เอกชน จี้ แบงก์ชาติตรึงค่าเงิน แก้บาทแข็งอุ้มส่งออก

24 ม.ค. 2566 | 11:46 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2566 | 12:12 น.

เอกชน ห่วงค่าเงินบาทแข็งกระทบส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เสนอแบงก์ชาติ ชะลอขึ้นดอกเบี้ย ตรึงค่าเงินบาท 34-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ออกมาตรการตรวจสอบกระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)เปิดเผยว่าสรท. ได้รับทราบปัญหาการดำเนินธุรกิจจากสมาชิก เกี่ยวกับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ผลิตเพื่อส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศในสัดส่วนสูง

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าผักและผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง กระป๋องและแปรรูป ซึ่งสามารถส่งออกเติบโตในปี 2564 จากเงินบาทอ่อนค่า แต่มูลค่าส่งออกกลับมาหดตัวในไตรมาส 3-4 ของปี 2565 และต่อเนื่องไตรมาส 1 ปี 2566 เมื่อค่าเงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่า

 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลต่อการกำหนดราคาและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยเมื่อเปรียบเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งในประเทศที่ค่าเงินอ่อนกว่าไทย ทั้งการทำสัญญาซื้อขายในปัจจุบันและตลอดปี 2566

หากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทได้ จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศในสัดส่วนสูงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

คณะกรรมการสรท. จึงได้พิจารณาข้อเสนอแนะแนวทางบรรเทาปัญหาและช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกไทยให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

 

เอกชน จี้ แบงก์ชาติตรึงค่าเงิน แก้บาทแข็งอุ้มส่งออก

 

1. ขอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณา ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป เนื่องจากจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งเป็นต้นทุนอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ประกอบการทั้งซัพพลายเชน และเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น วัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น

เอกชน จี้ แบงก์ชาติตรึงค่าเงิน แก้บาทแข็งอุ้มส่งออก

2. ขอให้ ธปท. ดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อ รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทในระดับ 34-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือไม่แข็งค่าไปกว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญ

3. ขอให้ ธปท. กำหนดมาตรการและเครื่องมือในการตรวจสอบ ติดตาม กระแสเงินไหลเข้าประเทศอย่างรวดเร็ว รวมถึงขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินให้ติดตามข้อมูลการโอนเงินบาทระหว่างบัญชีผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ (Non-resident Baht Account) จากสัญญาณของธุรกรรมการเงินต่างประเทศที่เริ่มมีความหนาแน่นกว่าปกติ

4. ธปท. และธนาคารพาณิชย์ พิจารณา อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง (Hedging)  เช่น จัดสรรหรือขยายวงเงินสำหรับการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ประกอบการ ทั้งในรูปแบบของ Forward และ Option ให้เพียงพอต่อความต้องการในช่วงที่ค่าเงินบาทมีความผันผวน

5. ขอให้ ธปท. ร่วมกับ สรท. จัดกิจกรรมให้ความรู้ในทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการเกี่ยวกับมาตรการและเครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาท ด้วยการขยายระยะเวลาในการทำประกันความเสี่ยง ทั้งในรูปแบบของ Forward และ Option ให้เหมาะสม รวมทั้งออกแคมเปญช่วยเหลือและดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง อาทิ โครงการบริหารความเสี่ยง FX (Option ประกันค่าเงิน) สำหรับ SMEs เป็นต้น

ทั้งนี้ สรท.พร้อมร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะข้างต้น เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกและนำพาให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคง