อธิบดีประมง เปิดใจคลียร์ เงินรางวัลแจ้งเบาะแส นำจับทำผิดกฎหมาย

10 ก.พ. 2566 | 16:23 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2566 | 16:24 น.

“เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์” อธิบดีกรมประมง เปิดใจเคลียร์ เงินรางวัลแจ้งเบาะแสนำจับประมงทำผิดกฎหมาย ระบุเจตนารมณ์ “เงินค่าปรับ” ที่ได้จากผู้กระทำผิดกฎหมายประมง เพื่อนำมาบริหารจัดการทรัพยากรประมงที่ยั่งยืน – เพิ่มประสิทธิภาพชาวประมง

กระแสข่าวจากชาวประมง ได้แจ้งผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ในกลุ่มต่าง ว่า  เกิดเรื่องใหญ่แล้วพี่น้องชาวประมง กรมประมงออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบน เงินรางวัล และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน พ.ศ.2566 ซึ่ง อธิบดีกรมประมงเซ็นชื่อประกาศไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2566 (ซึ่งระเบียบจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา )

โดยระเบียบนี้อาจเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่จ้องจับผิดหรือจับกุมชาวประมง โดยอาจยัดเยียดข้อกล่าวหาในทุกกรณี ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายประมงหลายหน่วยงาน ขณะที่กฎหมายมีบทลงโทษที่รุนแรง และมีโทษปรับที่สูงมาก จึงขอให้ชาวประมงออกมาชุมนุมสาธารณะ หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากกรมประมงไม่ยกเลิกระเบียบนี้ จะมีการยกระดับชุมชนใหญ่ โดยจะขอมติที่ประชุมใหญ่สามัญที่กำลังเตรียมจัดประชุมในเร็ว ๆ นี้ พร้อมขอมติจอดเรือประมงทั้งประเทศด้วยนั้น

เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์

กรณีดังกล่าว นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์  อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา กรมประมงมีการออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบน เงินรางวัล และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน พ.ศ.2566 เพื่อกำหนดแนวทางการเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัลตามข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักเงินค่าปรับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ. 2482  และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนนำส่งคลัง พ.ศ. 2565  ข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักเงินค่าปรับตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558  และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

ทั้งนี้แต่เดิมมีการจ่ายเงินสินบนรางวัล โดยมีระเบียบการจ่ายเงินสินบน เงินรางวัล และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน มาตั้งแต่สมัยใช้พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 แต่เมื่อมีการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 จึงจำเป็นต้องออกระเบียบการเบิกจ่ายฉบับใหม่ ซึ่งการหักเงินสินบนรางวัลเป็นหลักการดำเนินการทั่วไป ไม่ได้มีเพียงเฉพาะกฎหมายประมงเท่านั้น กฎหมายในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นเกือบทุกฉบับก็มีการหักเงินสินบนรางวัลเช่นเดียวกัน

ระเบียบดังกล่าวมีการกำหนดแนวทางการเบิกจ่ายเงินรางวัลที่ได้มาจากค่าปรับผู้กระทำผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งไม่เกินจำนวนตามที่กระทรวงการคลังกำหนดและหักได้เพียงบางมาตราเท่านั้น ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของการกระทำความผิดที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรประมง โดยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องถึงที่สุดแล้ว หรือผู้ถูกกล่าวหายินยอมชำระค่าปรับตามที่มีการเปรียบเทียบ และเงินที่ได้ให้นำไปจ่ายเป็นส่วน ๆ  ดังนี้

1.นำไปจ่ายเป็นเงินสินบน จำนวน 1 ส่วน แก่พลเมืองดีผู้แจ้งความนำจับ  : ผู้ที่แจ้งเบาะแสการกระทำผิดให้กับทางราชการจนเป็นผลให้สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ โดยต้องไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจับกุมหรือมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องนั้น ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นแรงจูงใจในการช่วยสอดส่องแทนราชการเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำความผิดทางการประมง

 

 

 

2. นำเข้าบัญชีเงินฝากกรมประมง จำนวน 1 ส่วน เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ทางการประมง เช่น โครงการยกระดับไต๋เรือเพื่อการจัดการประมงทะเลที่ยั่งยืน โครงการจัดฝึกอบรมให้แก่พี่น้องชาวประมง  โครงการอาสาสมัครอนุรักษ์ทางการประมง  โครงการพัฒนาทางการประมง ฯลฯ เพื่อประโยชน์อันจะเกิดแก่สาธารณะในการขับเคลื่อนภาคการประมง

3. นำไปจ่ายเป็นเงินรางวัล 2 ส่วน ให้แก่ ผู้มีส่วนร่วมในการให้ได้มาของเงินค่าปรับ  : เจ้าหน้าที่ผู้ร่วมจับกุม  เจ้าหน้าที่ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ  เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบในกระบวนการดำเนินการรวบรวมหลักฐาน และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่แต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 รวมถึงพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานซึ่งอาจต้องเสี่ยงต่ออันตราย

 อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินการในครั้งนี้ มิได้มีเป้าประสงค์ที่จะมุ่งการกล่าวโทษกับพี่น้องชาวประมง แต่เพื่อปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายอันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรเท่านั้น และเพื่อให้เกิดความมั่นใจสำหรับพี่น้องชาวประมง กรมประมงจึงได้ชะลอ และนำเรื่องนี้มาทบทวนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับพี่น้องชาวประมง เพื่อวางกรอบแนวทางในการพัฒนาภาคการประมงที่ชัดเจนต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการทางกฎหมายนั้น กรมประมงได้เน้นย้ำการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ยึดหลัก 3 ป. คือ การป้องกัน การป้องปราม และการปราบปราม พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญด้วย ตามนโยบายของ  ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์