ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้สถานการณ์ราคาสินค้าสูงจะลากยาวไปอีกอย่างน้อย 1 ปี

27 ส.ค. 2565 | 20:40 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2565 | 04:14 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจสถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง พบครัวเรือนส่วนใหญ่ มองว่าระดับราคาสินค้าจะอยู่ในระดับสูงไปอีกเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ลดกิจกรรมกินเลี้ยงสังสรรค์ และบริโภคสินค้าเดิมในปริมาณที่ลดลง

แม้ราคาพลังงานจะยังอยู่ในระดับสูงแต่ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนมิ.ย.65 หนุนให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้าที่สำรวจในเดือนก.ค.65 ปรับดีขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 32.5 และ 34.0 จาก 30.8 และ 32.9 ในเดือนมิ.ย.65

 

นอกจากนี้ การทยอยผ่อนคลายมาตรการการเปิดประเทศทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยหนุนมุมมองเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบของดัชนี พบว่า ครัวเรือนส่วนมากยังมองว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงขึ้น ขณะที่จำนวนครัวเรือนที่กังวลเรื่องอนาคตจึงใช้จ่ายลดลงในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น   

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องระยะเวลาและสถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65.6) มองว่าระดับราคาสินค้าจะอยู่ในระดับสูงไปอีกเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี โดยปัจจุบันได้มีการเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยส่วนมาก (ร้อยละ 27.7) มีการปรับลดการใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เช่น กินเลี้ยงสังสรรค์ และบริโภคสินค้าเดิมในปริมาณที่ลดลง

 ในระยะข้างหน้าครัวเรือนยังมีแนวโน้มเผชิญสถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง ทั้งจากการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตมาสู่ผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น สถานการณ์ด้านราคาพลังงานที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงทิศทางการปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันต่าง ๆ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าภาคการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเข้ามาช่วยหนุนการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนได้บางส่วน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างโครงการคนละครึ่งเฟส 5 (เริ่มใช้ ก.ย.65) และโครงการอื่น ๆ ที่จะเข้ามาช่วยประคับประคองภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในช่วงที่รายได้และรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน