อัพเกรดท่าเรือพลิกโฉม‘สงขลา’ ฮับลงทุนแนวแลนด์บริดจ์เชื่อม‘ปีนัง’ 

03 มี.ค. 2566 | 09:56 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2566 | 15:23 น.
894

 เอกชนเชียร์สนั่น พีพีพี 2.3พันล้านบาท ยกเครื่องท่าเรือน้ำลึก หนุนสงขลาเหมาะสุดตั้งโรงงาน เมื่อมาเลเซียผุดท่าเรือบกเปอร์ลิสเชื่อมท่าเรือปีนัง เกิดแลนด์บริดจ์ข้าม 2 ฝั่งทะเล

ที่ประชุมครม.เมื่อ 10 ก.พ. 2566 รับรองผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน (โดยวิธีการอนุญาต) (พีพีพี-โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน) สำหรับโครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกสงขลา กับบริษัทเจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีอายุสัญญา 25 ปี งบลงทุนทั้งหมด จำนวน 2,387.90 ล้านบาท แล้วเสร็จใน 2 ปีครึ่ง รวมทั้งการสนับสนุนงบประมาณให้แก่กรมเจ้าท่า ในการขุดลอกและบำรุงรักษาความลึกของร่องน้ำสงขลา 

ดร.ไพโรจน์ ชัยจีระธิกุล อุปนายกสมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เวลานี้ที่ฝั่งปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย มีแผนลงทุนสร้างท่าเรือบกเปอร์ลิส เนื้อที่เต็มโครงการ 500 เอเคอร์ เพื่อเชื่อมโยงกับท่าเรือปีนัง โดยใช้เวลาขนส่งเพียง 5 ชั่วโมง เหมือนกับย้ายท่าเรือปีนังมาอยู่ชายแดนปาดังเบซาร์ โดยจะเริ่มเปิดให้บริการระยะแรกในปี 2567 นี้

อัพเกรดท่าเรือพลิกโฉม‘สงขลา’ ฮับลงทุนแนวแลนด์บริดจ์เชื่อม‘ปีนัง’ 

อัพเกรดท่าเรือพลิกโฉม‘สงขลา’ ฮับลงทุนแนวแลนด์บริดจ์เชื่อม‘ปีนัง’ 

ที่ผ่านมาท่าเรือสงขลามีข้อจำกัด ติดปัญหาเรื่องร่องน้ำและเครนหน้าท่า ทำให้เรือที่จะเข้ามาขนถ่ายสินค้าต้องมีเครนประจำเรือ ซึ่งมีไม่เยอะ เมื่อแก้ปัญหาร่องน้ำและลงทุนพัฒนาให้มีเครนหน้าท่า จะดึงดูดเรือทั่วไปให้เข้ามาใช้บริการได้เพิ่มขึ้น เมื่อมีเรือเพิ่ม เกิดการแข่งขัน ทำให้การคิดค่าระวางสินค้าถูกลง เพราะมีตัวเลือกมากขึ้น

“นอกจากนี้ ที่ผ่านมาท่าเรือปีนังตั้งเพดานราคาโดยอิงกับค่าระวางของท่าเรือสงขลา เพราะรู้ว่าผู้ประกอบการผู้ส่งออกของประเทศไทย ประมาณ 70% ต้องส่งออกผ่านท่าเรือปีนัง เนื่องจากไม่มีทางเลือก เมื่อเราทำให้ท่าเรือสงขลาเกิดการแข่งขัน ค่าระวางถูกลง ก็จะดึงให้ที่ท่าเรือปีนังต้องถูกลงมาด้วย”

อัพเกรดท่าเรือพลิกโฉม‘สงขลา’ ฮับลงทุนแนวแลนด์บริดจ์เชื่อม‘ปีนัง’ 

อัพเกรดท่าเรือพลิกโฉม‘สงขลา’ ฮับลงทุนแนวแลนด์บริดจ์เชื่อม‘ปีนัง’ 

ดร.ไพโรจน์กล่าวต่อว่า ปัจจัยด้านโลจิสติกส์เหล่านี้ หากมีประสิทธิภาพจะมีแรงดึงดูดการค้าการลงทุนอย่างมาก ท่าเรือบกเปอร์ลิส จะเปิดบริการเฟสแรกปี 2567 ขณะที่ท่าเรือน้ำลึกสงขลาพัฒนา 2 ปีครึ่ง หรือในอีก 3 ปี ทุกอย่างเสร็จหมด สงขลาจะเนื้อหอมมาก เพราะสามารถออกทะเลได้ทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้สงขลาเป็นจุดที่น่าลงทุนมากที่สุดในประเทศไทย

สงขลาอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 มหาสมุทร คือ แปซิฟิกกับอินเดีย แต่ไม่เคยใช้ศักยภาพตรงนี้เลย มีความพยายามใช้ยุทธศาสตร์คลองไทยหรือแลนด์บริดจ์ แต่ก็ถูกคัดค้านมาตลอด แต่พอมีการพัฒนาท่าเรือสงขลาของไทย กับท่าเรือบกเปอร์ลิสเพื่อไปเชื่อมกับท่าเรือปีนังของมาเลเซีย เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน กลายเป็นว่าครบองค์ประกอบของแลนด์บริดจ์ (สะพานเศรษฐกิจ) โดยธรรมชาติ

อัพเกรดท่าเรือพลิกโฉม‘สงขลา’ ฮับลงทุนแนวแลนด์บริดจ์เชื่อม‘ปีนัง’ 

สงขลาจะประกบด้วยท่าเรือ 2 ฝั่งโดยมีระยะทางที่ใกล้ที่สุด จึงเหมาะมากที่จะตั้งโรงงาน เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นทางเดินเรือหลักของโลก จะนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนก็สะดวก ผลิตหรือประกอบเสร็จสามารถส่งออกได้ทั้งซ้ายและขวา โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมะละกา ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ถูกที่สุด

“เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนผู้ประกอบการจังหวัดสงขลาเฝ้ารอมานาน สำหรับการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสงขลา พร้อมกับมีท่าเรือบกที่ปาดังเบซาร์ เปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ทำให้ครบองค์ประกอบ สามารถไปชักชวนนักลงทุน ให้มาตั้งโรงงานผลิต ประกอบ ส่งออก ในสงขลาได้ นี่จะเป็น game changer ของสงขลา”

ทั้งนี้ ท่าเรือสงขลารองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้เต็มที่ประมาณ 700,000 ตู้ ซึ่งไม่พอ แต่เมื่อมีท่าเรือปีนัง มีท่าเรือบกเปอร์ลิสที่ปาดังเบซาร์ มาเชื่อมต่อกัน รวมกับรถไฟทางคู่ที่จะเสร็จใน 3-4 ปี สามารถเชื่อมการขนส่งทางรถไฟจากคุนหมิงมาถึงสิงคโปร์ นำชิ้่นส่วนจากกรุงเทพฯ หรือจากจีน ลงมาประกอบที่สงขลาได้ เสร็จแล้วส่งออกได้ทั้งซ้าย-ขวา รวมถึงบน-ล่าง เท่ากับสงขลาจะเป็นศูนย์กลาง อุปนายกสมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้ กล่าวย้ำ

ขอบคุณภาพจากGoogle Map

ด้านนายธนวัตน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสงขลา เป็นโครงการที่ดีมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่ภาคเอกชนในพื้นที่รอคอยมานานมาก จากการพูดคุยกับภาคธุรกิจต่างๆ ทุกคนดีใจ เพราะจะได้มีการพัฒนาส่วนที่ยังเป็นจุดอ่อนในการนำเข้าส่งออก

ท่าเรือน้ำลึกสงขลาพัฒนาสามารถอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น การส่งออกนำเข้าผ่านท่าเรือน้ำลึกสงขลาก็จะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการนำเข้าส่งออกผ่านท่าเรือน้ำลึกสงขลาจะมีความสะดวก ซึ่งจะดีกับการส่งออกสำหรับจังหวัดสงขลา ที่เดิมจะมีข้อจำกัดทำให้การส่งออกสินค้าต้องไปส่งออกผ่านท่าเรือประเทศเพื่อนบ้าน

“จังหวัดสงขลาเราอิงกับการส่งออก การแปรรูป ซึ่งส่วนใหญ่ที่ส่งออกเป็นสินค้าทางการเกษตร การแปรรูปสินค้าประมง ไม้ยางพารา ยางพารา ทำให้กระจายได้ลงไปที่กลุ่มเกษตรกร ฉะนั้นเมื่อท่าเรือน้ำลึกสงขลามีการพัฒนาเทียบกับท่าเรือต่าง ๆ ได้ ก็จะทำให้ผู้ส่งออกมีทางเลือก ในการนำเข้าส่งออกสินค้าสำหรับท่าเรือน้ำลึกสงขลา โดยเฉพาะด้านต้นทุน” ประธานหอการค้าสงขลา กล่าวย้ำ

สมชาย สามารถ/รายงาน
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,867 วันที่ 5-8 มีนาคม พ.ศ.2566