โรงแรมเล็กเฮ‘บิ๊กตู่’เร่งปลดล็อกคลอด2กฎกระทรวงรับทัวริสต์ 

06 ม.ค. 2566 | 15:30 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2566 | 22:53 น.
1.6 k

“โกจง”นำผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าทำเนียบ ยื่นหนังสือ “บิ๊กตู่” ปลดล็อกโรงแรมเล็ก จี้มหาดไทยเร่งประกาศใช้ร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ซึ่งเพิ่งได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ สทท. ให้ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัย ประจำปี 2566-2568 เมื่อ 3 ม.ค. 2566 และในวันรุ่งขึ้น(4 ม.ค. 2566) ได้นำคณะผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโรงแรมขนาดเล็ก อาทิ นายมโนสิทธิ์ แจ้งจบ นายกิตติ พรศิวะกิจ เป็นต้น เข้าพบและยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมรับเรื่อง

 

โดยนายชำนาญได้รายงานทิศทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของคณะกรรมการ สทท. ชุดใหม่ ภายใต้ 4 กลยุทธ์ คือ การเติมทุน เติมลูกค้า เติมความรู้ เติมนวัตกรรม เพื่อเร่งแก้ปัญหา supply side อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ ทั้งด้าน Soft Loan กฏหมายที่พักแรมขนาดเล็ก การขาดแคลนแรงงาน, เครดิตบูโร บัตรมัคคุเทศก์หมดอายุ พร้อมทั้ง ผลักดันการตั้งกองทุนส่งเสริม Digital Nomad และการขับเคลื่อน B2B Platform ตลอดจนหนุน Soft Power เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นกลไกหลักในการฟื้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

โรงแรมเล็กเฮ‘บิ๊กตู่’เร่งปลดล็อกคลอด2กฎกระทรวงรับทัวริสต์ 

โรงแรมเล็กเฮ‘บิ๊กตู่’เร่งปลดล็อกคลอด2กฎกระทรวงรับทัวริสต์ 

พร้อมกันนี้ ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เร่งกำชับหน่วยงานให้รีบออกกฎกระทรวงมหาดไทย 2 ฉบับ ที่ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ แล้วเงียบหายไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่พักขนาดเล็กที่ไม่ใช่โรงแรมกว่า 50,000 ราย ยังไม่สามารถกลับมาเปิดกิจการใหม่ เพื่อช่วยรองรับนักท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นกลับมา ให้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

เนื่องจากประเทศไทยมีการประกอบธุรกิจให้เช่าที่พักแบบรายวันจำนวนมาก ข้อมูลเมื่อปี 2564 มีจำนวนรวมทุกประเภทถึงประมาณ 65,000 กว่าแห่ง เป็นโรงแรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย ประมาณ 22% ที่เหลือส่วนใหญ่ถึง 78% หรือกว่า 50,000 แห่ง เป็นที่พักรายวันที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายได้คือ การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยโรงแรม และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโรงแรมขนาดเล็ก ได้ร่วมเสนอปัญหาและทางออกแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด กระทั่ง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำประชาพิจารณ์ กฎกระทรวงกำหนดประเภท และหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2551 ไปแล้วจำนวน 2 ครั้ง ในเดือนม.ค.และเดือนก.ค. 2565 โดยปรับแก้จากไม่เกิน 4 ห้อง 20 คน เป็นไม่เกิน 10 ห้อง 30 คน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อที่พักอาคารที่เป็นลักษณะแพ เต็นท์ กระโจม เพิง หรือ อาคารอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และกฎกระทรวงควบคุมอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ....ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ยกร่างเสร็จและผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว

 

“ร่างกฎกระทรวงใหม่ 2 ฉบับ เพื่อกำหนดประเภท มาตรฐานสถานที่พักที่ไม่ใช่โรงแรม และข้อกำหนดความปลอดภัยอาคารที่ใช้เป็นที่พัก ให้สอดคล้องกับขนาดการประกอบการใหญ่กลางเล็ก หรือ SML ซึ่งได้ยกร่างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีวี่แววประกาศใช้ จึงได้เข้าพบขอของขวัญปีใหม่จากนายกฯ ได้ช่วยเร่งรัดให้หน่วยงานรีบประกาศใช้ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่พักขนาดเล็กได้กลับมาเปิดธุรกิจใหม่ และช่วยรองรับนักท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อไป”หนึ่งในผู้ประกอบการท่องเที่ยวร่วมคณะ กล่าว

 

หากผู้ประกอบการโรงแรมเล็กที่มีกว่า 50,000 แห่ง กลับมาเปิดได้ จะเกิดการจ้างงานจำนวนมาก ช่วยรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ ที่นับวันจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่จะเข้ามาหลังจีนเปิดประเทศ ซึ่งมีไทยเป็นจุดหมายการเดินทางลำดับต้นๆ จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศ และกระจายรายได้สู่ฐานรากในชุมชนนับล้านคน

 

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งได้รับทราบข้อมูลแล้ว ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหามัคคุเทศก์ที่เวลานี้ขาดแคลนทันที โดยที่ผ่านมามัคคุเทศก์ซึ่งตกงานช่วงโควิด-19 ระบาด เรียกร้องให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุบัตรมัคคุเทศก์(ไกด์) ขณะที่ในวันรุ่งขึ้นเลขาธิการนายกฯ ประสานกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้สั่งการให้กรมการปกครอง เร่งดำเนินการเพื่อประกาศใช้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงมหาดไทยทั้ง 2 ฉบับแล้ว

 

คณะผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่เข้าพบนายกฯ ประกอบด้วย 1.นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สทท. 2.นายอดุลย์ชัย รักษ์คำ เลขาธิการ สทท.  3.นายเอนก นุรักษ์ ประธานสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย 4.นายอมร  อินทรเจริญ ที่ปรึกษาประธาน สทท. 5.นายสร้างสรร   ทองตัน นายกสมาคมพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการท่องเที่ยวภูเก็ต 6.นายอดิศร  สุมาลีนายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพภูเก็ต และรองประธาน สทท. 

 

7.นายชินวัฒน์ อุดมนิดม นายกสมาคมที่พักบูติกภูเก็ต 8.นายอมรินทร์  ศรัญยสกุล สมาคมภูเก็ตไบค์วีค 9.นายพุทธา  มากหลาย สมาคมผู้บริหารงานช่างและพัฒนาฝีมือช่างภาคใต้ 10.นางวิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ นายกสมาคมอันดามันยั่งยืน และรองประธาน สทท. 11.นายสุทธิพงษ์ เผื่อนพิภพ รองประธาน สทท.  12.นายกิตติ  พรศิวะกิจ กรรมการ สทท. และ 13.นายวิวรรธน์ ชื่นบาน ผู้ช่วยประธาน สทท. 
 

กำพล ฝอยทอง/รายงาน
หน้า 2 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,851 วันที่ 8-11 มกราคม พ.ศ.2566