รัฐล็อคเป้าแก้ปัญหา “ความยากจน” 2566 ผวาตกหล่นเพียบ

22 มี.ค. 2566 | 07:09 น.
539

รัฐล็อคเป้าแก้ปัญหา “ความยากจน” 2566 กำหนดกลุ่มเป้าหมายเร่งด่วนที่ต้องเร่งลงมือ หลังพบจำนวนคนจนตกหล่น ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ

ปัญหา “ความยากจน” ของประเทศไทย นับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่หลายรัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขด้วยการใช้กลไกความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีทั้งเครื่องมือ และอำนาจในการเข้าไปบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมายให้จำนวนคนคนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง และประชาชนทั้งประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับนานาประเทศ

ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดการแก้ไขปัญหาความยากจนเอาไว้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยได้กำหนดกลไกการขับเคลื่อนไว้อย่างชัดเจน ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานความคืบหน้าเรื่องนี้ให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

รัฐล็อคเป้าแก้ปัญหาคนจน 4 กลุ่ม

สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในปีงบประมาณ 2566 มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ 4 กลุ่ม ดังนี้ 

  1. กลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน จำนวน 655,365 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ตกเกณฑ์มิติความขัดสน 
  2. กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง จำนวน 11,023,225 ครัวเรือน 33,384,526 คน ซึ่งเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีบุคคลในภาวะพึ่งพิงที่ต้องได้รับความช่วยเหลือและดูแลจากครอบครัวหรือเป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อย 
  3. กลุ่มคนที่ต้องสำรวจเพิ่มเติม จำนวน 13,220,965 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและได้รับการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานแต่ไม่ตกเกณฑ์มิติความขัดสนหรือไม่มีข้อมูลมิติความขัดสน 
  4. กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลที่มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลระดับพื้นที่ 

ทั้งนี้จะต้องดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อนำผู้ที่ตกหล่นเข้าระบบต่อไป ซึ่งคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบการดำเนินการและมอบหมายให้ ศจพ. ทุกระดับและทีมปฏิบัติการในพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวต่อไป

ตามติดการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะเดียวกันยังมีเรื่องความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ล่าสุด สศช. รายงานว่า มีการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thaland's SDG Roadmap) ประกอบด้วย

  • การสร้างการตระหนักรู้ 
  • การเชื่อมโยง SDGs กับแผน 3 ระดับของประเทศ 
  • กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน 
  • การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุ SDGs และการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ 
  • ภาคีการพัฒนา 
  • การติดตามและประเมินผล 

ทั้งนี้ในส่วนยุทธศาสตร์ชาติได้มีการเชื่อมโยงเป้าหมายแผนแม่บทย่อยของแผนแม่บทฯ เข้ากับเป้าหมายย่อยของ SDGs เช่น เป้าหมายย่อยของแผนแม่บทฯ : ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับเป้าหมายย่อย SDGs : ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ