กรณีมีมิจฉาชีพใช้ชื่อกรมฯ แอบอ้างติดต่อขอข้อมูลส่วนบุคคลจากประชาชนหรือขอตรวจสอบธุรกิจเรื่องต่างๆ โดยที่ประชาชนไม่ได้ติดต่อกรมฯ มาก่อน หรือเสนอเงินให้ความช่วยเหลือธุรกิจ เรื่องนี้ทำลายความเชื่อมั่นงานบริการกรมฯ อย่างมาก พร้อมสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน กรมฯ จึงต้องออกโรงเตือนหากประชาชนได้รับการติดต่อในลักษณะนี้ให้สงสัยว่าเป็นกลุ่มมิจฉาชีพลักษณะฟิชชิง (Phishing) ที่จะมาหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคลไป ต้องมีสติทุกครั้งก่อนกดลิ้งค์ หรือเปิดรับไฟล์ที่ไม่แน่ใจ ป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้น
ล่าสุดกรมพัฒนาธุรกิจการค้าขึ้นโรงพัก แจ้งความเอาผิดมิจฉาชีพปลอมไลน์ แอบอ้างเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หลอกลวงผู้ประกอบธุรกิจ ให้ตรวจสอบและกรอกข้อมูล เตือนอย่าหลงเชื่อ เหตุไม่มีนโยบายติดต่อหาใครก่อน โดยที่ไม่ได้สอบถามข้อมูลมา เพื่อป้องกันความเสียหายหรือสูญเสียทรัพย์สิน
นายธีระศักดิ์ สีนา ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เดินทางไปยังสน.รัตนาธิเบศร์ เพื่อแจ้งความเอาผิดกับมิจฉาชีพ ที่ปลอมแปลง Line Official Account โดยใช้ตรา DBD ซึ่งเป็นโลโก้ของกรมฯ แล้วทำการแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารระดับสูงของกรมฯ จากนั้นได้ทำการทักหาผู้ประกอบการให้อัปเดตข้อมูลนิติบุคคล หากหลงเชื่อ ก็จะเข้าสู่กระบวนการหลอกลวง ให้กรอกและอัปเดตข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเสียหายหรือสูญเสียทรัพย์สิน
“รูปแบบที่มิจฉาชีพทำ คือ ไปหาข้อมูลนิติบุคคลแต่ละบริษัท ซึ่งปกติข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคล สามารถตรวจสอบและค้นหาได้ตามช่องทางปกติอยู่แล้ว แต่มิจฉาชีพ นำไปใช้เพื่อการหลอกลวง โดยแจ้งกับผู้ประกอบการว่าข้อมูลที่จดทะเบียนไว้ถูกต้องหรือไม่ มีอะไรอัปเดตหรือไม่ โดยเพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยการแอบอ้างชื่อของผู้บริหารกรมฯ เช่น อ้างเป็นผู้อำนวยการกองต่าง ๆ ซึ่งชื่อผู้บริหาร ปกติก็ตรวจสอบได้ผ่านเว็บไซต์ของกรมฯ อยู่แล้ว”
ทั้งนี้กรมได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่า มีผู้ไม่หวังดีโทรศัพท์หรือส่งข้อความไปยังผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่สร้างปลอมขึ้นมาอย่าง Facebook และแอปพลิเคชัน Line โดยแอบอ้างใช้ชื่อรหัสประจำตัว (Username) เป็นชื่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และใช้โลโก้กรมฯ เป็นรูปโปรไฟล์ พร้อมขอตรวจสอบธุรกิจเรื่องต่างๆ หรือเสนอเงินให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้กดเพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อขอข้อมูล รวมถึงการปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์ให้มีรูปแบบคล้ายกับหน้าเว็บไซต์กรมฯ หรือบางกรณีหลอกลวงให้กดลิงค์เว็บไซต์ บางรายแจ้งให้คลิ๊กเปิดไฟล์เอกสารที่แนบมาด้วย ทั้งที่ผู้เสียหายไม่ได้มีการติดต่อกับกรมฯ มาก่อน ทำให้ภาคธุรกิจหรือประชาชนบางรายต้องสูญเสียเงินในบัญชีจากการหลงเชื่อข้อมูลเท็จดังกล่าว เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการให้บริการของกรมฯ อย่างมาก ที่สำคัญยังทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายหรือสูญเสียทรัพย์สินอีกด้วย
ปัจจุบันมิจฉาชีพได้เปลี่ยนกลวิธีการหลอกลวงให้แนบเนียนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเข้าถึงทุกคน และได้แอบอ้างเอาหน่วยงานราชการมาใช้สร้างความเสียหาย การกระทำลักษณะดังกล่าวเรียกว่า การฟิชชิง(Phishing) เป็นการหลอกลวงผ่านช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงแต่ละบุคคลเช่น โทรศัพท์ อีเมล Social Media และเว็บไซต์ปลอม เพื่อล่อลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้โจรกรรม ซึ่งจะใช้การสร้างสถานการณ์ให้เกิดความกลัว หรือได้รับผลประโยชน์บางอย่าง จนหลงเชื่อทำตามและบอกข้อมูลส่วนบุคคลไป
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังการเปิดรับข้อมูลจากแหล่งที่ไม่มั่นใจ และรู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพ สามารถสังเกตจากถ้าได้รับอีเมลควรเป็นชื่อที่รู้จักหรือติดต่อไว้เท่านั้น หากระบุให้คลิ๊กลิงค์หรือเปิดไฟล์ต้องแน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติ เมื่อนำเมาส์ไปชี้ที่ลิงค์ URL จะต้องมี URL ที่ตรงกันกับหน่วยงานที่ติดต่อเท่านั้น อีกทั้ง การเข้าใช้งานในเว็บไซต์ควรพิมพ์ URL โดยตรงจะปลอดภัยกว่าการเข้าใช้งานผ่านลิ้งค์