุณภาพ JCI บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความสามารถทักษะความชำนาญเฉพาะด้าน มีเทคโนโลยีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย 

ความร่วมมือนี้จะช่วยสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่น แก่นักท่องเที่ยวด้านสุขภาพและการแพทย์จากทั่วโลก  ที่จะเดินทางเข้ามายังพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพิ่มมากยิ่งขึ้น