“พาณิชย์”ถกลาว ดันเปิดอีก12ด่านส่งผลไม้ไทยไปจีน

16 มี.ค. 2566 | 16:19 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2566 | 16:24 น.

“ปลัดพาณิชย์”ถก สปป.ลาว ดันเปิดด่านอีก 12 แห่งช่วยขนส่งผลไม้ไทยไปจีน พร้อมตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่ายเป็น 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 68

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ต้อนรับนายมะไลทอง กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว และคณะผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหารือถึงแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย ความร่วมมือเพื่อผลักดันการค้าสองฝ่ายให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 360,000 ล้านบาท ในปี 2568 และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติการดำเนินงานด้านการค้าในภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ เช่น การบริหารจัดการราคาสินค้า การบริหารการนำเข้า-ส่งออก การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการส่งเสริมการส่งออก

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์
  โดยการหารือครั้งนี้ ไทยได้ขอให้ สปป.ลาว เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเปิดด่านพรมแดนที่ติดกับไทยเพิ่มอีก 12 แห่ง และช่วยอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าไทยผ่านแดน สปป.ลาว ไปยังจีน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า โดย สปป.ลาว จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกต่อไป

“พาณิชย์”ถกลาว ดันเปิดอีก12ด่านส่งผลไม้ไทยไปจีน

“ในช่วงที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยและสปป.ลาว ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หากทั้งสองฝ่ายสามารถทำการค้าระหว่างกันได้ตามปกติ เหมือนช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้มูลค่าการค้าขยายตัวมากขึ้น และสามารถบรรลุเป้าหมายการค้าที่ตั้งไว้ร่วมกันที่ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 ได้อย่างแน่นอน”

 

“พาณิชย์”ถกลาว ดันเปิดอีก12ด่านส่งผลไม้ไทยไปจีน

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของสปป.ลาว และเป็นอันดับที่ 8 ของไทยในกลุ่มอาเซียน ซึ่งในปี 2565 การค้าระหว่างไทยและสปป.ลาว มีมูลค่า 7,879 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.52% โดยไทยส่งออกไป สปป.ลาว มูลค่า 4,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 13.47% และไทยนำเข้าจาก สปป.ลาว มูลค่า 3,339.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 2.43% สำหรับการค้าชายแดน คิดเป็นสัดส่วน 95% ของการค้ารวมระหว่างสองประเทศ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาลทราย เคมีภัณฑ์ และรถยนต์ และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เชื้อเพลิง ทองคำ ผักผลไม้ ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์