กรรมาธิการศึกษาติดตามงบฯเปิดเวทีใหญ่อุดรธานีขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย-ลาว

21 ต.ค. 2565 | 16:58 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2565 | 00:05 น.

กรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร     จัดสัมมนาเรื่อง "การบริหารงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" วันพุธที่ 26 ตุลาคม 2565  ที่ศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ฮอลล์ อุดรธานี

กิจกรรมสัมมนาครั้งนี้ มีวิทยากรให้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นานอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงานสัมมนาและบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการค้าชายแดนและการลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว”

 

จากนั้นนายคำพัน อั่นลาวัน เอกอัครรัฐทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย ร่วมกล่าวปาฐกถา เรื่อง “ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในมิติด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน”

กรรมาธิการศึกษาติดตามงบฯเปิดเวทีใหญ่อุดรธานีขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย-ลาว

จากนั้นเป็นการวงสัมมนาเพื่อนำเสนอในมุมมองของภาคเอกชนและตลาดทุน ประกอบด้วย หัวข้อเรื่อง “รถไฟจีน – ลาว – ไทย เปิดโอกาสทางการค้าใหม่ให้นักธุรกิจไทยได้จริงหรือ” โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสำร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน และเรื่อง “นโยบายและความร่วมมือระหว่างตลาดทุนไทยและลาว รวมทั้งการส่งเสริมด้านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)”  โดย นางสาววันวิสาข์ พันธุ์ดำ รองผู้อำนวยการฝ่ายผู้ออกหลักทรัพย์ 4 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

หลังจากแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและตอบข้อซักถามแล้ว นายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ  สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้กล่าวปิดการสัมมนา

ทั้งนี้ กรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยนายไชยา   พรหมา เป็นประธานคณะกรรมาธิการ รองประธานมี นายการุณ   โหสกุล นายสุรเชษฐ์   ประวีณวงศ์วุฒิ นางสาวมัลลิกา   จิระพันธุ์วาณิช พลตำรวจตรี สุรินทร์   ปาลาเร่ 

 

มีนายนิยม   เวชกามา เป็นเลขานุการคณะกมธ. นายสมพงษ์   โสภณ เป็นผู้ช่วยฯ นายณัฐพงษ์   เรืองปัญญาวุฒิ โฆษกคณะกรรมาธิการ ที่ปรึกษาฯ มีนายประสงค์   บูรณ์พงศ์ นายธีระ   วงศ์สมุทร นาย สุภดิช   อากาศฤกษ์ และนายสุรทิน   พิจารณ์ และกมธ. มีนายมณเฑียร   สงฆ์ประชา นายชัยทิพย์   กมลพันธ์ทิพย์ นายประเสริฐ   จันทรรวงทอง

 

นับแต่ทางการสปป.ลาวเปิดใช้รถไฟจีน-ลาว ตั้งแต่เดือนธ.ค.2564 เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าและการเดินทางใหม่ทางรางเชื่อมสู่จีนตอนใต้ โดยในช่วงนี้ในด้านการสัญจรยังคงเดินทางไปเฉพาะในพื้นที่สปป.ลาว เนื่องจากจีนใช้นโยบายซีโรโควิด ยังไม่เปิดรับคนเดินทางเข้า-ออก แต่เปิดให้ขนส่งสินค้าผ่านเข้าออกได้ ซึ่งก็สร้างความคึกคักในการเปิดการขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย-สปป.ลาว-จีนเพิ่มมากขึ้น 

 

ทางการไทย-สปป.ลาวเร่งทำรายละเอียดการเชื่อมโยงการขนส่งระบบรางระหว่างกัน เพื่อให้สะดวกสบายที่สุด โดยฝั่งสปป.ลาวจะต่อรางรถไฟจีน-ลาว จากสถานีเวียงจันทน์ มายังท่าบกท่านาแล้ง เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าของระบบรถไฟจีน-ลาว ซึ่งเป็นราง 1.435 เมตร กับระบบรางขนาด 1 เมตรของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) สายอีสานที่ข้ามแม่น้ำโขงที่หนองคาย ไปถึงสถานีท่านาแล้งในสปป.ลาว 

 

ขณะเดียวกันในฝั่งไทย รฟท.พัฒนาสถานีนาทา ให้เป็นลานคอนเทนเนอร์ โกดังพักสินค้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า และทั้งสองประเทศอยู่ระหว่างหารือแผนก่อสร้างสะพานข้ามน้ำโขงเพิ่มอีก 1 สะพาน เพื่อรองรับการขนส่งทางรางและโครงการรถไฟไทย-จีน ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในไทย และจะไปเชื่อมกับรถไฟจีน-ลาวที่สถานีเวียงจันทน์ในอนาคต ซึ่งจะสร้างความเจริญสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุดรธานีและหนองคาย ซึ่งอยู่ในแนวเส้นทางรถไฟและเป็นจุดเชื่อมต่อจากไทยสู่สปป.ลาว