เจอ SMS - อีเมล์ แนบลิงก์ 10 ธนาคารนี้ รู้เลยว่าถูกหลอกโอนเงินชัวร์

25 มี.ค. 2566 | 16:25 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2566 | 16:34 น.

เตือนหากเจอส่ง SMS - อีเมล์ แนบลิงก์ 10 ธนาคารนี้ รู้เลยว่าถูกหลอกโอนเงินชัวร์ หลังจากแบงก์ชาติ แจ้งข้อมูลชัดป้องกันปัญหาประชาชนตกเป็นเยื่อมิจฉาชีพ

ปัจจุบันภัยออนไลน์ การถูกหลอกลวงให้โอนเงิน หรือเจอการส่งข้อความ SMS หรือ อีเมล์ แบบแนบลิงก์ของธนาคารต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน แม้ว่าที่ผ่านมาหลาย ๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐ สถาบันการเงิน และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะพยายามปราบปรามและหาทางแก้ไข เพื่อไม่ให้ใครตกเป็นเยื่อมิจฉาชีพ

ล่าสุด ธนาคารพาณิชย์บางส่วนได้ออกมาตรการยกเลิกการส่ง SMS และอีเมลแบบแนบลิงก์แล้ว เพื่อป้องกันปัญหาประชาชนตกเป็นเยื่อมิจฉาชีพ โดยเริ่มต้นแล้ว 10 ธนาคาร (ข้อมูล ณ 24 มีนาคม 2566) แบ่งเป็น

ยกเลิกการส่ง SMS แบบแนบลิงก์ 

  1. ธนาคารกรุงเทพ
  2. ธนาคารกรุงไทย
  3. ธนาคารกสิกรไทย
  4. ธนาคารไทยพาณิชย์
  5. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  6. ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์
  7. ธนาคารออมสิน
  8. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  9. ธนาคารทหารไทยธนชาติ
  10. ธนาคารอาคารสงเคราะห์

ยกเลิกการส่งอีเมลแบบแนบลิงก์

  • ธนาคารกรุงเทพ
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์
  • ส่วนธนาคารที่เหลือกำลังดำเนินการ 

ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับ SMS หรืออีเมลที่แนบลิงก์ส่งมาให้ โดยอ้างว่ามาจากธนาคารดังกล่าว ขออย่าให้คลิกลิงก์ดังกล่าวเด็ดขาด เพราะเป็นการส่งจากมิจฉาชีพอย่างแน่นอน

 

มาตรการยกเลิกการส่ง SMS และอีเมลแบบแนบลิงก์

มาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแนวนโยบายเป็นชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เพื่อช่วยให้สถาบันการเงิน ป้องกันความเสี่ยงและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ มาตรการป้องกัน เพื่อปิดช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น โดยให้สถาบันการเงิน งดการส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ 

ทั้งนี้ยกตัวอย่างเช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และเลขบัตรประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย จำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน Mobile Banking (Username) ของแต่ละสถาบันการเงิน ให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์เท่านั้น 

โดยสถาบันการเงิน ต้องจัดให้มีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ Mobile Banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง และพัฒนาระบบความปลอดภัยบน Mobile Banking ให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเวลา 

รวมทั้งต้องยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า (Biometrics) เช่น สแกนใบหน้า 
ส่วนกรณีลูกค้าขอเปิดบัญชีโดยผ่านแอปพลิเคชันของ สง. (non-face-to-face) หรือทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาท หรือปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป 

พร้อมกำหนดเพดานวงเงินถอนหรือโอนสูงสุดต่อวันให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท โดยลูกค้าสามารถขอปรับได้ตามความจำเป็น และต้องยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวดต่อไปด้วย

 

รวมเบอร์โทรศัพท์ศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพ