มธ.เผยผลวิจัย คนรุ่นใหม่ พร้อมจ่ายสินค้ารักษ์โลก

29 ธ.ค. 2565 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ธ.ค. 2565 | 21:27 น.

คณะวารสารฯ มธ.เผยผลวิจัย พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ ขานรับกระแสโลกร้อน ใส่จริงสิ่งแวดล้อม และมีความกังวลกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็พร้อมจ่ายเพื่อซื้อสินค้ารักษ์โลก ในที่มีราคาเหมาะสม

รศ.แอนนา จุมพลเสถียร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า คณะวารสารฯ ได้จับมือกับบริษัท เอบีเอ็ม คอนเนค จำกัด ทำการวิจัยเพื่อศึกษาการรับรู้ และแนวโน้มพฤติกรรมการใช้สินค้ารักษ์โลก (green product) ของกลุ่มคนรุ่นใหม่พบว่า กว่า 60% ของกลุ่มตัวอย่างเคยซื้อสินค้าประเภทรักษ์โลก และ 30% ไม่เคยซื้อแต่มีความสนใจในผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

มธ.เผยผลวิจัย คนรุ่นใหม่ พร้อมจ่ายสินค้ารักษ์โลก

ที่น่าแปลกใจคือคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาก่อน พวกเขาไม่ใช่นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่พร้อมเปิดใจเลือกสินค้ารักษ์โลกมาใช้ในชีวิตประจำวัน แสดงให้เห็นว่าการรักษ์โลกไม่ได้เป็นเทรนด์เฉพาะกลุ่ม แต่เป็นแนวคิดส่วนใหญ่ของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว

 

การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมบนโลก ที่ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตในช่วงที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงคนรุ่นใหม่ทั้งในระดับนิสิตนักศึกษาและคนทำงาน จากผลการวิจัยพบว่า คนส่วนใหญ่ที่เป็นคนรุ่นใหม่เปิดกว้างที่จะรับรู้และเข้าใจถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และมองว่าเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจเป็นอย่างมาก พวกเขามีความกังวล เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ปัญหามลพิษ ปัญหาโลกร้อน ตลอดจนปัญหาการจัดการขยะ เพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และคิดว่าการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 

มธ.เผยผลวิจัย คนรุ่นใหม่ พร้อมจ่ายสินค้ารักษ์โลก

ความคาดหวังต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สำหรับคนรุ่นใหม่ยังครอบคลุมถึงการเลือกใช้สินค้ารักษ์โลก ซึ่งเป็นสินค้าหรือมีบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการแปรสภาพและนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ (reuse) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่ายตามธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

  • สินค้ารักษ์โลกที่อยากจ่าย

จากข้อมูลวิจัยพบว่า ลักษณะสินค้ารักษ์โลกที่คนรุ่นใหม่สนใจเป็นสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (personal care) และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน (household product) ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า ผิวกาย และหนังศีรษะ

 

ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอเนกประสงค์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น โดยราคาของสินค้าควรอยู่ในช่วงราคา 100-200 บาท หรือมีราคาไม่สูงกว่าสินค้าทั่วไป (non-green product) เกินกว่า 100 บาท แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่สนใจและยินดีซื้อผลิตภัณฑ์รักษ์โลกมาใช้ หากอยู่ในช่วงราคา ที่ย่อมเยาจับต้องได้ และมีราคาใกล้เคียงกับสินค้าโดยทั่วไปที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

  • ข้อมูลความปลอดภัยต้องชัด

ผลวิจัยยังชี้อีกว่า คนรุ่นใหม่คาดหวังว่าสินค้ารักษ์โลกส่วนใหญ่ ควรมีบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกที่ย่อยสลายได้ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปเติมได้ (refill) สกัดหรือมีส่วนผสมจากธรรมชาติ ต้องมีการแสดงวันหมดอายุ แสดงส่วนผสมบนผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ มีบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อการใช้งาน มีราคาที่เหมาะสมกับปริมาณ คุณสมบัติและราคาเหมาะสมเมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไป (non-green product) ซื้อหาง่ายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือร้านสะดวกซื้อ

 

ขณะที่การสื่อสารการตลาดสำหรับสินค้ารักษ์โลก คนรุ่นใหม่เชื่อถือการใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการประชาสัมพันธ์ และตอบสนองต่อกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เช่น การใช้คูปองส่วนลด และการมีส่วนร่วมในการบริจาค