เทคโนโลยี AI แก้โจทย์ เฮลท์แคร์ ลดต้นทุน-เข้าไม่ถึงการรักษา

25 ก.ย. 2565 | 08:55 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2565 | 16:00 น.

ชู “เทคโนโลยี AI” เร่งแก้โจทย์ใหญ่ Healthcare โลก “มูฮัมหมัด ยูนูส” แนะเดินหน้า Social business สานต่อสู่ระบบการดูแลสุขภาพ ผ่านการรักษาทางไกล ช่วยลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาล ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสในการเข้าถึง พร้อมจับมือ THG สร้างโมเดลเชื่อมโยงเฮลท์แคร์ในไทย

โจทย์ความท้าทายอย่างหนึ่งของวงการสาธารณสุขทั่วโลก นอกเหนือจากเรื่องของ “โรคอุบัติใหม่” โรคร้ายแรงและโรคเรื้อรังที่ยังหาแนวทางรักษาไม่ได้ เรื่องของการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย ความเหลื่อมล้ำและกระจุกตัวอยู่ในสังคมของคนมีเงิน ในขณะที่คนยากจนโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลถูกจำกัดการเข้าถึงการรักษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

              

ในช่วงที่ผ่านมา วงการสาธารณสุขทั่วโลกมีความพยายามสร้าง “ระบบการแพทย์ทางไกล” ขึ้นมาเพื่อลดขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และกระจายโอกาสเข้าถึงการรักษาให้กับคนไข้ยากจนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่เฉพาะในแวดวงทางการแพทย์เท่านั้น แต่ผู้ที่อยู่นอกอุตสาหกรรมก็ให้ความสนใจในการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีนด้วยเช่นกัน จนเกิดเป็นที่มาของ Social business ซึ่งเป็นการเดินหน้าธุรกิจเพื่อสังคมโดยไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร แต่ผนึกรวมเรื่องของระบบการดูแลสุขภาพเข้ามา

              

ภายใต้แนวคิดและการริเริ่มโดยนายมูฮัมหมัด ยูนูส นายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ ผู้ริเริ่มและพัฒนาแนวคิด “ไมโครเครดิต” หรือการให้กู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และเป็นผู้ก่อตั้ง “กรามีน แบงค์” (ธนาคารหมู่บ้าน) หรือธนาคารกรามีน จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2549

มูฮัมหมัด ยูนูส

สำหรับความพยายามในการสร้างพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจากเบื้องล่าง และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิกรามีน โดยยูนูส ได้นำส่วนแบ่งรางวัลมูลค่า 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปสร้างบริษัทเพื่อผลิตอาหารซึ่งมีต้นทุนต่ำแต่คุณค่าทางโภชนาการสูงสำหรับคนยากจน ส่วนที่เหลือถูกใช้เพื่อการก่อตั้งโรงพยาบาลสำหรับคนยากจนในบังกลาเทศ

 

“ยูนูส”เริ่มทำระบบประกันสุขภาพซึ่งเริ่มต้นเพียง 4 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเพื่อกระจายคนยากจนเข้าสู่ระบบการดูแลสุขภาพ แต่ปัญหาหลักๆ ที่เจอคือ การที่จะให้หมอเดินทางเข้าถึงชุมชนเหล่านั้นเพื่อไปรักษาประชาชนที่มีความยากจน จึงจัดตั้งศูนย์รักษาสุขภาพในหมู่บ้านและดึงหมอเข้ามาประจำในศูนย์ชุมชน

 

ซึ่งก็เป็นแนวคิดของการช่วยเหลือตัวเองในระดับชุมชนและเพื่อสร้างระบบให้สามารถบริหารจัดการด้วยตัวเองได้ พร้อมก่อตั้งมูลนิธิกรามีนขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันในระบบของเรามีโรงพยาบาลและศูนย์ Healthcare จำนวน 155 แห่งทั่วประเทศซึ่งศูนย์ต่างๆเหล่านี้สามารถดูแลและพึ่งพาตัวเองได้ นอกจากนี้เราจัดตั้งสถานพยาบาลที่ดูแลในเรื่องของจักษุที่ชื่อว่า Icare center ในพื้นที่ด้วย

เทคโนโลยี AI แก้โจทย์ เฮลท์แคร์ ลดต้นทุน-เข้าไม่ถึงการรักษา               

จากกลไกการจัดตั้ง Social business ในลักษณะนี้ ทำให้เราสามารถจัดตั้งโรงพยาบาลจักษุแห่งที่ 2 ขึ้นมาได้จากเงินที่ได้มาจากโรงพยาบาลแห่งแรก หลังจากที่โรงพยาบาลแห่งที่ 2 ก่อตั้งขึ้นมาความเร็วในการขยายโรงพยาบาลก็จะเร็วขึ้นเฉลี่ยปีละ 1 แห่ง”

              

นายยูนูสกล่าวต่อไปอีกว่าอีกปัญหาหนึ่งที่พบในประเทศบังคลาเทศก็คือปัญหาของการขาดแคลนพยาบาล โดยอัตราส่วนพยาบาลต่อหมอคือหมอ 3 คนต่อพยาบาล 1 คนซึ่งต่างจากกลไกประเทศอื่นๆที่จะต้องมีพยาบาล 3 ต่อคนหมอ 1 คนซึ่งจะเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกว่า ที่ผ่านมาเราพยายามแก้ไขปัญหาโดยจัดตั้งวิทยาลัยพยาบาลในบังกลาเทศขึ้นมา

              

นอกจากนี้ยูสูสยังมีแนวคิดที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลในลักษณะของศูนย์รักษาพยาบาลตามพื้นที่ชายแดน หรือดิจิตอล บ็อกเกอร์ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เทคโนโลยีติดต่อกับหมอ โดยที่ไม่ต้องเดินทาง เพราะปัจจุบันในบังคลาเทศผู้ป่วยห่างไกลจะต้องเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น

              

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางส่งเสริมการเข้าถึงการดูแลสุขภาพของคนยากจน ยูนูส ได้เดินทางมาศึกษาโรงพยาบาลต่างๆทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย โดยเดินทางเข้าศึกษาระบบการจัดการธุรกิจเฮลท์แคร์ในเครือ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ปหรือ THG ซึ่งยูนูส มองว่า ผู้ก่อตั้ง THG มีแนวคิดที่สอดรับคล้ายคลึงกันนั่นคือการช่วยเหลือสังคม

 

“การจัดตั้ง Social business ไม่ว่าจะเป็นด้านของเภสัชศาสตร์ ด้าน Healthcare หรือการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนทั่วไปก็ดี ท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์ที่จะได้รับก็จะตกอยู่กับประชาชนโดยทั่วไปในทุกระดับเพราะเรื่องของ Healthcare หรือการดูแลและสุขภาพเป็นเรื่องที่ตลกในแง่ของการรักษาที่ไม่ครอบคลุมทุกระดับของชนชั้น เพราะแม้กระทั่งในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ตามเรื่องของการดูแลระบบ Healthcare กระจุกตัวในชนชั้นคนที่มีเงิน ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงระดับล่าง เราจึงอยากที่จะเข้ามาเรียนรู้ระบบและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ THG ในเรื่องของการทำโรงพยาบาล”

              

ด้านนางสาวนลิน วนาสิน กรรมการบริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า จากสถิติพบว่าประชาชนประมาณ 2 ล้านคนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครยังเข้าถึงระบบการรักษาสุขภาพไม่ได้ เพราะภาครัฐมีข้อจำกัดในการรองรับผู้ป่วย ซึ่งเราได้พบกับตัวแทนของสปสช.และกรุงเทพมหานครเพื่อให้ประชาชน 2 ล้านคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งปัญหาหลักๆที่เจอก็คือการเจ็บป่วยภายในที่จำเป็นต้องรับการรักษาเฉพาะทาง ซึ่งวิธีการหนึ่งที่จะลดค่าใช้จ่ายได้ก็คือใช้ระบบ AI หรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยรักษาผ่านเทเลเมดิซีน ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงไปครึ่งหนึ่งและทำให้ผู้ป่วยเหล่านั้นสามารถเข้าถึงการเข้าถึงพยาบาลได้

              

แนวความคิดของ THG คือเราจะจัดตั้งหน่วยแพทย์โดยใช้หมอไม่กี่คนและมีพื้นที่เล็กๆที่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยครบถ้วนเพื่อทำเทเลเมดิซีนให้หมอสามารถติดต่อออนไลน์กับผู้ป่วย ซึ่งน่าจะสามารถเข้าถึงผู้ป่วยระดับเขตระดับเมืองได้ เราพยายามจะผลักดันตรงนี้ให้เกิดขึ้นในเร็วๆ

              

“เราเชื่อมั่นในการให้คุณค่ากับการรักษาพยาบาลที่คนส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงได้ เราพยายามที่จะหาโซลูชั่นและวิธีการรักษาพยาบาลที่หลากหลายเช่นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อสามารถคุมต้นทุนและเข้าถึงประชาชนในวงกว้างขึ้น ซึ่งเป็นวิชั่นหนึ่งที่เราคอยดูตลอดและอยากที่จะเติบโตไปในทางนี้ด้วย ในอนาคตเราจะใช้เทคโนโลยีเพื่อที่จะกระจายความสามารถของแพทย์ในระบบของเราให้มีศักยภาพในการดูแลประชาชนกว้างขวางมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเช่น เทเลเมดิซีน ไปวางไว้ในที่ต่างๆ

              

สำหรับการมาเยือนของ ยูนูส ครั้งนี้ก็อยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยในการสร้างองค์กรที่จะผลิตยา ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรมากนักเพื่อผลิตยาให้กับประชาชนในวงกว้าง หรืออาจเป็นการเข้าไปแบ่งปันความรู้ความสามารถในการบริหารคลินิกหรือโรงพยาบาลของยูนูสในบังกลาเทศ ในรูปแบบของ Social business หรือการนำผลตอบแทนจัดกิจกรรมหรือการรักษาพยาบาลไปใส่ในกิจกรรมเพื่อสังคมต่อไปเพื่อเป็นการต่อยอดไปเรื่อยๆ”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,820 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2565