หอการค้าฯตอกย้ำ Big Brother สร้างมูลค่าให้SMEกว่า 670 ล้าน

31 ม.ค. 2566 | 14:34 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 14:37 น.

หอการค้าฯ ตอกย้ำความสำเร็จ Big Brother ปี 6 สร้างมูลค่าเพิ่มให้ SME มากกว่า 670 ล้านบาท ช่วยดันเศรษฐกิจภายในประเทศกระเตื้อง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการ Big Brother เป็นหนึ่งในโครงการของหอการค้าไทยที่ได้ให้ความสำคัญในแนวทางการช่วยเหลือแบบพี่ช่วยน้อง ซึ่งมีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำการดำเนินกิจการกับบริษัทน้อง ซึ่งได้พิสูจน์มาแล้ว ทั้ง 6 Season ได้เห็นพัฒนาการของบริษัทน้องเลี้ยง จากกิจกรรมต่างๆ ในโครงการฯ และจากการบ่มเพาะอย่างตั้งใจ จากบริษัทพี่เลี้ยงที่มีความพยายามในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจจากบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยให้ธุรกิจของบริษัทน้องเลี้ยง สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย

 

“Big Brother ใน Season 6 เมื่อปีที่ผ่านมา เป็นรุ่นที่พิเศษ เพราะมีระยะเวลาในการอยู่ร่วมกันถึง 8 เดือน หลังจากผลกระทบจากภาวะโควิด-19 ที่ดีขึ้น สามารถมาพบปะและเจอกันได้มากขึ้น เห็นได้ว่าทุกคนได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ รวมไปถึงการช่วยวางแผนการดำเนินงานในอนาคตในรูปแบบ New Normal ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจของทุกคน”

ด้านนายพลิษศร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการเพิ่มความเข้มแข็งให้สมาชิก กล่าวว่า มีบริษัทน้องเลี้ยงที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 48 ราย พบว่า สามารถประเมินเป็นมูลค่าของรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นด้านที่มีสัดส่วนของผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการ มากที่สุด จำนวน 28 ราย (คิดเป็น59.57%)  ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น หมายถึงมียอดขายหรือกำไรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่ลดลง

 

หอการค้าฯตอกย้ำ Big Brother สร้างมูลค่าให้SMEกว่า 670 ล้าน

 

รองลงมาคือ ด้านการตลาดทั้งการขยายช่องทางการตลาด การเพิ่มจำนวนลูกค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์และแบรนด์ จำนวน 11 ราย (คิดเป็น10.64%) โดยมีการเพิ่มช่องทางจำหน่ายและเจรจาขายสินค้าผ่านร้านค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) อาทิ Lotus’s 7-11 และ King Power  และการขายผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ 24 Shopping Shopee Lazada TikTok และ Line OA รวมไปถึงการพัฒนาเว็บไซต์ การเพิ่มจำนวนลูกค้าในการเข้าชมสินค้า/บริการ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โลโก้ และ packaging ที่เหมาะสมอีกด้วย

“ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยศูนย์เอสเอ็มอี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประมาณการมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่ผู้ประกอบการได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 676.97 ล้านบาท โดยอัตราเพิ่มขึ้นของมูลค่ามีตั้งแต่ระดับ 0.87% ไปจนถึง2,245.09% โดยค่าเฉลี่ยมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 23.36%”