สมุทรปราการสานต่อ “ชนม์สวัสดิ์”สายไฟลงดิน สร้างลุคใหม่ดูดท่องเที่ยว

07 พ.ย. 2565 | 19:22 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2565 | 07:58 น.

ปลัด อบจ.เมืองปากน้ำ สานต่อนโยบายนำสายไฟฟ้าลงดิน “ชนม์สวัสดิ์” ยก “จุฬา Smart Street Low Carbon” อังรีดูนังต์ เป็นต้นแบบ ตอบโจทย์พัฒนาเมืองให้สมบูรณ์ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ดึงท่องเที่ยวเพิ่มรายได้คนพื้นที่

นายวิมล มงคลเจริญ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ เปิดเผยว่า การนำสายไฟฟ้า และสายสื่อสารลงดินในพื้นที่กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะในระยะหลัง ๆ นี้ ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้หม้อแปลงไฟฟ้าบ่อยครั้ง

 

ล่าสุด ไฟไหม้หม้อแปลงไฟฟ้าย่านสำเพ็ง ซึ่งเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาแล้ว ได้สร้างความเสียหายตามมาอย่างมากมาย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และได้สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนเป็นอย่างมากในเวลาเดินผ่านบริเวณที่มีสายไฟ สายสื่อสารรกรุงรัง เพราะเกรงไม่ปลอดภัย เฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินผ่านเสาไฟฟ้าที่มีหม้อแปลงไฟฟ้าติดตั้งอยู่

 

วิมล  มงคลเจริญ ปลัด อบจ.สมุทรปราการ

 

สำหรับพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในเขตปริมณฑล เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาสายไฟฟ้า และสายสื่อสารระโยงระยางอยู่บนเสาไม่น่าดู ทั้งนี้สมุทรปราการเป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมายของรัฐบาล ในการนำสายไฟฟ้าลงดิน เฉพาะบริเวณพื้นที่ ๆ ที่มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน

 

นายวิมล กล่าวอีกว่า โครงการนำสายไฟฟ้าลงดินในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการริเริ่มโครงการโดย นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ โดยได้มอบนโยบายให้ อบจ. ในขณะนั้น ทำการศึกษาการนำสายไฟลงดิน พร้อมหม้อแปลงไฟฟ้าใต้น้ำ เพื่อยกระดับและพัฒนา จังหวัดสมุทรปราการ ให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม มีความทันสมัยอย่างยั่งยืน

 

หม้อแปลงไฟฟ้าชนิดจมน้ำ  อุปกรณ์สำคัญนำสายไฟฟ้าลงดิน

 

ปัจจุบันนางสาวนันทิดา แก้วบัวสาย นายก อบจ. คนใหม่ของสมุทรปราการ ก็ได้ให้ความสำคัญในนโยบายการพัฒนาเมืองตามแนวทางข้างต้น ด้วยการนำระบบสายไฟหม้อแปลงใต้น้ำลงดินทั้งระบบ โดยใช้โครงการที่ จุฬาฯ ทำเป็นตัวอย่างเพื่อการตอบโจทย์ สร้างจังหวัดสมุทรปราการ เป็นเมืองไร้สายที่งดงาม และสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนของระบบพลังงาน

ที่ผ่านมาตนได้ไปเยี่ยมชมโครงการการนำสายไฟลงดินทั้งระบบแห่งแรกของประเทศ ที่สยามสแควร์ ในโครงการ “จุฬา Smart Street Low Carbon” อังรีดูนังต์ โดยสถานที่ดังกล่าว ตอบโจทย์ด้านการพัฒนาเมืองที่สมบูรณ์ ด้วยการนำไฟฟ้าสายไฟฟ้า และหม้อแปลงใต้น้ำลงดินทั้งระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาสายไฟฟ้า สายสื่อสาร และหม้อแปลง บดบังหน้าบ้าน หน้าร้านให้หมดไป สร้างทัศนียภาพใหม่ให้เมืองดูสวยงาม

 

เมืองสมุทรปราการ

 

“เวลานี้สยามสแควร์ดูสะอาด สวยงามอย่างยิ่ง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ทันสมัย และยังเป็นสถานที่ที่ให้ข้อมูลการลดก๊าซเรือนกระจก ลดคาร์บอน ได้ 11.5% ของการผลิตกระแสไฟฟ้าหนุนให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งอาเซียน ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสมุทรปราการได้นำมาเป็นแบบอย่าง ส่งผลดีตามมาอีกมากมาย ทั้งเมืองมีความสวยงามเพิ่มขึ้น สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว ช่วยสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจของจังหวัดให้เติบโตอย่างยั่งยืนในประเด็นนี้ ผมพร้อมนำเสนอ อบจ.สมุทรปราการ ในการนำสายไฟ และหม้อแปลงลงดินทั้งระบบต่อไป” นายวิมล กล่าว