บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 "ลงทะเบียนไม่สมบูรณ์"ต้องทำอย่างไร เช็กด่วน

02 พ.ย. 2565 | 07:29 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2565 | 21:38 น.

คลังเผยยอดปิดลงทะเบียน"บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565" กว่า 22.29 ล้านคน "รายที่ลงทะเบียนสมบูรณ์"ให้รอประกาศผลเดือนม.ค.66 ส่วนที่ "ลงทะเบียนไม่สมบูรณ์" ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสนง.เขต โดยจะต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 17 พ.ย.นี้ เช็กที่นี่

 

ปิด"โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ  ปี 2565" (โครงการฯ) หลังเปิดรับลงทะเบียนโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565 ล่าสุดกระทรวงการคลังได้สรุปยอดพบว่า มีประชาชนลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 22,293,473 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เวลา 15.00 น.)  ทั้งนี้ จำนวนผู้ลงทะเบียนข้างต้น เป็นเพียงจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ เท่านั้น โดยการเป็นผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติตามโครงการฯ อีกครั้งหนึ่ง 

 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับผู้ลงทะเบียนที่ตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนแล้วพบข้อความว่า “สถานะการลงทะเบียนสมบูรณ์” ผู้ลงทะเบียนกลุ่มดังกล่าวไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ในช่วงนี้ โดยขอให้รอผลการตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้ง ซึ่งจะประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติดังกล่าวในช่วงเดือนมกราคม 2566

 

 

ลงทะเบียนไม่ผ่านแก้ไขข้อมูลภายใน 17 พ.ย.นี้

 

สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนแล้วและพบข้อความว่า “สถานะการลงทะเบียนไม่สมบูรณ์” สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ/สำนักงานเขต  โดยหากพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง  ขอให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง หรือหากพบว่าข้อมูลที่ลงทะเบียนไม่ตรงกับข้อมูลทะเบียนราษฎร์ เช่น จำนวนบุตรที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มีจำนวนมากกว่าข้อมูลบุตรที่ลงทะเบียนไว้ เป็นต้น

 

ให้ติดต่อแก้ไข โดยหากเป็นผู้ที่ลงทะเบียนที่หน่วยงานรับลงทะเบียนจะต้องติดต่อขอแก้ไขข้อมูล ณ หน่วยงานรับลงทะเบียนที่ผู้ลงทะเบียนได้ยื่นแบบฟอร์มลงทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น และสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ สามารถติดต่อขอแก้ไขข้อมูลที่หน่วยงานรับลงทะเบียนใดก็ได้ โดยจะต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2565
 

 

เปิดเกณฑ์ตรวจสอบคุณสมบัติ

 

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีผู้ลงทะเบียนที่มี “สถานะการลงทะเบียนสมบูรณ์”จะถูกตรวจสอบคุณสมบัติในขั้นตอนต่อไป โดยเกณฑ์การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนและครอบครัวของผู้ลงทะเบียนมีรายละเอียด ดังนี้

 

1. มีสัญชาติไทย และมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป  

 

2. ไม่เป็นบุคคลดังต่อไปนี้ ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน  ผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา

 

3. รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว รายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมรายได้ของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)

 

4. ทรัพย์สินทางการเงินได้แก่ เงินฝาก สลาก พันธบัตรและตราสารหนี้ภาครัฐ ของผู้ลงทะเบียนต้องมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว ทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมมูลค่าทรัพย์สินทางการเงินของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)

 

5. อสังหาริมทรัพย์ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

 

  • 5.1 กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว

 

1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)

1.1) กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว

 

- บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา  
- ห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

 

1.2) กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

 

2) ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย

 

 2.1) ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

 

2.2) ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่

 

  • 5.2 กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว

 

1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)

 

1.1) กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว

 

1.1.1) กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดิน ที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดินที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา  

 

1.1.2) กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

 

1.2) กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่  

 

2) ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย

 

2.1) ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่

 

2.2) ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่

 

6. ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีบัตรเครดิต ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง

 

7. ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ ดังนี้  

 

  • 7.1 วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท  
  • 7.2 วงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถศึกษารายละเอียดการดำเนินโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th