เบรกเซ็นสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่อลากยาว

25 พ.ย. 2565 | 14:09 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2565 | 20:52 น.
1.4 k

รถไฟฟ้าสายสีส้มส่อลากยาว เบรกเซ็นสัญญาปมส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้าน-กีดกันแข่งขัน ไม่ชอบมาพากล BTS-นักการเมือง-นักวิชาการ ตะลุมบอนฟ้องศาลกราวรูด ด้าน “ศักดิ์สยาม” ยันชะลอลงนามสัญญา รอศาลถึงที่สุด

 

ผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วง บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ เป็นวงกว้าง ว่า อาจจะเกิดความไม่ชอบมาพากลทำให้รัฐเสียประโยชน์ครั้งสำคัญสูงถึง 68,612.53 ล้านบาท หลังบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC เปิดโปงตัวเลขส่วนต่างการขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างรัฐ (ประมูลรอบแรก) เพียง 9,675 ล้านบาท

 

ผู้ชนะประมูลรอบที่สอง เสนอขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างรัฐสูงถึง 78,288 ล้านบาท สะท้อนตัวเลขต่างกันอย่างน่าตกใจทั้งที่เงื่อนไขการก่อสร้างงานโยธา, ระยะทาง, เวลาก่อสร้างรวมถึงจำนวนวงเงินลงทุนระหว่างการประมูลรอบแรกและรอบที่สองไม่เปลี่ยนแปลง

ปมปัญหาใหญ่เกิดจากรัฐบาล เปลี่ยนรูปแบบการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม จากวิธีจัดซื้อจัดจ้างรัฐเป็นรูปแบบ PPP Net ตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อลดความเสี่ยงด้านงบประมาณ จึงนำส่วนการก่อสร้างงานโยธา ส้มตะวันตก ผูกรวมกับการเดินรถทั้งระบบ

 

ดังนั้น เอกชนรายใดชนะประมูล นอกจากได้สิทธิ์ก่อสร้างส่วนสายสีส้มตะวันตกแล้ว ยังได้รับสัมปทานเดินรถทั้งระบบ (ตะวันตก และตะวันออก) เป็นเวลา 30 ปี ซึ่งประเด็นนี้ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หยิบยกขึ้นมา เพราะสิ่งที่เอกชนอยากได้ คือ การเดินรถ เนื่องจากจะสร้างโอกาสผลตอบแทนยาวนาน

 

PPP สู่ขบวนการฉาว

              

 ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงวิธีลงทุน PPP สายสีส้มทั้งตะวันตกและตะวันออก จึงกลายเป็นช่องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การประมูล กลางอากาศ ในรอบแรก พิจารณาซองเทคนิค ร่วมกับซองราคา สัดส่วน 30 และ 70 คะแนนตามลำดับ ไม่ผ่านซองเทคนิค หมดสิทธิ์เปิดซองราคา

 

จากเดิมตัดสินที่ซองราคาเพียงอย่างเดียว ทำให้ BTSC เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองรวมถึงขอคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งคำวินิจฉัย ศาลปกครองกลาง ระบุชัดว่า เกณฑ์ทีโออาร์ใหม่ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมายและควรใช้เกณฑ์เดิมในการประมูล เมื่อใช้เกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ ทำให้เกิดการล้มประมูลสายสีส้มรอบแรกออกไป และเปิดประมูลในรอบสอง

 

กลับกำหนดเกณฑ์ที่เข้มข้นกว่าเดิม ถึงขั้น BTSC ไม่สามารถลงแข่งขันได้ทั้งที่เป็นผู้เดินรถไฟฟ้ามาอย่างยาวนานกว่า 23 ปี รวมถึงผู้รับเหมาที่เป็นพันธมิตรเพราะไม่มีประสบการณ์ขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน, มีสัญญาการประมูลกับภาครัฐต่อเนื่อง 20 ปี ฯลฯ

 

ตามข้ออ้างที่ว่าเส้นทางสายสีส้มตะวันตกเป็นอุโมงค์ตลอดสายผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ พื้นที่ชุมชนชั้นในกรุงเทพมหานคร โบราณสถาน ฯลฯ

ขัดกฎหมาย 2 ฉบับ

              

สอดรับกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มี นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคก้าวไกลเป็นประธาน ตรวจสอบพบโครงการประมูลสายสีส้ม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพ.ศ.2562

 

ความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนรวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องและกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อรัฐปี 2542 มีมูลน่าเชื่อว่า มีจุดมุ่งหมายไม่ให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้อต่อผู้เข้าเสนอ รายใดรายหนึ่ง หรือการล็อกสเปกกีดกันและเอื้อประโยชน์

              

ข้อเคลือบแคลงสงสัย การเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลกลางอากาศแบบไม่เคยมีมาก่อน การยกเลิกการประมูลครั้งก่อนโดยที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่าการยกเลิกการประมูลดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้น ในส่วนของการเจรจากับผู้ชนะการประมูลรอบใหม่ การกีดกัน BTS ไม่ให้มีสิทธิ์เข้าประมูลรอบใหม่

 

การกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ความพยายามของคณะกรรมการคัดเลือกในการรักษาผลประโยชน์ให้กับรัฐ อีกทั้ง การปล่อยผ่านให้เอกชนบางรายเป็นคู่เปรียบเทียบกับผู้ชนะประมูลทั้งที่ตกคุณสมบัติ เป็นต้น

              

นายสุรเชษฐ์ ย้ำว่า หากปล่อยให้เกิดการลงนามในสัญญานอกจากประเทศจะเกิดความเสียหายมหาศาล เนื่องจากพบว่ามีกระบวนการปั้นตัวเลข และอาจจะนำไปสู่การปันผลประโยชน์ หากถูกส่งไปยังที่ประชุมคณะรับมนตรี (ครม.) จะทำให้เงินภาษีของประชาชนถูกใช้เกินจำเป็น เกิดความเสียหายทันที

                

"ที่ผ่านมาได้พยายามติดต่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้ามาชี้แจงต่อคณะอนุกมธ.ฯ ถึง สองครั้ง แต่เรื่องได้เงียบหายไป"

 

เบรกเซ็นสัญญา-คดีอื้อ

              

หลังรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้ามากว่า 2 ปี จากการรื้อเกณฑ์ประมูลจนนำไปสู่การฟ้องร้องและล้มประมูล ล่าสุดมีแนวโน้มว่า อาจจะล่าช้าออกไปอีก เพราะกว่าจะลงนามในสัญญาอาจต้องพิสูจน์หลายขั้นตอนโดยเฉพาะในชั้นศาล ที่ปัจจุบันฟาก BTSC เองมีคดีในศาล รวม 4 คดี แยกเป็น ศาลปกครอง 3 คดี และศาลอาญาคดีทุจริตฯ อีกหนึ่งคดี

              

ขณะเดียวกันพรรคก้าวไกล โดยนายสุรเชษฐ์ และพวกได้ยื่นหนังสือฟ้องคดีสายสีส้มต่อศาลปกครองเพื่อเบรกการลงนามในสัญญา รวมถึงฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม , รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ฯลฯ กรณีการประมูลดังกล่าวที่จะสร้างความเสียหายและเสียโอกาสใช้บริการประชาชน

 

สอดคล้องกับการประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากความล่าช้าโครงการ กรณีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประเมินไว้ไม่ต่ำกว่า 45,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งการเผาผลาญพลังงาน น้ำมัน การเดินทางล่าช้า การลดผลกระทบจากฝุ่นพิษ

 

เลื่อนยาวลงนามสายสีส้ม

              

ปมร้อนดังกล่าว ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่าผลการประกวดราคาโครงการสายสีส้ม ต้องรอให้กระบวนการศาลพิจารณาแล้วเสร็จ จึงจะดำเนินการในขั้นตอนอื่นๆ โดยเฉพาะการลงนามในสัญญา

              

ในทางกลับกัน หากลงมือทำได้เร็วจะส่งผลดี ปล่อยนานไป ประชาชนเสียโอกาสใช้รถไฟฟ้า อีกทั้งค่าก่อสร้างจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ทั้งนี้ เรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม รอศาลพิจารณาให้ถึงที่สุด เพราะเมื่อโครงการมีข้อสงสัย ต้องคลายข้อสงสัยให้หมด เป็นไปตามกฎหมายด้วยเช่นกัน

เส้นทางประมูลสายสีส้ม