"สุรเชษฐ์"ฟันธงครม.-คมนาคมดัน"ส้มตะวันตก"ก่อนยุบสภาแน่

28 พ.ย. 2565 | 18:09 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2565 | 01:20 น.

"สุรเชษฐ์"ฟันธง ครม.ทิ้งทวนไฟเขียวรถไฟฟ้า"สีส้มตะวันตก"ก่อนยุบสภาแน่ จี้"คมนาคม"อธิบายสังคม 7 ข้อกังขา เชื่อไม่สามารถตอบให้หายสงสัยได้ เรียกร้องประชาชนจำให้ดีใครทำอะไรไว้ เพราะยิ่งโครงการใหญ่มาก สำคัญมาก ยิ่งต้องโปร่งใสให้มาก 

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล  กล่าวในการเสวนาเรื่อง "ความโปร่งใสในการประมูลเมกะโปรเจ็กต์ ในการสัมมนา"The Big Issue 2022:ความโปร่งใสในการประมูลงานรัฐกับอนาคตประเทศไทย" จัดโดย สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย และ ฐานดิจิทัล ว่า โครงการใหญ่คือโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาท ขณะที่โครงการรถไฟสายสีส้มทั้งระบบมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท จึงเป็นโครงการใหญ่มาก สำคัญมาก จึงต้องยิ่งโปร่งใสมาก 

 

โครงการนี้แยกเป็นหลายท่อนหลายส่วน ทั้งส้มตะวันออก-ตะวันตก ทั้งจ้างงานโยธา และการเดินรถ ซึ่งต้องมีความชัดเจนในข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ ได้ทำหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบในสภาฯ รวมทั้งเป็นอนุฯกรรมาธิการโครงสร้างพื้นฐานฯ  ได้เชิญหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการมาชี้แจงหลายครั้ง ไม่มีใครกล้ายืนยันตัวเลขอย่างชัดเจน ขณะที่โครงการมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล 

\"สุรเชษฐ์\"ฟันธงครม.-คมนาคมดัน\"ส้มตะวันตก\"ก่อนยุบสภาแน่

ทั้งนี้ การลงทุนโครงการใหญ่ของรัฐนั้น สังคมเพ่งเล็งเรื่องของความโปร่งใส ว่ามีการทุจริตหรือไม่ แต่ยังมีอีกด้านที่ยังไม่ค่อยได้ใส่ใจ คือเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุน ซึ่งต้องพิจารณาทั้งความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและความคุ้มค่าทางการเงิน บางโครงการอาจไม่คุ้มทางการเงินแต่สังคมได้ประโยชน์ รัฐอาจต้องยอมรับภาระช่วยอุดหนุน เพื่อให้สังคมได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่ถ้าทำเพื่อให้ผู้ลงทุนได้กำไรเกินควร ก็เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ 

 

"ดังนั้น การที่สร้างเยอะไม่ได้หมายความว่าจะเก่ง หากทำไปแล้วกลายเป็นภาระรัฐต้องไปแบกค่าดูแลในภายหลัง ทำไปแล้วมีคนใช้ไม่คุ้มค่ากับเงินทุนที่ลงไป ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นถนนควายเดิน หรือรถไฟฟ้าสีม่วง ที่ควรต้องมีผู้โดยสารวันละ 2 แสนคน เวลานี้มีเพียง 5 หมื่นคนเศษ ควรลงทุนทีหลังแต่ก็มารีบทำก่อน แล้วต้องมาแบกค่าอุดหนุนกันเวลานี้" 

\"สุรเชษฐ์\"ฟันธงครม.-คมนาคมดัน\"ส้มตะวันตก\"ก่อนยุบสภาแน่

นายสุรเชษฐ์กล่าวอีกว่า  การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นโครงการที่มีปัญหามาก และได้ติตตามมาโดยตลอด จากการเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูล มีการพูดกันถึงตัวเลขราคากลางที่ 9 หมื่นกว่าล้านบาท ก็เป็นตัวเลขหลอก เพราะฐานในการคิดต่างกัน เดิมคิดจากฐานการลงทุนงานโยธาช่วงก่อสร้าง แต่ก่อนหลังจากฐานรายได้จากการเดินรถที่ต้องเก็บอีก 30 ปี จนมีส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบาท ที่ถามกันว่าหายไปไหนอยู่กับใคร อย่าปล่อยให้ความไม่โปร่งใสไม่ชอบธรรมเกิดขึ้นได้ อย่าปล่อยให้เมกะโปรเจ็กต์กลายเป็นเมกะดีล
 

 

กระบวนการตรวจสอบทางศาลพิจารณาเฉพาะประเด็นที่ยกขึ้นมาฟ้อง และศาลจะพิจารณาเฉพาะในกรอบของประเด็นที่ถาม ว่าถูกหรือผิดกฏหมาย ทำได้หรือไม่ได้ ขณะที่กระบวนการตรวจสอบทางสภาของฝ่ายนิติบัญญัติทำในภาพรวม เมื่อเห็นความไม่โปร่งใส ทั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา เมื่อก.พ.2564  จนมาเปลี่ยนเกณฑ์เปิดประมูลรอบสอง เรียกมาชี้แจงต่อเนื่องถึงในอนุฯกมธ.ในสภา  ซึ่งตอนหลังก็บ่ายเบี่ยงเตรียมเอกสารอยู่บ้าง อ้างเรื่องอยู่ในศาลบ้าง

 

"โครงการนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการฯแล้ว เตรียมเสนอเข้าครม. เรื่องนี้หากผ่านไปถึงรัฐบาลหน้า ซึ่งยังไม่รู้ว่าพรรคไหนจะมาเป็นรัฐบาล อาจเข้ามารื้อ หรือกระบวนการยุติธรรมในอนาคตหากหยิบโครงการนี้มาพิจารณาใหม่ อาจกลายเป็นปัญหาค่าโง่อีกโครงการของสังคมไทย" 

 

ทั้งนี้ นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า มั่นใจว่ากระทรวงคมนาคมจะผลักดันโครงการนี้เข้าครม.โดยเร็วที่สุด และรัฐบาลจะอนุมัติโครงการนี้ก่อนการยุบสภาแน่นอน "ผมจึงขอเรียกร้องว่า คุณควรต้องกล้าออกมาชี้แจงรายละเอียดกับสังคม เชื่อว่า 7 ประเด็นที่ตั้งสังเกตไว้ในการตรวจสอบโครงการนี้ จะอธิบายอย่างสมเหตุสมผลไม่ได้แน่"