"รฟม." เมิน"บีทีเอส" ค้านประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

27 ต.ค. 2565 | 13:05 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2565 | 20:14 น.

"รฟม."แจง หลัง"บีทีเอส" ยื่น ครม.ค้านผลประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยันข้อเท็จจริงดำเนินคดี ไม่มีบทกฎหมาย ห้ามประมูลรอบใหม่ หวั่นประชาชนเสียโอกาส

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงกรณีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เรื่องคัดค้านและไม่ให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565ว่า ที่ผ่านมา BTSC ฟ้องศาลปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 300/2564 ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ BTSC ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมและการเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1

 

 

 

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 192/2565 พิพากษายกฟ้อง ในข้อหาที่ BTSC ฟ้องว่าการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ฯ เป็นการละเมิด เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท ปัจจุบันข้อหานี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากคู่ความได้ยื่นอุทธรณ์

 

 

 

ส่วนประเด็น BTSC ฟ้องศาลปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 354/2564 ยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฟ้องในข้อหาที่ BTSC มีคำขอให้ศาลพิพากษาห้าม รฟม. กระทำการที่เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่

 

 

 

 ทั้งนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1455/2565 พิพากษา เพิกถอนการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 แต่คำพิพากษาดังกล่าว ยังไม่มีผลบังคับจนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามมาตรา 70 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ปัจจุบัน ข้อหานี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากคู่ความได้ยื่นอุทธรณ์

 

 

 

 ขณะเดียวกันบริษัทเอกชน 2 รายที่ได้ยื่นข้อเสนอฯ ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ได้รับซองข้อเสนอกลับคืนไปแล้ว จึงไม่สามารถกลับไปดำเนินการได้อีก

รายงานข่าวจากรฟม.กล่าวต่อว่า กรณีที่BTSC ฟ้องศาลปกครองคดีหมายเลขดำที่ 1646/2565 โดยศาลปกครองกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีตามที่ BTSC ร้องขอ โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปว่า การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อประกอบการจัดทำประกาศเชิญชวนฯ และประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 มีการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การกำหนดคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์ด้านการก่อสร้างงานโยธาในระดับสูงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ประกาศเชิญชวนฯ มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้นกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 และประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC มิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่งคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเป็นที่สุดแล้วตามข้อ 73 วรรคสอง ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

 

 

 

 

ทั้งนี้ BTSC ได้ซื้อเอกสารคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ แต่เมื่อถึงกำหนดยื่นเอกสารข้อเสนอวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 มีเอกชน 2 รายที่ยื่นข้อเสนอ ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ ITD Group การที่ BTSC ไม่ยื่นเอกสารข้อเสนอไม่ว่าด้วยเหตุผลประการใด ทำให้ BTSC ไม่ใช่ผู้ยื่นข้อเสนอจึงทำให้ไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาคัดเลือกตามกระบวนการ

 

 

 

 

รายงานข่าวจากรฟม.กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ BTSC ฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ คดีหมายเลขดำที่ อท30/2564 โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ อท133/2565 ระหว่าง BTSC เป็นโจทย์ฟ้องนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ รวม 7 คน เป็นจำเลยในความผิดต่อหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 กรณีที่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ โดยศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การแก้ไขหลักเกณฑ์เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และกรณีที่มีการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งโจทย์หรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

 

 

 

 ทั้งนี้จากข้อเท็จจริงในการดำเนินคดี ไม่ปรากฏว่ามีบทกฎหมาย ห้ามมิให้ รฟม. หรือคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดำเนินการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ตามอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด การดำเนินการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่นี้ จึงเป็นกรณีที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซึ่งเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สามารถดำเนินการได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชน มิใช่ต้องหยุดชะงักลงเพียงเพราะการดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นไปตามความประสงค์ของเอกชนรายใดรายหนึ่ง

 

 

 

 

ส่วนประเด็นผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯนั้น คณะกรรมการของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินการยื่นข้อเสนอตามเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ระบุให้ ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องตรวจสอบและรับรองเอกสารข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ โดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายได้มีการยื่นหนังสือรับรองคุณสมบัติในการเข้าร่วมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ในกรณีที่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอมีความไม่ถูกต้องหรือเป็นเท็จ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีสิทธิที่จะไม่ยอมรับข้อเสนอ หรือปฏิเสธที่จะทำสัญญากับเอกชนรายนั้นได้ ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าว ได้มีการพิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 นั้น ได้กำหนดลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน โดยเอกชนที่มีลักษณะดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาในโครงการร่วมลงทุน

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีข้อสรุปว่า เมื่อได้ผู้ผ่านการคัดเลือก แล้วหากพบว่ามีข้อสงสัยในประเด็นตามประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ ดังกล่าว จะได้สอบถามไปยังคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ก่อนการประกาศรายชื่อผู้ชนะการคัดเลือกต่อไป ทั้งนี้เมื่อ ITD Group ไม่ได้เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกฯ จึงไม่ต้องดำเนินการใดๆ

 

 

 

 รายงานข่าวจากรฟม.กล่าวต่อว่า ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของ BTSC ที่ใช้ยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนตาม RFP ฉบับเดือน กรกฎาคม 2563 ข้อเสนอฯ ที่กล่าวอ้าง เป็นเอกสารที่ รฟม. มิได้เปิดซองเอกสาร และได้ส่งคืน BTSC แล้ว เนื่องจากได้มีการยกเลิกการคัดเลือกฯ ข้อเสนอฯ จึงไม่อยู่ในกระบวนการคัดเลือกที่ต้องตรวจสอบและประเมินซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และซองข้อเสนอด้านเทคนิค เพื่อให้ รฟม. มั่นใจได้ว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะสามารถดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดต่อประเทศชาติและประชาชนได้ ไม่ใช่การพิจารณาเพียงตัวเลขสรุปผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐเท่านั้น

 

 

 

 ทั้งนี้ รฟม. มีข้อสังเกตว่า ตัวเลขดังกล่าวของ BTSC มีความแตกต่างจากผลการศึกษาที่ รฟม. นำเสนอขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรีไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลการศึกษาได้ใช้สมมติฐานทางการเงินตาม MRT Assessment Standardization ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นสมมติฐานที่น่าเชื่อถือ และใช้ในทุกโครงการของ รฟม. รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และ สายสีเหลืองฯ ที่ BTSC ได้ยื่นข้อเสนอโดยเสนอขอรับการสนันสนุนสุทธิเป็นไปตามผลการศึกษา จนกระทั่งได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทาน

 

 

 

 จากการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ได้ดำเนินการตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2564 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เรื่อง ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ตัวแทนจากภาคเอกชน ได้ส่งผู้สังเกตการณ์ 5 ท่าน เข้าร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน ทั้งนี้ผู้สังเกตการณ์มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานผลการสังเกตการณ์ และในกรณีที่พบเห็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริตให้แจ้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยเร็ว เพื่อให้มีการชี้แจงหรือแก้ไขในระยะเวลาที่ผู้สังเกตการณ์กำหนด หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ชี้แจงหรือแก้ไข ให้ผู้สังเกตการณ์แจ้งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อรายงานต่อ สคร. และกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง สำหรับกรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ซึ่งผู้สังเกตการณ์ได้เข้าร่วมการประชุมครบทุกครั้ง ไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้รับแจ้งข้อสังเกตใดจากผู้สังเกตการณ์

 

 

 

 นอกจากนี้การคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน พฤษภาคม 2565 ได้ผ่านการตรวจสอบจากกระบวนยุติธรรม และการตรวจสอบจากตัวแทนภาคเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านคอร์รัปชันที่น่าเชื่อถือ ตามหลักการข้อตกลงคุณธรรม มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เปิดกว้างให้เอกชนสามารถร่วมแข่งขันเสนอราคา และการดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามขอบเขตอำนาจที่กฎหมายกำหนด

 

 

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)