ฉะเดือด ทำไม ฉีกประชาพิจารณ์ ม.57 แก้ปัญหาจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

19 พ.ย. 2565 | 19:23 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2565 | 03:27 น.

“สมาคมการประมงฯ” ฉะเดือด ปมร้อน “มาตรา 57” พ.ร.ก. การประมง บานปลาย หลัง NGO งัด "งานวิจัย" ให้บังคับใช้กฎหมายทันที ฉีกประชาพิจารณ์ 22 จังหวัด ค้านไม่เอา เพราะโทษหนัก หากเป็น “ประมงพาณิชย์” ปรับตั้งแต่ 1 แสน ถึง 30 ล้านบาท ส่วนประมงพื้นบ้าน โทษปรับตั้งแต่ 1 หมื่น ถึงหนึ่ง 1 แสนบาท

ฉะเดือด ทำไม ฉีกประชาพิจารณ์ ม.57 แก้ปัญหาจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

 

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ขอชี้แจงประเด็นที่มีการ กล่าวหา กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ไม่ยอมออกประกาศตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  โดยข้อเท็จจริง กล่าวคือ กรมประม งมีการลงรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการประมงจังหวัดใน 22 จังหวัดเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา77

 

ซึ่งมีตัวแทนประมงพื้นบ้านตัวจริงและตัวแทนประมงพาณิชย์ ใน 22 จังหวัดซึ่งเสียงส่วนใหญ่ คัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการออกประกาศตามมาตรา57 และมาตรา71(2) เพราะจะส่งผลกระทบกับทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ทั้งประเทศเป็นผลจากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายเมื่อประชาชนผู้มีส่วนได้เสียไม่เห็นด้วยภาครัฐไม่สามารถออกกฎหมายที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนได้

 

นอกจากนี้กรมประมงมีการนำประเด็นมาตรา 57 และ มาตรา71 (2) เข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงที่มีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน หลายๆ ครั้ง โดยมีตัวแทนทั้งประมงพื้นบ้านและตัวแทนประมงพาณิชย์ เข้าประมงทุกครั้ง ซึ่งที่ประชุมไม่เห็นด้วยที่จะมีการออกประกาศดังกล่าวเพราะจะมีปัญหาตามมามากมาย

 

 

นายมงคล กล่าวว่า กฎหมาย พ.ร.ก.การประมง มาตรา57 ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง ซึ่งรัฐมนตรีจะต้องเป็นการประกาศชนิดของสัตว์น้ำและขนาดของสัตว์น้ำ เท่านั้นที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง ไม่ใช่จะไปเสนอให้รัฐมนตรี ประกาศห้ามจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำขนาดและจำนวนเปอร์เซนต์ขึ้นเรือประมงตามที่กล่าวอ้าง ถือว่าเป็นการบิดเบือนข้อกฎหมายชัดเจน กฎหมาย พ.ร.ก. ประมงมาตรา 71 ให้รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจออกประกาศดังต่อไปนี้  อาทิ ข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่ถูกจับโดยบังเอิญ

 

 

ข้อเท็จจริงกฎหมายมาตรา71(2) เป็นกฎหมายที่จะใช้กับประมงพื้นบ้านในเขตพื้นที่ที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดพิจารณาออกประกาศในจังหวัดนั้นๆ แต่หากต้องการจะให้มีผลบังคับใช้ทั้งประเทศจึงต้องให้รัฐมนตรีเป็นผู้ออกประกาศ บังคับใช้ในเขตทะเลชายฝั่งทั้งประเทศแต่มีการใช้อำนาจแทรกแซงที่จะให้นำเอากฎหมายมาตรา57มาประกาศประกอบกับมาตรา71(2) จะเป็นการประกาศใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะจะมีปัญหาตามมามากมาย

ยกตัวอย่าง เช่น หากมีการกระทำความผิด จะนำกฎหมายมาตราไหนมาบังคับใช้และการลงโทษจะลงโทษตามกฎหมายมาตราไหนหรือหากกระทำความผิดจะมีการลงโทษทั้ง2มาตรา กล่าวคือ ทั้งมาตรา57 และมาตรา71(2) ซึ่งถ้าดูบทลงโทษแล้วจะเห็นว่ามีโทษปรับที่รุนแรงมาก และหากมีการลงโทษทั้ง 2 มาตรา จะถือว่าเป็นการลงโทษเป็น 2 เท่า เลยทีเดียว

 

สำหรับการลงโทษ หากมีการกระทำความผิดตามมาตรา57 จะมีความผิดตามมาตรา139 มีโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท(ประมงพื้นบ้าน) ปรับตั้งแต่หนึ่งแสนถึงสามสิบล้านบาท(ประมงพาณิชย์)  และจะผิดตามมาตรา114(8 )เป็นความผิดร้ายแรงอาจถูกยึดเรือประมงตามมาตรา169 อีกด้วย หากมีเรือประมงหลายลำอาจขอใบอนุญาตไม่ได้เลยทุกลำตามมาตรา39(1) ซึ่งหากมีการกระทำความผิดตามมาตรา71(2)จะมีความผิดตามมาตรา147มีโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท(ประมงพื้นบ้าน) ปรับตั้งแต่หนึ่งแสนถึงสามสิบล้านบาท(ประมงพาณิชย์)

 

ฉะเดือด ทำไม ฉีกประชาพิจารณ์ ม.57 แก้ปัญหาจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

 

นายมงคล กล่าวว่า เป็นกฎหมายที่สร้างปัญหาและสร้างภาระให้กับรัฐบาลเพราะถ้ามีการประกาศใช้ ภาครัฐจะต้องเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐอีกจำนวนมากในการตรวจสอบควบคุม เพราะจะต้องตรวจเรือประมงพื้นบ้าน5-6หมื่นลำ ต้องใช้เจ้าหน้าที่หลายพันคนเพราะเรือประมงพื้นบ้านจะเข้าฝั่งตามพื้นที่ต่างๆตามพื้นที่ของตนในแต่ละจังหวัดและต้องมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ที่จะต้องใช้ตรวจสอบควบคุมเรือประมงพาณิชย์อีกเป็นหลายร้อยคน เพราะเรือประมงพาณิชย์มีจำนวน 8-9 พันลำ มีการเข้า-ออกจากฝั่งทุกๆวัน

 

ทั้งนี้ในการจะกำหนดการจับสัตว์น้ำเป็นเปอร์เซ็นต์  จะตรวจสอบอย่างไร จะมานั่งนับตัวสัตว์น้ำที่ละตัวหรืออย่างไร  จะมานั่งแยกสัตว์น้ำอย่างไร  จะคำนวณอย่างไร  สัตว์น้ำจะเน่าเสียหรือไม่ จะพิสูจน์อย่างไร  ชาวประมงจะทำกันอย่างไรเป็นต้น จากปัญหาข้างต้นก็เห็นแล้วว่าหากภาครัฐไม่พิจารณาให้รอบคอบจะทำให้เกิดความเดือดร้อน เสียหายให้กับทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ อย่างมหาศาลเลยทีเดียวส่วนกลุ่มที่เสนอไม่มีเรือประมงกันเลยสักลำ

 

อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ออกมาคัดค้าน เนื่องจากกลุ่ม NGO จะเอางานวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ทำงานร่วมกันกับองค์กรประมงและชาวประมง ซึ่งเป็นเพียงข้อเสนอ ของกลุ่มเขาเท่านั้น ไม่ได้เป็นงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย  โดยข้อเท็จจริงกรณีสัตว์น้ำวัยอ่อน 

 

1.มีการจับพ่อแม่พันธุ์ในฤดูปลาวางไข่และตามแนวเขตทะเลชายฝั่งทั้ง22จังหวัดได้โดยเสรี


2.มีการอนุญาติให้ใช้เครื่องมือที่สามารถจับพ่อแม่พันธุ์ในฤดูปลาวางไข่ได้ในเขตพื้นที่ปิดอ่าวทุกพื้นที่ที่ปิดอ่าว


3.น้ำเสียที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ไหลลงสู่ท้องทะเล ตามพื้นที่ต่างๆ 

 

 

นี่คือข้อเท็จจริงที่ทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนถูกทำลาย