เปิด 4 หมวดสินค้า ผู้บริโภคทุ่มจ่ายหนัก ช้อปล้างแค้น

09 ส.ค. 2565 | 12:57 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2565 | 00:06 น.

The 1 ชี้ผู้บริโภคโหยหาอิสระในการใช้จ่ายกับสินค้าเพื่อความพึงพอใจมากขึ้น จนเกิดปรากฏการณ์ Revenge Spending ช้อปล้างแค้นหลังโควิด ใน 4 กลุ่มสินค้า ของหวานและไวน์-เครื่องสำอางและน้ำหอม-ร้านอาหาร-เสื้อผ้าสปอร์ตแวร์

The 1 (เดอะ วัน) ผู้ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล เผยข้อมูลจาก The 1 Insight วิเคราะห์เจาะแนวโน้มการใช้จ่ายในยุคหลังโควิด บ่งชี้ชัดถึงปรากฏการณ์ Revenge Spending ผู้บริโภคโหยหาอิสระในการใช้จ่ายกับสินค้าเพื่อความพึงพอใจมากขึ้นใน 4 กลุ่มสินค้า ของหวานและไวน์-เครื่องสำอางและน้ำหอม-ร้านอาหาร-เสื้อผ้าสปอร์ตแวร์ 

เปิด 4 หมวดสินค้า ผู้บริโภคทุ่มจ่ายหนัก ช้อปล้างแค้น

ปรากฏการณ์ Revenge Spending หรือ ‘ช้อปล้างแค้น’ ที่เรียกได้ว่าเป็นการทวงคืนอิสระในการจับจ่ายในยุคหลังโควิดเพื่อสร้างความผ่อนคลายและระบายความอัดอั้น ที่สะท้อนให้เห็นได้จากยอดขายที่สูงขึ้นใน 4 กลุ่มสินค้าเพื่อความพึงพอใจ ได้แก่

 

 

1) อุปโภคบริโภค พบยอดขายเติบโตขึ้นถึง 51% ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อความเพลิดเพลินใจ อย่างไวน์ ขนม และของหวาน ในขณะที่ยอดขายวัตถุดิบเพื่อการประกอบอาหารและเบเกอรี่ลดลง 14% สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ทำอาหารที่บ้านน้อยลง

 

2) ร้านอาหาร ยอดขายร้านอาหารเติบโตสูงขึ้น 15% และโดดเด่นในกลุ่มร้านอาหารชาบู/ปิ้งย่างที่นิยมทานเป็นกลุ่ม และอาหารญี่ปุ่น/เกาหลี ที่มีราคาสูง บ่งชี้ถึงการมอบรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้ตนเองเพื่อสร้างความผ่อนคลาย 

3) ความงาม ยอดขายเครื่องสำอางและน้ำหอมกลับมาเติบโตกว่า 20% ซึ่งเห็นได้ชัดว่าตัวเลขเติบโตสัมพันธ์กับการที่ผู้บริโภคสามารถออกจากบ้านและพบปะผู้คนได้มากขึ้น การแต่งหน้า-ฉีดน้ำหอมจึงเป็นการใช้จ่ายเพื่อความเพลิดเพลินอย่างแรกๆ ที่นึกถึง

 

4) การออกกำลังกาย เมื่อผู้คนไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายเพียงแค่ที่บ้าน แต่สามารถออกจากบ้านรวมถึงการออกกำลังกายเป็นกลุ่มได้ จึงไม่แปลกที่ยอดขายสปอร์ตแวร์ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 25% และยอดขายอุปกรณ์ออกกำลังกายที่เติบโตในช่วงโควิดกลับปรับตัวลดลง 22%

 

อีกหนึ่งแง่มุมที่น่าสนใจสำหรับปรากฏการณ์ Revenge Spending ในรอบนี้นั้นมีความแตกต่างจากครั้งก่อนๆ เนื่องจากกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกจับจ่ายมากขึ้นนั้นเป็นในกลุ่มสินค้าเพื่อความพึงพอใจในราคาที่เข้าถึงได้ มากกว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ สินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ ซึ่งไม่น่าแปลกใจด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มไม่สู้ดีและสภาวะเงินเฟ้อ จึงเป็นเหตุให้ผู้คนใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อสร้างความผ่อนคลายในงบประมาณที่ ‘สามารถจ่ายได้’ โดยไม่กระทบกับทรัพย์สินจำนวนมากเกินไปนัก

 

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ทราบกันดีว่าปรากฏการณ์ Revenge Spending นั่นมักเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ เพื่อสร้างความผ่อนคลาย ลดความอัดอั้นสำหรับตัวผู้บริโภคเอง รวมถึงมักเกิดขึ้นในกลุ่มสินค้าบางกลุ่มเท่านั้น จึงไม่สามารถบ่งชี้ถึงทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งต้องอาศัยการฟื้นตัวในหลายแง่มุมได้