‘ณัฐฯ’ทุ่ม  550 ล้าน รีโนเวต 30 โชว์รูม‘สุดชิค’ มั่นใจกำลังซื้อแกร่ง

17 มี.ค. 2566 | 09:24 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2566 | 09:36 น.

“ณัฐ” มอเตอร์เซลล์” ยักษ์ใหญ่ตัวแทนจำหน่ายจักรยานยนต์ฮอนด้าเขตอีสานตอนบน ทุ่มงบ 550 ล้านยกเครื่องโชว์รูมทั้ง 30 สาขาใหม่หมด รองรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่

“ณัฐ มอเตอร์เซลล์” ยักษ์ใหญ่ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน หรือเขตอีสานเหนือ เดินหน้ารุกตลาดหลังโควิด-19 ประกาศแผนลงทุน 2 ปี (2565-2566) ด้วยงบประมาณกว่า 550 ล้านบาท ยกระดับธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า จากธุรกิจห้องแถวสู่โชว์รูมสุดทันสมัย ในรูปแบบ Stand Alone

โดยเฉพาะการเป็นผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าครบทั้ง 3 แบรนด์เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย คือ ฮอนด้าวิงเซ็นเตอร์ ฮอนด้าบิ๊กวิง และ คับเฮ้าส์ โดยได้ฤกษ์เปิดโชว์รูมรูปแบบใหม่แห่งแรก “ณัฐมอเตอร์เซลล์ สาขาถนนอุดรดุษฎี” บนถนนอุดรธานี-หนองคาย เขต อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี เมื่อปลายเดือนก.พ. 2566

‘ณัฐฯ’ทุ่ม  550 ล้าน รีโนเวต 30 โชว์รูม‘สุดชิค’ มั่นใจกำลังซื้อแกร่ง

‘ณัฐฯ’ทุ่ม  550 ล้าน รีโนเวต 30 โชว์รูม‘สุดชิค’ มั่นใจกำลังซื้อแกร่ง

นายวิวัฒน์ เลิศผาติ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสายการขาย บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ณัฐ มอเตอร์เซลล์ ถือว่าเป็นดีลเลอร์ จำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า ที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่แห่งหนึ่ง มีส่วนแบ่งการตลาดของรถจักรยานยนต์ฮอนด้าของจังหวัดอุดรธานี มาเป็นอันดับ 1 ของภาคอีสานตอนบน รวมถึงตลาดในประเทศ สปป.ลาวด้วย

เนื่องจากพื้นที่อุดรธานีเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การเดินทาง ทั้งทางบก ทางอากาศ มีเที่ยวบินให้บริการทั้งวัน เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยว และมีความมั่นใจว่าตลาดรถจักรยานยนต์ของอุดรธานี ยังมีโอกาสที่จะเติบโตต่อไปได้ในอนาคต

‘ณัฐฯ’ทุ่ม  550 ล้าน รีโนเวต 30 โชว์รูม‘สุดชิค’ มั่นใจกำลังซื้อแกร่ง

‘ณัฐฯ’ทุ่ม  550 ล้าน รีโนเวต 30 โชว์รูม‘สุดชิค’ มั่นใจกำลังซื้อแกร่ง

สังเกตได้จากช่วงเกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิค-19 ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ความต้องการใช้ของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวของลูกค้ายังเติบโต โดยเฉพาะธุรกิจของ หจก.ณัฐมอเตอร์ เซลล์ สวน กับสถานการณ์ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดรถจักรยานยนต์จังหวัดอุดรธานี

ด้านนายวิชัย เฟื่องทวีโชค ประธานกรรมการ หจก.ณัฐ มอเตอร์เซลล์ เปิดเผยว่า ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา หจก.ณัฐ มอเตอร์เซลล์ มียอดขายใน 3 จังหวัดหลักภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน หรือเขตอีสานเหนือ คือ อุดรธานี หนองคาย และขอนแก่น สูงถึง 188,000 คัน และมีเป้าหมายที่จะผลักดันยอดขายในอีก 10 ปี ข้างหน้า ให้ไปอยู่ที่ 200,000 คัน เพราะว่าความต้องการรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว ยังมีอีกมาก

 “ดังนั้น ผู้บริหารของ หจก.ญัฐ มอเตอร์เซลล์ มีความเห็นชอบร่วมกันว่า เป็นยุคของการเปลี่ยนถ่าย สร้างความเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบห้องแถว ไปเป็นโชว์รูมที่ทันสมัยเทียบเท่ากับโชว์รูมรถยนต์ หรือเป็นโชว์รูม stand alone”

จึงอนุมัติใช้งบประมาณลงทุนถึง 550 ล้านบาท ดำเนินการโครงการก่อสร้าง ปรับปรุงสาขาตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ 30 แห่ง ใน 3 จังหวัดดังกล่าว คาดจะเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดตามแผนงานภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 นี้ ให้มีความพร้อมรองรับในทุกด้าน เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในยุคใหม่ เช่น ติดแผงโซลาร์เซลล์ทุกสาขา เพื่อลดภาวะมลพิษและลดโลกร้อนตามนโยบาย BCG Model ภายในตัวโชว์รูมจัดเตรียมที่พักรอการให้บริการ ลิฟต์ยกรถจักรยานยนต์ สำหรับตรวจเช็ค ซ่อม และห้องเก็บรักษารถของลูกค้า มีมุมกาแฟ ตลอดจนจุดจำหน่ายอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่

เส้นทางการเติบโตของหจก.ณัฐมอเตอร์เซลล์ เริ่มจากนายวิชัย และ แพทย์หญิงจิราภรณ์ เฟื่องทวีโชค เริ่มดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า เมื่อปี พ.ศ. 2545 ที่สี่แยกวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี และครบ 20 ปี ในปีนี้ โดยกิจการเติบโตเป็นลำดับ จนขึ้นแทนตัวแทนจำหน่ายจักรยานยนต์ฮอนด้ารายใหญ่สุดในอีสานตอนบน

งบลงทุน 550 ล้าน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ในปี 2565 ใช้งบลงทุนเพิ่ม 350 ล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วจำนวน 15 แห่ง อยู่ในระยะการดำเนินการอยู่อีก 6 แห่ง และในปี 2566 ลงทุนเพิ่มอีก 200 ล้านบาท เพื่อรีโนเวตสาขาที่เหลืออีก 9 แห่ง ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ รวม 30 แห่งดังกล่าว

การตัดสินใจลงทุนใหญ่ครั้งนี้ สะท้อนความเชื่อมั่นการฟื้่นตัวกำลังซื้อผู้บริโภคหลังโควิด-19 คลี่คลาย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สอดคล้องกับรายงานแนวโน้มธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากการสำรวจภาคธุรกิจในพื้นที่ โดยผลสำรวจผู้ประกอบการช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 ชี้ภาวะและแนวโน้มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน และไตรมาสก่อน ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินการได้มากขึ้น หลังการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะธุรกิจการค้า บริการและการท่องเที่ยว ขยายตัวตามการใช้จ่ายของประชาชนที่มากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปลายปี

 ส่วนแนวโน้มธุรกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ผู้ประกอบการคาดว่าจะขยายตัว จากระยะเดียวกันปีก่อน และขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อภาคบริการ และธุรกิจการผลิตในประเทศ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโดยรวมยังมีแรงกดดันจากต้นทุนที่สูง กำลังซื้อที่ยังเปราะบาง และเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง 

ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,870 วันที่ 16-18 มีนาคม พ.ศ.2566