หอการค้าบึงกาฬ จับมือ‘ลาว’ บูมเที่ยวข้ามแดน 2 ฝั่งโขง

16 ก.ย. 2565 | 12:39 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2565 | 19:53 น.

หอการค้าบึงกาฬยกคณะข้ามโขง เข้าพบสภาการค้า บอลิคำไซ จับเข่าหารือฟื้นความร่วมมือทุกมิติให้เป็นปกติดังเดิม พร้อมวางรากฐานร่วมรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่จะตามมาหลังเปิดใช้สะพานข้ามโขง 5 ช่วงแรกเน้นบูมท่องเที่ยวข้ามแดน 2 ฝั่งโขงฟื้นเศรษฐกิจพื้นที่

นายบุญเพ็ง ลามคำ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยว่า หลังการระบาดเชื้อโควิด-19 คลี่คลาย มีการเปิดชายแดนไทย-สปป.ลาว ตลอดแนวพรมแดนตามลำนํ้าโขง ทำ ให้ผู้คนกลับมาเดินทางข้ามโขงไปมาติดต่อหากันได้ตามปกติ ภายใต้การเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัย ควบคุมไม่ให้กลับมาแพร่ระบาดอีก

 

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ ได้เดินทางข้ามแม่นํ้าโขง ไปพบกับท่านชัยเพชร จันที่สอน ประธานสภาการค้าประจำแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ที่นำคณะร่วมประชุมพูดคุยอย่างไม่เป็นการ เพื่อเตรียมการความร่วมมือต่างๆ ระหว่างเอกชนจังหวัดบึงกาฬและแขวงบอลิคำไซ ที่จะแน่น แฟ้นยิ่งขึ้นหลังการก่อสร้างสะพานข้ามนํ้าโขง 5 (บึงกาฬ- บอลิคำไซ) แล้วเสร็จ ในลักษณะเมืองคู่ขนานริมสองฝั่งโขง ดังที่ได้ติดต่อสัมพันธ์ข้ามไปมาระหว่าง กันมาแต่ก่อนฉันท์ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจชายแดนในระดับท้องถิ่น

นายบุญเพ็ง ลามคำ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ

หอการค้าบึงกาฬ จับมือ‘ลาว’ บูมเที่ยวข้ามแดน 2 ฝั่งโขง

“ช่วงการระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้ทั้งไทยและลาวต่างปิดพรมแดน เพื่อควบคุมการระบาด การเดินทางข้ามกันไปมาต้องยุติลงชั่วคราว แต่ระหว่างนั้นเอกชนบึงกาฬประสานกับภาคเอกชนแขวงบอลิคำไซทางโทรศัพท์อย่างไม่เป็นทาง การอยู่เป็นระยะ โดยเห็นร่วมกันว่าเมื่อกลับมาเปิดพรมแดนจะได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ด้านต่างๆ กลับคืนมาโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยว ที่จะฟื้นกลับมาได้เร็วที่สุด”

 

นายบุญเพ็งกล่าวอีกว่า การรื้อฟื้นความร่วมมือระหว่างบึงกาฬกับบอลิคำไซ ยังเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยน แปลงที่จะเกิดขึ้น จากการเปิดสะพานข้ามโขง 5 เชื่อมโยงโครง ข่ายโลจิสติกส์ไทย-สปป.ลาว รวมถึงเมกะโปรเจ็กลาวที่จะต่อทางรถไฟ-ทางด่วน สายเวียง จันทน์-คำม่วน-ท่าเรือนํ้าลึกหวุ่ง อ๋างในเวียดนาม ที่จะเปลี่ยนลาวให้เป็นแลนด์ลิงก์ และการตัด ถนนสายใหม่อุดรธานี-บึงกาฬ 155 กิโลเมตรในไทย เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสู่พื้นที่ทั้งฝั่งไทยและสปป.ลาวในอนาคต

หอการค้าบึงกาฬ จับมือ‘ลาว’ บูมเที่ยวข้ามแดน 2 ฝั่งโขง

หอการค้าบึงกาฬ จับมือ‘ลาว’ บูมเที่ยวข้ามแดน 2 ฝั่งโขง

ก่อนสะพานข้ามโขง 5 จะแล้วเสร็จและเปิดใช้งาน ระหว่างนี้ภาคเอกชน 2 ฝั่งโขง เห็นร่วมกันว่า จะเน้นไปที่การท่องเที่ยวสองฝั่งริมนํ้าโขง ตามที่ได้หารือกันอย่างไม่เป็นทาง การมาก่อนหน้านี้ ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้ สร้างงานได้เป็นอันดับต้นๆ ของท้องถิ่นและประเทศ โดยจะร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาคนในแวดวงการท่องเที่ยวท้องถิ่น และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของทั้งสองฝั่ง ให้มีความสะดวกสบาย สามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่ต้องอยู่ในกฎระเบียบของแต่ละพื้นที่

 

การท่องเที่ยวตามริมแม่นํ้าโขงของจังหวัดบึงกาฬ และเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ  จะส่งเสริมให้ครบทั้ง 3 มิติคือ การท่องเที่ยวเชิงธรรมะ หรือสายมู เชิงธรรมชาติ และเชิงวัฒนธรรมประเพณี โดยในบึงกาฬและการท่องเที่ยวกลุ่มนคราธานีของอีสานตอนบน มีการพัฒนาเส้นทางนาคา-นาคี อยู่แล้ว รวมทั้งเพื่อเสริมกับโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเลียบริมนํ้าโขง 7 จังหวัด หรือ “โรแมนติก รูทส์” ของหอการค้าไทย

หอการค้าบึงกาฬ จับมือ‘ลาว’ บูมเที่ยวข้ามแดน 2 ฝั่งโขง

อีกกิจกรรมคือ ส่งเสริมการแข่งขันกีฬาประจำถิ่น เพื่อสร้างความมั่นใจ ความเข้าใจ และสัมพันธ์ระดับท้องถิ่นชาย แดน ให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เช่น กีฬาแข่งเรือยาวในแม่นํ้าโขงที่เคยจัดเป็นงานประจำปี แต่ต้องหยุดไปช่วงโควิดระบาด ได้ตกลงที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง พร้อมกันนี้ก็จะจัดให้มีการแลกเปลี่ยน หรือร่วมกันจัดการแข่งขันกีฬาท้องถิ่น ระหว่างทั้งสองฝั่ง เพื่อเป็นส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน

 

ประธานหอการค้าบึงกาฬ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการค้าชายแดนระหว่างบึงกาฬ-ปากซัน มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ล่าสุดช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 2565) มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 3,300 ล้านบาท ซึ่งกระเตื้องขึ้นเป็นที่น่าพอใจ และจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคต หลังเปิดใช้สะพานข้ามโขง 5 ที่จะสะดวกรวดเร็วกว่าปัจจุบัน ที่ขนส่งลงเรือแพขนานยนต์ข้ามนํ้าโขง ได้พูดคุยการส่งเสริมการค้าชาย แดนระหว่างกันให้มากขึ้น

หอการค้าบึงกาฬ จับมือ‘ลาว’ บูมเที่ยวข้ามแดน 2 ฝั่งโขง

ปัจจุบันผลผลิตสำคัญของจังหวัดบึงกาฬคือ ยางพาราแปรูป ที่มีตลาดใหญ่อยู่ประเทศจีน ได้ปรับการขนส่งจากเดิม ไปใช้การขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว มากขึ้น สามารถลดต้นทุนการขนส่งลงไปได้ในระดับหนึ่ง และได้รับความสะดวกมากกว่าการขนส่งในระบบเดิม

 

นายบุญเพ็งกล่าวอีกว่า การกลับมาพูดคุยความร่วมมือในระดับท้องถิ่น ของหอการค้าบึงกาฬ และสภาการค้าประจำแขวงบอลิคำไซใหม่ในครั้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้แสดงความยินดี ต่อการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิค-19 ได้คลี่ คลายลงไป จนทำให้ประชาชนทั้งสองฝั่งสามารถเดินทางไปมาติดต่อกันได้ แม้ว่าจะยังไม่เหมือนเดิมทั้งหมดก็ตาม

หอการค้าบึงกาฬ จับมือ‘ลาว’ บูมเที่ยวข้ามแดน 2 ฝั่งโขง

และมีหลายเรื่องหลายประเด็น ที่มีความเห็นร่วมกันแบบฉันท์พี่น้อง เพื่อนบ้านใกล้ชิดกัน ที่มีประเพณีวัตนธรรม ภาษาพูดที่เข้าใจกันได้ โดยไม่ต้องอาศัยล่ามแปล พร้อมกันนี้ก็มีความเห็นร่วมกัน ในการให้มีการพบปะพูดคุยในลักษณะนี้กันให้บ่อยครั้งมากขึ้น เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า 

 

ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 33,818 วันที่ 15-17 กันยายน พ.ศ.2565