TMA เปิดเวที Thailand: Fit For The Future? ระดมสมอง เพิ่มขีดศักยภาพทุนไทย

04 ส.ค. 2565 | 16:35 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2565 | 23:35 น.

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย เปิดเวทีระดมความคิดและมุมมองด้านบริหารจัดการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในงานสัมมนา THAILAND COMPETITIVENESS CONFERENCE 2022 : “Thailand: Fit For The Future?”

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA)  เปิดเวทีระดมความคิดและมุมมองด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย พร้อมเจาะลึกมุมมองด้านบริหารจัดการธุรกิจ และ การบริหารคน ในงาน THAILAND COMPETITIVENESS CONFERENCE 2022 : “Thailand: Fit For The Future?”  โดยมีผู้เชี่ยวชาญในองค์กรระดับประเทศร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์อย่างน่าสนใจ

 

นายนิธิ ภัทรโชค ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งการสร้างความสามารถการสร้างนวัตกรรม บริหารบุคลากร ยกระดับการปรับตัวภาครัฐ การปรับตัวกฎหมายให้ทันสมัย รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันให้มุมมองและวิเคราะห์ถึงทิศทางประเทศในอนาคต การสร้างแรงกระตุ้นสร้างแรงบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

 

โดย Professor Kishore Mahbubani Distinguished Fellow, Asia Research Institute, National University of Singapore กล่าวในหัวข้อ “The New World Order and Challenges for ASEAN”  ว่า ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เกือบ 99.9% ที่พลวัตของโลกจะถูกขับเคลื่อนโดยการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดจากการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งอาเซียนจะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้อย่างแน่นอน

Professor Kishore Mahbubani Distinguished Fellow

การขับเคลื่อนในเชิงโครงสร้างที่ลึกล้ำระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนมาจากความคาดหวังของชาวตะวันตกในการเปลี่ยนแปลงจีนให้เป็นรัฐประชาธิปไตยเสรี การแข่งขันครั้งนี้จะเร่งขึ้นใน 10-20 ปี แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่น่าเกรงขาม และประสบความสำเร็จมากที่สุด แต่สหรัฐฯ ก็กำลังต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

เห็นได้จากรายได้เฉลี่ยของคนอเมริกันที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาเป็นเวลา 30 ปีแล้ว ในขณะที่จีนกำลังพัฒนารัฐที่มีคุณธรรมที่ยืดหยุ่นได้ และชาวจีนมีความมั่นใจอย่างมากในอนาคตของตัวเอง ในด้านของข่าวดีมองว่าทั้งสองฝ่ายจะเสนอผลประโยชน์ให้กับประเทศอื่นๆ เช่น กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ซึ่งไทยเข้าร่วมด้วย

 

ด้านดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความท้าทายสำหรับประเทศไทยที่ลดลงให้กลับไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้นนั้น สามารถทำได้ด้วยการปรับวิธีคิดและการทำงานใหม่  การเปลี่ยนเพื่อก้าวไปให้ถึงจุดที่ดีกว่า สิ่งขับเคลื่อน คือกระบวนการตัดสินใจ การดำเนินงานที่ผ่านมาเราเน้นการทำแผนหลายอย่าง แต่พอลงมือทำมักจะไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งยากที่จะเดินไปสู่เป้าหมาย

 

ประเด็นปัญหาด้านคน ระบบราชการไม่สามารถดึงคนเก่งไปร่วมงาน หรือในกรณีที่ได้คนเก่งเข้าไปทำงานจะพบว่ามีปัญหากับวัฒนธรรมการทำงาน สุดท้ายรูปแบบการทำงานที่ใช้ระบบกรรมการมากเกินไป เน้นทำแผนงานแต่ขาดการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามแผน

     

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช กรรมการ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า เอกชนต้องเตรียมตัวรับดิสรัปชั่นที่เข้ามา ไม่อย่างนั้นอาจล้มหายตายจาก หัวใจสำคัญอยู่ที่การลงมือปฏิบัติ และการทำให้แผนที่วางไว้ประสบผลสำเร็จให้ได้ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันและสิ่งนั้นสามารถแข่งขันได้ พร้อมกันนี้ก็พยายามสร้างโอกาสจากสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นใหม่ ยกตัวอย่าง Aging Society และอุตสาหกรรมด้านเกษตรและอาหาร เป็นสิ่งที่ไทยมีความพร้อม และสามารถเติบโตไปพร้อมกับแนวโน้มของธุรกิจในอนาคตได้

 

“การนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปสู่ S-Curve ให้ได้ เช่น การท่องเที่ยว และ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สองตัวนี้จะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะสั้นให้กับประเทศได้  ส่วนในระยะยาวอุตสาหกรรมด้านสุขภาพก็มีศักยภาพ ถ้ากระตุ้นด้วยนวัตกรรมให้มีความแข็งแกร่ง เราอาจเป็นศูนย์กลางการให้บริการด้านสุขภาพของภูมิภาคนี้”

 

“สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือ การเปลี่ยนจำนวนให้เป็นคุณภาพ  และทำอย่างไรจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่ทำอยู่นี้ให้สามารถรับนักท่องเที่ยวในจำนวนที่ไม่มากเท่าเดิม แต่พักอยู่นานขึ้น และ ใช้จ่ายมากขึ้น”  นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และกรรมการอำนวยการ TMA ยังกล่าวอีกว่า

 

“เป็นสิ่งที่พูดง่าย แต่ทำยาก และเราไม่สามารถทำคนเดียวได้ อย่างเช่น ที่พักอาศัยของผู้สูงวัย ซึ่งต้องแก้เรื่องกฎระเบียบ ทางกายภาพของอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับเปลี่ยนรองรับ ซึ่งต้องจับมือกับหลายหน่วยงานร่วมกันทำ”

TMA เปิดเวที Thailand: Fit For The Future? ระดมสมอง เพิ่มขีดศักยภาพทุนไทย

ขณะที่ ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โลกเปลี่ยนเร็วกว่าที่คิดเยอะ ดังนั้นควรเริ่มกลับมามองว่าประเทศไทยมีจุดเด่นเรื่องใด ในทางภูมิศาสตร์ไทยอยู่ตรงกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่ประชากร เทียบกับทางยุโรปมี 400 ล้านคน อเมริกา 300 กว่าล้านคน ขณะที่อาเซียนมีราว 600 กว่าล้านคน แต่หากกลับมามองที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี กลับพบว่ามีตัวเลขที่ต่ำกว่าหลายเท่า

 

ในมุมมองด้าน “The World is Changing: What about Competitiveness” “โลกกำลังเปลี่ยนไป :  อะไรคือขีดความสามารถในการแข่งขัน” Professor Arturo Bris Director World Competitiveness Center, IMD กล่าวถึง ความสามารถในการแข่งขัน คือความสามารถในการสร้างมูลค่า การจ้างงาน และอนาคตสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

Professor Arturo Bris

โดยผู้บริหารหรือผู้นำควรให้ความสนใจในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ความล้มเหลวของการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เหตุการณ์ร้ายแรงของการฉ้อโกง ขโมยข้อมูล การโจมตีทางไซเบอร์ ความเสียหายและภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น

 

จากการวิจัยล่าสุดของ IMD World Competitiveness Center ผู้บริหารส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น ผู้บริหารจำเป็นต้องสามารถจัดการวิกฤต และตอบสนองต่อวิกฤตได้อย่างทันท่วงที

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจำเป็นต้องมุ่งความสนใจไปที่เป้าหมายของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการผลิตการปรับปรุงระบบการศึกษาของประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการทั่วโลก พัฒนาบุคลากรที่มีทักษะมากขึ้น และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต

 

ขณะที่นางกาญจนา ภัทรโชค เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน กล่าวถึง Thailand & Nordic Countries Innovation พร้อมยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศ ที่ภาคชุมชน ภาครัฐ เอกชน และด้านวิชาการ เดินไปสู่สังคมนวัตกรรมโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าในปี 2030 นอร์ดิคจะเป็นภูมิภาคที่เชื่อมโยงกันมากที่สุด ขีดความสามารถที่สุด และยั่งยืนที่สุด

 

 “การสร้างสังคมนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนไปด้วยกันของที่นี่ เริ่มตั้งแต่ระบบการศึกษา การสร้างทัศนคติให้ผู้เรียนได้คิดสร้างสรรค์งาน ขณะที่ภาครัฐซึ่งมีหน่วยงานด้านนวัตกรรม ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณ งบวิจัย และทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและธุรกิจ”

TMA เปิดเวที Thailand: Fit For The Future? ระดมสมอง เพิ่มขีดศักยภาพทุนไทย

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวคิดและการทำงานของ ปตท. เริ่มตั้งแต่วิธีคิดที่สามารถดิสรัปชันในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้  เรามีฐานความรู้ด้านนวัตกรรม แต่เราเติบโตไปกว่านั้นไม่ได้ ทำให้กลับมานั่งคิดว่าจริง ๆ แล้วเราต้องการขับเคลื่อนอะไรซึ่งจาก 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ได้เลือกเอา Life Science

 

อาทิ ธุรกิจยา ธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ มาทำงานพร้อมกับตั้งบริษัทใหม่ชื่อ อินโนบิก ขึ้นมา ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ โดยมีเป้าหมายที่การพัฒนาศักยภาพความสามารถของ ปตท.ในด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทย

 

ด้านนายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ ผู้ร่วมก่อตั้ง RISE กล่าวว่า RISE ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวเร่งสปีดนวัตกรรมให้กับองค์กรธุรกิจ และมีหน้าที่หลักในการช่วยประเทศไทยเพิ่มหนึ่งเปอร์เซ็นต์ จีดีพี  

 

“สิ่งที่เราทำในวันนี้คือเข้าไปช่วยสร้างธุรกิจใหม่โดยใช้วิถีสตาร์ตอัพ ด้วยการนำสตาร์ตอัพ และองค์กรธุรกิจมาพูดคุยกันเพื่อหาโซลูชั่นที่ดีร่วมกัน ซึ่งวิธีนี้สามารถทำให้การทำงานสำเร็จตามแผนได้เร็วขึ้น ในระยะเวลา 6 เดือนเริ่มเห็นผล และภายใน 1 ปี เริ่มเห็นโอกาสการสร้างรายได้ จนถึงปัจจุบันเราช่วยปั้นธุรกิจได้แล้ว 200 โปรเจคต์ ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา พบว่ามีสองประเด็นที่สำคัญ นั่นคือ คน และ เทคโนโลยี ทำอย่างไรให้สองอย่างนี้สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับองค์กร และประเทศ”

 

ดร. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยต้องการหลายเรื่อง เช่น เทคโนโลยี เพราะส่วนใหญ่มาจากธุรกิจครอบครัว ทำให้ต้องกลับมามองถึงการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีให้กับธุรกิจกลุ่มนี้ให้มากขึ้น

 

ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และอนุกรรมการกลุ่ม Technology Innovation Management Group – TMA กล่าวว่า ประเทศไทยชัดเจนว่ามีเป้าหมายที่จะออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งการอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม ๆ หรือ เศรษฐกิจในยุคเดิม คงไปไม่ถึงแน่ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของประเทศ ต้องสร้าง เศรษฐกิจยุคใหม่ให้เกิดขึ้น

 

“คำถามคือ อุตสาหกรรมใหม่อยู่ตรงไหน แล้วคนที่จะต้องมีทักษะที่ตอบอุตสาหกรรมใหม่อยู่ตรงไหน ดังนั้นในช่วงที่ไทยเปลี่ยนผ่านสร้างเศรษฐกิจใหม่ เราต้องสร้างแรงงานที่มีทักษะสูงให้มากขึ้น  ซึ่งการศึกษา ทักษะที่สำคัญเลย ต้อง lern to unlean และปรับเพื่อให้เรียนรู้ต่อเนื่อง”

 

ดร. ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการอำนวยการ TMA กล่าวว่า ความท้าทายที่เทคคัมปะนีต้องเจอ คือทำอย่างไรให้คนของเรามีทักษะที่ทันสมัยเสมอ เรียนรู้ของใหม่ๆ ในทุกเดือน   

 

“คนมีส่วนสำคัญ เทคโนโลยี อาร์แอนด์ดี ไม่ว่าจะดีอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับธุรกิจ หรือหน่วยงานแต่ละหน่วยงาน ดังนั้น จีดีพี จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งการเรียนรู้ในโลกวันนี้เร็วมาก อย่างมากหกเดือนหรือหนึ่งปี ความรู้ต้องถูกทดแทนด้วยความรู้ใหม่ให้ได้ โดยทักษะของคนที่องค์กรธุรกิจยุคใหม่มองหา คือ คนที่สามารถประยุกต์ความรู้ต่าง ๆ ทั้ง ข้อมูลและอุปกรณ์ มาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับความต้องการของตลาด”

TMA เปิดเวที Thailand: Fit For The Future? ระดมสมอง เพิ่มขีดศักยภาพทุนไทย

นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ – การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี มีภารกิจหลักสองเรื่อง คือ นวัตกรรม และความยั่งยืน ดังนั้นการสร้างคนเราให้ความสำคัญกับสองประเด็นนี้เป็นหลัก โดยโจทย์ใหญ่ในเรื่องการพัฒนาคนเป็นเส้นทางที่เราต้องเรียนรู้อีกมากเพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันที่จะไปยืนบนเวทีโลก โดยคนที่เข้ามาทำส่วนนี้ต้องมีทักษะการใช้เครื่องมือที่ดี ต่อมาการสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และร่วมทำงานกับพันธมิตรในการเชื่อมต่อภาพธุรกิจให้สมบูรณ์

 

“แน่นอนว่า เราเรียนรู้จากการผิดพลาด แล้วนำความผิดพลาดนั้นมาเป็นความรู้ใหม่ รวมทั้งต้องหาวิธีทำงานเพื่อให้คนปรับความคิดและทัศนคติ ปรับพฤติกรรม หาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเพื่อให้ทุกคนทำงานร่วมกันบนแพลตฟอร์มเดียวกัน  อยู่บนพื้นฐานข้อมูลเดียวกัน  และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้”

 

ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “Supporting Environment” และการสัมมนาในหัวข้อ “Enhancing Public Sector Resiliency” วิทยากรและผู้อภิปรายได้แบ่งปันความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับพันธกิจสำคัญและบทบาทภาครัฐสามารถพลิกฟื้นไปแข่งขันกับตลาดโลกได้ โดยมี

 

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพสามิต กล่าวว่า บทบาทสำคัญของกระทรวงการคลัง คือ ต้องปรับตัวให้ไว และรวดเร็ว สามารถเข้าถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของโลกทุกวันนี้ที่มีความผันผวนไม่แน่นอน อาทิ ค่าเงิน ราคาน้ำมัน เป็นต้น ภาครัฐจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองความคิดด้วยกฎ กติกา และกระบวนการของกฎหมายที่ในอดีตเป็นการแบบรวมศูนย์

 

ภาครัฐต้องมีการนำ นวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาขับเคลื่อนให้ จึงสรุปได้ว่าภาครัฐต้อง 1.มีความรวดเร็ว ยืดหยุ่น รวดเร็วในการทำงาน  2.เปลี่ยนระบบที่จะทำให้บุคลากรภาครัฐมั่นใจที่จะทำงาน และ 3.ระบบราชการต้องดีทำให้คนดีมั่นใจที่จะเข้ามาทำงาน

 

อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กล่าวว่า ภาครัฐจะพลิกฟื้นได้ภาครัฐต้องปรับมุมมองความคิดตัวเองก่อนถ้าคิดจะไปแข่งขันในต่างประเทศต้องฟังเสียงจากข้างนอกมากที่สุดเพื่อที่จะมาปรับใช้ทั้งเสียงสะท้อนจากประชาชน

 

ภาคเอกชน  ต้องสามารถเชื่อมต่อกันได้ถึงจะสามารถพลิกฟื้นได้ ที่สำคัญผู้นำต้องมีเป้าหมายและสามารถสนับสนุนได้ มีการขับเคลื่อนระบบราชการด้วย Government Digital Tranformation สรุปคือ ภาครัฐต้องเปิดกว้างรับข้อมูลฟังเสียงให้ได้มากที่สุด และให้ประชาชน ภาคเอกชน ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนและก้าวไปด้วยกัน 

 

ดร.เพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการสายงานการลงทุนและการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ภาครัฐต้องเปิดกว้างให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนอย่างมั่นใจ ประเทศไทยยังมีเขตพื้นที่เศรษฐกิจที่น่าลงทุนอีกมากมายนอกเหนือจาก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง

 

ที่สำคัญลดขั้นตอนต่างๆให้น้อยลง การปรับเงื่อนไข ขอบเขตของงาน (Terms of Reference) ให้สอดคล้องกันทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ที่สำคัญกระบวนการการลงทุนต้องมีความรวดเร็วและชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจของนักลงทุน

 

ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “Supporting Environment” และการสัมมนาในหัวข้อ “Effective Legal Environment” วิทยากรและผู้อภิปรายได้แบ่งปันความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับความท้าทายประเทศไทยกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว

 

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวว่า กระบวนการของกฎหมายในประเทศไทยเรามีขั้นตอนมุ่งกำกับควบคุมสูงมาก และเป็นกฎหมายที่ไม่เคยเปลี่ยนมา 80 ปีแล้ว ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ดังนั้นต้องมีองค์กรที่จะเสนอร่างกฎหมายเอากฎหมายต่างประเทศเข้ามาปรับใช้ เอาเทคโนโลยีทางไอทีเข้ามาสนับสนุนปรับใช้กับหน่วยงานภาครัฐ บุคลากร ซึ่งเทคโนโลยีกับกฎหมายจะต้องไปด้วยกัน 

 

คุณชยธวัช อติแพทย์ นายกสมาคม สมาคมส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย (IPPAT) และอนุกรรมการกลุ่ม Technology Innovation Management Group – TMA กล่าวว่า กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ไม่สามารถบริหารจัดการให้กับคนไทยได้ โดยปัญหาที่พบคือคนไทยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับการขอจดสิทธิบัตร

 

รวมทั้งกระบวนการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรที่มีหลายขั้นตอน ทำให้คนไทยยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรน้อยมาก ดังนั้นกฎหมายควรเปลี่ยนบริบทส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้รับทุนวิจัยสามารถขอสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้ และผู้รับทุนจะต้องมีกลไกบริหารจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สามารถพัฒนางานวิจัยเป็นแผนธุรกิจ    ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

นายอริยะ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท Transformational จำกัด และกรรมการอำนวยการ TMA กล่าวว่า ภาครัฐจำเป็นต้องพร้อมด้านเทคโนโลยี และความสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วด้วยประเด็นสำคัญข้าราชการต้องเข้าใจทั้ง 2 ด้าน ดังนี้ 1.เรื่องของกฎหมายและเทคโนโลยี เพื่อที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด และต้องมีความรู้ทางด้าน สินทรัพย์ดิจิทัล

 

ถ้าไม่เข้าใจระบบปัญหามันก็ไม่เดินเหมือนย่ำอยู่กับที่ 2.เราควรจะสนับสนุนให้มีการเปิดให้บริษัทต่างชาติทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อที่คนไทยจะได้รับความรู้ ประสบการณ์ ทางด้านซอฟท์แวร์มากขึ้น ตอนนี้เรามีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่พร้อมเข้ามาปรับเปลี่ยน สรุปคือ ปัญหาของกฎหมายไทยคือขาดกระบวนการทำงาน และขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายด้านเทคโนโลยี