สทนช. ถกผู้มีส่วนได้เสีย ร่างผังน้ำ “ปิง วัง ยม น้ำ”ก่อนจัดการเชิงพื้นที่

18 ต.ค. 2565 | 15:03 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2565 | 22:24 น.

สทนช.ลงพื้นที่นำเสนอร่างผังน้ำฉบับร่าง 1 พื้นที่ภาคเหนือ 4 ลุ่มน้ำสำคัญ ปิง วัง ยม น่าน ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน หวังใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ทิศทางการไหลของน้ำ แก้มลิง

นางสาวแทนฤทธา ศุภนิเวศพ์ ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงาน ลุ่มน้ำน่าน ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผย หลังการประชุมผังน้ำครั้งที่ 2 ว่า สทนช. ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจัดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 2  พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน เวทีที่ 2 โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ณ จังหวัดพิจิตร เพื่อนำเสนอร่างผังน้ำ ฉบับที่ 1  ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

 

ทั้งนี้เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงจัดทำร่างผังน้ำ และนำมารับฟังความคิดเห็นในการประชุมครั้งต่อไป โดยมีนายชนก  มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เป็นประธานเปิดการประชุม มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง

สทนช. ถกผู้มีส่วนได้เสีย ร่างผังน้ำ “ปิง วัง ยม น้ำ”ก่อนจัดการเชิงพื้นที่

 

ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ดำเนินการศึกษาและทบทวนกายภาพของพื้นที่ การใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีตถึงปัจจุบัน ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง การพัฒนาเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนที่แสดงโครงข่ายระบบระบายน้ำในปัจจุบัน ทิศทางการไหลของน้ำ วิเคราะห์สภาพและสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง  แผนที่แสดงระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัย การบริหารจัดการอุทกภัย การบริหารจัดการภัยแล้ง และการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จากหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อนำมากำหนดขอบเขตผังน้ำ โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์

 

สทนช. ถกผู้มีส่วนได้เสีย ร่างผังน้ำ “ปิง วัง ยม น้ำ”ก่อนจัดการเชิงพื้นที่

 

โดยผลการวิเคราะห์และจัดทำร่างผังน้ำ (ฉบับร่าง 1) ลุ่มน้ำน่าน จำแนกเป็น 3 รหัสโซนรวมพื้นที่ 2,111,571 ไร่ ได้แก่ พื้นที่น้ำหลากริมลำน้ำ (ลน.) จำนวน 16,787 ไร่ พื้นที่น้ำหลากระบาย (ลร.) จำนวน 2,054,933 ไร่ และพื้นที่น้ำนอง (น.) จำนวน 39,851 ไร่ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีข้อเสนอแนะในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำ เบี่ยงเบนการไหลของน้ำ และผังน้ำจะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อมีการควบคุมการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ผังน้ำอย่างเหมาะสม เช่น เขตชลประทานน้ำนองและเขตที่กำหนดไว้เป็นทางน้ำหลาก ควรเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทเกษตรกรรม พื้นที่แก้มลิงกำหนดให้เป็นที่โล่ง

 

ส่วนเขตที่กำหนดไว้เป็นชุมชนและอุตสาหกรรมตามผังเมืองรวมจังหวัด ควรมีระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วม โดยการจัดทำผังน้ำมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 30 ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485 เทศบัญญัติและข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นต้น กฎหมายเหล่านี้จะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ผังน้ำเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุด

 

สทนช. ถกผู้มีส่วนได้เสีย ร่างผังน้ำ “ปิง วัง ยม น้ำ”ก่อนจัดการเชิงพื้นที่

 

สำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกรประชุมในวันนี้ ทาง สทนช. และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จะนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาทางวิชาการและปรับปรุงผังน้ำให้มีความเหมาะสมและนำมารับฟังความคิดเห็นในการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 3 ที่จะมีขึ้นประมาณเดือนมกราคม 2566