เจาะแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารพร้อมทานปี 65-67

02 ต.ค. 2565 | 14:34 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2565 | 21:44 น.
3.5 k

วิจัยกรุงศรี เผยแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารพร้อมทานปี 65-67 ยังคงเติบโต ทั้งในกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ราคาจูงใจในช่วงกำลังซื้อที่ทยอยฟื้นตัว และ อาหารแช่แข็งที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เร่งรีบ

วิจัยกรุงศรี เปิดเผยบทความแนวโน้ม-อุตสาหกรรมอาหารพร้อมทานปี 2565-2567 โดยระบุว่ามูลค่าตลาดอุตสาหกรรมอาหารพร้อมทานจะยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งตลาดในประเทศที่เป็นตลาดหลักมีแนวโน้มเติบโตตามบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่น่าจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากเป็นอาหารทางเลือกที่คาดว่ายังมีราคาจูงใจในช่วงที่กำลังซื้อยังทยอยฟื้นตัว 

 

ส่วนตลาดอาหารพร้อมทานแช่เย็น-แช่แข็งมีแนวโน้มเติบโตดีตามการขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายหลัก ประกอบกับการขยายตัวของชุมชนเมืองที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเน้นการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบและต้องการความสะดวกสบาย

 

ขณะที่ตลาดต่างประเทศ คาดว่าจะเติบโตดี โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะได้ประโยชน์จากการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดในการตรวจ/ปล่อยสินค้า และเปิดจุดผ่านแดนมากขึ้นหลังภาวะระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย 
 

ส่วนอาหารพร้อมทานแช่เย็น-แช่แข็งมีแนวโน้มขยายตัวต่ำในปี 2565 ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ที่ชะลอตัวลงก่อนจะเติบโตดีขึ้นในปี 2566-2567 เนื่องจากอาหารที่ผลิตจากไทยยังคงได้รับการยอมรับทั้งด้านความสะอาด ปลอดภัย และรสชาติ อีกทั้งเป็นอาหารเพื่อสุขภาพตามกระแสความนิยมในตลาดโลก

 

โดยแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันและวัตถุดิบธัญพืชจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจมีผลกดดันความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในปี 2565

 

วิเคราะห์รายได้ผู้ประกอบการ -ปัจจัยต่างๆ


มุมมองวิจัยกรุงศรี คาดว่ารายได้ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารพร้อมทานโดยรวมในปี 2565-2567 จะยังเติบโตต่อเนื่อง โดยตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศน่าจะขยายตัวได้ในอัตราที่ไม่สูงนัก ขณะที่ตลาดส่งออกยังมีทิศทางเติบโตดีในปี 2566-2567  ส่วนตลาดอาหารพร้อมทานแช่แข็งจะยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกตามการขยายตัวของชุมชนเมือง และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และความนิยมของตลาดคู่ค้าหลัก 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตยังมีความเสี่ยงจากต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง และนโยบายภาครัฐที่อาจจัดเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียมเป็นการเพิ่มภาระต้นทุน และมีผลกดดันความสามารถในการทำกำไรของผู้ผลิต
 

ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
คาดว่ารายได้ของผู้ประกอบการจะยังเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อลดภาระค่าครองชีพ การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมจะยังคงรุนแรงจากอาหารพร้อมทานประเภทอื่น และสินค้าทดแทนที่มีอยู่หลากหลายเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ผลักดันให้ผู้ผลิตต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดผู้บริโภค

 

สำหรับต้นทุนการผลิตทั้งน้ำมันปาล์มและข้าวสาลีในปี 2565 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน) แต่คาดว่าจะเริ่มผ่อนคลายลงในปี 2566-2567 เนื่องจากคาดว่าปริมาณข้าวสาลีและน้ำมันปาล์มจะทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น  

 

ทั้งนี้ แม้ต้นทุนจะปรับสูงขึ้นแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทำให้การปรับขึ้นราคาจำหน่ายตามต้นทุนทำได้จำกัด  สำหรับในระยะต่อไปภาครัฐอาจพิจารณาจัดเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียมซึ่งคาดว่าอาจมีผลบังคับใช้ในช่วงปี 2566-2567 อาจเพิ่มภาระต้นทุนแก่ผู้ผลิต และกดดันความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ

 

ด้านการส่งออกคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องตามความต้องการของประเทศคู่ค้า และตลาดยังมีอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปค่อนข้างต่ำโดยเฉพาะเมียนมา และกัมพูชา

 

ผู้ผลิตอาหารแช่แข็ง

คาดว่ารายได้จะเติบโตดี ปัจจัยหนุนจากตลาดในประเทศที่เติบโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของชุมชนเมืองและร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่เน้นการแข่งขันจัดโปรโมชั่น ส่วนลด เพื่อดึงดูดลูกค้า พร้อมนำเสนอเมนูใหม่ที่ผู้ประกอบการพัฒนาสู่ตลาดในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น

 

ส่วนตลาดส่งออกคาดว่าจะขยายตัวต่ำในปี 2565 จากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐฯ และยุโรป แต่จะเติบดีขึ้นในปี 2566-2567 เนื่องจากอาหารที่ผลิตจากไทยได้รับการยอมรับจากต่างชาติทั้งด้านคุณภาพ และรสชาติ

 

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้ยังมีปัจจัยกดดันด้านต้นทุนการผลิต ได้แก่

  • ราคาวัตถุดิบการเกษตรและเม็ดพลาสติก HDPE ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2565  ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยน่าจะเริ่มผ่อนคลายลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2566-2567
  • ความเข้มงวดด้านการตรวจสอบสินค้าของประเทศคู่ค้า อาทิ การผลิตภายใต้การควบคุมคุณภาพและการรับรองตามมาตรฐานต่างๆ อาทิ ระบบ HACCP, GMP, ISO 9001-2000 และ HALAL รวมถึงข้อกำหนดการติดฉลาก และระบบการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตวัตถุดิบ ซึ่งอาจเพิ่มค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านปรับปรุงกระบวนการผลิต

 

 

ที่มาบทความ