เตือนแรงงาน  เร่งพัฒนา Multi-Skills รับมือเทรนด์ ‘จ่ายค่าจ้างตามค่างาน’ 

10 พ.ย. 2565 | 19:00 น.
736

“เมอร์เซอร์” แนะแรงงาน เร่งปรับตัว สร้างมัลติสกิล รับมือเทรนด์โลก ที่เกิดการทบทวนค่างาน เตรียมปรับอัตราค่าจ้าง ตามค่างานที่ได้ เตือน ประสบการณ์ไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป เพราะอาจเป็นสกิลที่ใช้ไม่ได้กับงานปัจจุบัน ส่วนการปรับค่าจ้าง คาดปี 2566 เฉลี่ยองค์กรจะปรับเพิ่ม 4.5%

“จักรชัย บุญยะวัตร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เข้ามามีผลต่อตลาดแรงงาน พบว่า ขณะนี้เทรนด์ที่กำลังมาแรงในตลาดโลก และเริ่มเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว คือ การทบทวนค่างาน และทักษะ (Skills) ของแรงงาน ที่องค์กรต้องการคิดคำนวณอัตราค่าจ้างตามค่างานที่ได้ หรือ Pay for Skills โดยอาจมีการพิจารณาประสบการณ์น้อยลง เพราะประสบการณ์เหล่านั้นอาจไม่ทันสมัย
 

เรื่องการคัดเลือก เอชอาร์ หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ปรับเปลี่ยนสู่โหมดของการทำงานแบบเป็นพาร์ทเนอร์กับองค์กรและผู้บริหาร จะต้องรับรู้ถึงความต้องการขององค์กร ว่าต้องการแรงงานลักษณะแบบไหน มีทักษะอย่างไร แต่ละส่วนงานต้องการเดินไปทางไหนและต้องการคนแบบไหนเข้ามาร่วมงาน

ดังนั้น แรงงานต้องมี Multi-Skills หรือ Adept Skills คนทำงานต้องมีการ Reskills - Upskills เพื่อพัฒนาตัวเองให้ตอบโจทย์กับตลาด พวกที่ทำแบบ Single Skills หรือมีความรู้แค่สายงานเดียว อาจส่งผลกระทบทำให้การพัฒนาองค์กรสะดุด
 

ส่วนการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้าง เมอร์เซอร์ได้ทำการสำรวจ Total Remuneration Survey (TRS) ประจำปี 2565 จากองค์กร 636 แห่ง 15 อุตสาหกรรมในไทย ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2565 การปรับค่าตอบแทนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศที่คาดว่าจะปรับขึ้น 3.8% ในปี 2566 แนวโน้มการปรับขึ้นค่าตอบแทนจะอยู่ที่ 4.5% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกเล็กน้อย

นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่า ไม่มีอุตสาหกรรมใดปรับลดอัตราการขึ้นเงินเดือน โดยคาดว่าอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ จะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 4.9%, 4.8% และ 4.8% ตามลำดับ ยกเว้นอุตสาหกรรมยานยนต์และประกันชีวิต ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 4.5% และ 4.0% เพราะแม้ความต้องการภาคยานยนต์และประกันชีวิตจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่กลับคืนสู่ระดับก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด
 

ส่วนโบนัส คาดการณ์การจ่ายโบนัสที่ 1.3 - 2.5 เดือน โดยการจ่ายโบนัสสูงสุดอยู่ที่ 2.4 เดือน ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์
 

อัตราการจ้างงาน ประมาณ 53% ของบริษัทผู้ตอบแบบสํารวจ ไม่มีนโยบายในการปรับเปลี่ยนอัตรากำลังพนักงานในปี 2566 และ 1 ใน 5 หรือราว 22% ของนายจ้าง จะเพิ่มจำนวนพนักงาน ในขณะที่มีเพียง 4% ของนายจ้างระบุว่าจะลดจำนวนพนักงานลง
 

ดังนั้น การแข่งขันแย่งชิงตัวแรงงานที่มีทักษะ หรือ ทาเลนต์ จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการของแรงงาน จะไม่ได้ตัดสินใจจากอัตราเงินเดือนเพียงอย่างเดียวในการเลือกทำงานกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง โดยเฉพากลุ่ม Gen Y ซึ่งเป็นกำลังแรงงานสูงสุด ต้องการสวัสดิการและค่าตอบแทนที่ยืดหยุ่น เช่น การทำงานแบบไฮบริด สวัสดิการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเขามากขึ้น ถ้าไม่ตอบโจทย์ก็ไม่พร้อมร่วมงานด้วย
 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของ Gig Economy หรือ Gig Worker ก็เป็นอีกความต้องการของตลาดแรงงานที่น่าสนใจ หลายองค์กรเน้นหาพาร์ทเนอร์เข้าร่วมงาน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานประจำ และอาจะเป็นนโยบายที่มีการบังคับใช้ในบางองค์กร สำหรับตำแหน่งงานบางตำแหน่ง ที่สามารถ Outsource ได้ 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,834 วันที่ 10 - 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565