เปิดธุรกิจ SME ดาวรุ่ง-เฝ้าระวังปี 66 มีอะไรบ้าง อ่านเลยที่นี่

19 ธ.ค. 2565 | 13:04 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2565 | 20:04 น.

เปิดธุรกิจ SME ดาวรุ่ง-เฝ้าระวังปี 66 มีอะไรบ้าง อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลัง สสว. จัดวิเคราะห์ผลสำรวจยอดขายรายไตรมาสจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมฐานข้อมูลเอสเอ็มอี

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผลสำรวจยอดขายรายไตรมาส ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับฐานข้อมูลเอสเอ็มอี (SME) ของ สสว. รวมทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง สามารถแยกกลุ่มธุรกิจที่จะมีอนาคตสดใสเป็นดาวรุ่ง กลุ่มธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัว และกลุ่มธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2566 ปรากฎว่า 

 

กลุ่มธุรกิจดาวรุ่งในปี 2566 ได้รับอานิสงส์จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทั้งจากโควิด-19 (Covid-19) และภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยจะมีการเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็น มีส่วนลด หรือซื้อในปริมาณน้อยลง สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจขายของ Online ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อน Covid -19 จากความคุ้นเคยของผู้บริโภคในการใช้งานแพลทฟอร์มต่าง ๆ ความสะดวกในการชำระเงิน ช่องทางการส่งสินค้าที่หลากหลายและครอบคลุมทั่วประเทศ 

 

ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ SME ในกลุ่มนี้ถึง 20,461 ล้านบาท เช่นเดียวกับร้านโชห่วย โดยเฉพาะการจำหน่ายอาหารสดและยาสูบที่กำลังซื้อในธุรกิจนี้กลับมาเติบโตในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวจากการที่ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าที่สามารถต่อรองราคา ขอเชื่อหรือเลือกซื้อในปริมาณน้อยได้ คาดว่าธุรกิจนี้ทำรายได้ให้กับ SME ถึง 1.25 ล้านล้านบาท 
 

นอกจากนี้ ธุรกิจจัดงานแข่งขันหรืออีเว้นท์กีฬา เช่น งานวิ่ง งานแข่งจักรยาน มวย ที่เติบโตอย่างมากภายหลังประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ SME กลุ่มนี้ 1,504 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยการจัดอีเว้นท์ดังกล่าวยังช่วยกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จากการเดินทางไปร่วมกิจกรรมและการท่องเที่ยวอีกด้วย

 

สำหรับกลุ่มธุรกิจกลับมาฟื้นตัว ส่วนใหญ่ได้รับผลจากการเปิดประเทศรวมทั้งพฤติกรรมประชาชนหลัง Covid -19 ได้แก่ เกสต์เฮ้าส์ บังกะโล ร้านขายของที่ระลึก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแนววัฒนธรรมชนบท ธุรกิจด้านบันเทิง ได้แก่ ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บาร์และดิสโก้เทค ธุรกิจด้านจัดทำคอนเท้นท์ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซอฟแวร์และเกมส์ ธุรกิจบริการจัดเลี้ยงและให้เช่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจขายของมือสองและซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ ธุรกิจโหราศาสตร์และความเชื่อหรือธุรกิจสายมู ที่เติบโตต่อเนื่อง

 

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ  สสว.

ส่วนธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2566 ได้แก่ ธุรกิจที่พักคนงาน เนื่องจากแรงงานต่างชาติยังไม่กลับมา ธุรกิจหอพักนักศึกษา จากการปรับรูปแบบเป็นเรียนออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากการระมัดระวังการใช้จ่ายซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจจำหน่ายและซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มือสอง นอกจากนี้ ธุรกิจฟิตเนสแบบ Indoor ที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคหลัง covid -19 ที่เน้นการออกกำลังกายในบ้านหรือกลางแจ้งมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าการที่ธุรกิจจะเติบโตหรือถดถอยนั้น มีปัจจัยสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ความสามารถในการปรับตัวของ SME จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ที่จะนำพาให้ธุรกิจอยู่รอดอย่างยั่งยืน 

โดยการจัดทำดัชนีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของ SME ของ สสว. พบว่า ค่าดัชนีของวิสาหกิจขนาดย่อยและขนาดย่อม ยังมีระดับความรู้ ทักษะ และทัศนคติของผู้ประกอบการที่สะท้อนถึงการปรับตัวได้ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และเข้าถึงการรับรู้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ต่ำกว่าค่าดัชนีของวิสาหกิจขนาดกลาง

 

"สสว. จึงได้ออกมาตรการและโครงการส่งเสริม SME เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (THAI SME-GP) และ มาตรการช่วยเหลืออุดหนุน SME ผ่านระบบ BDS (Business Development Service) หรือ SME ปัง ตังได้คืน ซึ่งเป็นการอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมจ่าย (co-payment) ให้กับผู้ประกอบการ SME ในสัดส่วน 50-80%" 

 

อย่างไรก็ตาม การเข้ารับบริการกับผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Service Provider) ในการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางปี 2565 ที่ผ่านมา สามารถอุดหนุน SME รวมกว่า 20 ล้านบาท และยังมีงบประมาณที่พร้อมสนับสนุน SME อีกกว่า 400 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาและยกระดับระบบสนับสนุนและเชื่อมโยงระบบนิเวศเพื่อการทำธุรกิจผ่าน SME One ID เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ SME ในการเข้าถึงการส่งเสริมสนับสนุน และบริการภาครัฐได้ สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวยังคงดำเนินการเพื่อสนับสนุน SME อย่างต่อเนื่อง