จับตา สศช. ประกาศตัวเลข GDP ไทยทั้งปี 2565 ต่ำกว่าเป้า

17 ก.พ. 2566 | 05:00 น.

จับตา สศช. ประกาศตัวเลข GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทย ไตรมาสที่สี่ของปี 2565 ตัวเลขทั้งปี 2565 อาจต่ำกว่าเป้า พร้อมติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2566

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 9.30 น. จับตา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) ของประเทศไทย ไตรมาสที่สี่ของปี 2565 ตัวเลขทั้งปี 2565 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 

ก่อนหน้านี้ สศช. ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 3.2% เร่งขึ้นจาก 1.5% ในปี 2564 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3.6% ของ GDP ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2566 คาดว่า จะขยายตัวในช่วง 3 – 4%

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ซึ่ง สศช.จะแถลงตัวเลขในวันนี้ มีความเป็นไปได้ว่า GDP อาจขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3.2% หลังตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และการส่งออกต่ำกว่าประมาณการ ส่วนในปี 2566 ยังอาจขยายตัวได้ตามประมาณการ 3 – 4%

รับชมการ "ถ่ายทอดสด" การแถลงข่าวจีดีพี ไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ของ สศช.

 

ภาพประกอบข่าว การประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP)

สศช.ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2565

เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 3.2% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.5% ในปี 2564 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% และบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3.6% ของ GDP เทียบกับการขาดดุล 2.2% ของ GDP ในปี 2564

ทั้งนี้ในการแถลงข่าววันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัว 3.2% เท่ากับขอบบนของช่วงการประมาณการ 2.8 - 3.2% ในการแถลงข่าวครั้งก่อนเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 โดยมีการปรับองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในช่วงสามไตรมาสแรกของปี และการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1. การปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน จาก 4.4% ในการประมาณการครั้งก่อน เป็น 5.4% เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูง 9% ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งส่งผลให้ในช่วงสามไตรมาสแรกขยายตัว 6.5% และสูงกว่า ที่คาดการณ์ไว้เดิม และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 
สอดคล้องกับระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่มีแนวโน้มฟื้นตัว

กลับมาเป็นปกติมากขึ้น การปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงานและฐานรายได้ และการดำเนินมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายของภาครัฐบาล

2. การปรับประมาณการการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน จาก 3.1% ในการประมาณการครั้งก่อนเป็น 3.9% เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูง 11% ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งส่งผลให้ในช่วงสามไตรมาสแรกขยายตัว 5.3% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม อย่างไรก็ดีคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออก

 

ภาพประกอบข่าว การประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP)

3. การปรับประมาณการการขยายตัวของการส่งออกสุทธิ โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าในปี 2565 จะขยายตัว 3.2% ปรับลดลงจาก 3.4% ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับสมมติฐานเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 

ขณะที่คาดว่าปริมาณการน่าเข้าสินค้าจะขยายตัว 5.3% เทียบกับ 3.4% ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับข้อมูลจริงในช่วงสามไตรมาสแรกของปี และการปรับเพิ่มการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน

 

ภาพประกอบข่าว การประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP)

 

ทำความรู้จัก จีดีพี คืออะไร

หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า จีดีพี กันมานาน โดยความหมายสำคัญของคำนี้ นั่นคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ Gross Domestic Product : GDP หมายถึง มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ถูกผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ คำนวณมาจาก GDP หรือ C+I+G+(X-M) โดยแต่ละตัวแปรมีความหมายดังนี้

C ย่อมาจาก Consumption หรือการบริโภคของบริษัทและประชาชนทั่วไป

I ย่อมาจาก Investment หรือการลงทุนจากภาคเอกชนในการทำกิจกรรมต่างๆในระบบเศรษฐกิจ

G ย่อมาจาก Government Spending หรือค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และการลงทุนภาครัฐ

X - M ย่อมาจาก Export ลบด้วย Import คือจะต้องตัวเลขการส่งออกลบด้วยการนำเข้าถึงจะเห็นอัตราการบริโภคสุดท้ายที่แท้จริง