โรงแรมไทยเริ่มฟื้นแต่ติดหล่มต้นทุนพุ่ง วอนรัฐช่วยอุ้มต่อ 2 ปี

06 ก.ค. 2565 | 16:29 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2565 | 00:59 น.
1.2 k

การฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวของไทยหลังการเปิดประเทศ ส่งผลธุรกิจโรงแรม เริ่มฟื้นตัว แต่ยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงร้องขอให้รัฐบาลช่วยอุ้มต่ออีก 2 ปี

ปัจจุบันไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศแล้วร่วม 2 ล้านคน ถือว่ามากกว่าปีที่แล้วทั้งปีไปแล้ว จากนโยบายทยอยเปิดประเทศ ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจโรงแรมไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขยับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหากเทียบกับปีก่อน และมีทิศทางดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึง ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้น

 

ล่าสุดจากการสำรวจความ เชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมประจำเดือนมิถุนายน 2565 โดย สมาคมโรงแรมไทย ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากตัว เลขหลักเดียวในปีที่แล้ว ขยับมาอยู่ที่ 38% ในเดือนมิ.ย.ปีนี้ ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยเพิ่มขึ้น หลังมีการผ่อนคลายนโยบายการเปิดประเทศเพิ่มเติม เช่น ปรับปรุงวิธีลงทะเบียน Thailand Pass สำหรับชาวต่างชาติให้สะดวกขึ้น ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

 

ทั้งยังคาดว่าอัตราการเข้าพักในเดือน ก.ค. 65 น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40% ส่วนหนึ่งจากการ ยกเลิก Thailand Pass สำหรับชาวต่างชาติ และการขยายสิทธิ์โครงการ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ส่วนขยาย ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 65 ทั้งนี้โรงแรม ส่วนใหญ่มองว่าอัตราการเข้าพักในช่วงไตรมาส 4 ปี2565 น่าจะขยับเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 50% โดยเฉพาะโรงแรมขนาดใหญ่ (มากกว่า 250 ห้อง)

อย่างไรก็ตามปัจจุบันลูกค้าของโรงแรมส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนไทย แต่เริ่มมีลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้น สะท้อนจากโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% ทยอยเพิ่มขึ้นหลังมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย และตะวันออกกลาง รองลงมา คือ ยุโรปตะวันตก

 

ส่งผลให้ในขณะนี้โรงแรม ทยอยกลับมาเปิดกิจการปกติเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 88% เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเปิดประเทศในช่วงปลายปีก่อน ขณะที่โรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวมีสัดส่วนเหลือเพียง 1% ซึ่งเป็นโรงแรมที่ปิดมามากกว่า 6 เดือน และคาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงไฮน์ซีซั่น

 

ขณะที่ในแง่ของรายได้ ยังพบว่าโรงแรมส่วนหนึ่งรายได้เริ่มปรับดีขึ้น แต่ในภาพรวมยังคงมีรายได้อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 โดยเกือบครึ่งหนึ่งยังมีรายได้กลับมาไม่ถึง 30% อย่างไรก็ดี โรงแรมที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 32% จากเดือนก่อนที่ 26% สอดคล้องกับจำนวนนักท่อง เที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น 

 

ส่งผลให้โรงแรมกว่า 44% มีสภาพคล่องใกล้เคียงกับเดือนก่อน แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีโรงแรมที่มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน มีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ 39% ส่วนกลุ่มที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 1 เดือนมีสัดส่วนอยู่เพียง 7% ขณะเดียวกันก็มีโรงแรมกว่า 28% ที่มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่มีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยราว 40-60%

 

การทยอยฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้โรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 71.2% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดโควิด-19 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะทยอยเข้ามาหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

 

โรงแรมไทยเริ่มฟื้นแต่ติดหล่มต้นทุนพุ่ง วอนรัฐช่วยอุ้มต่อ 2 ปี

 

ขณะที่อุปสรรคสำคัญในการดำเนินธุรกิจโรงแรม คือ ต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ค่าสาธารณูปโภค ราคาสินค้า และพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพราะช่วงโควิดมีแรงงานกลับภูมิลำเนาและไม่กลับมา

 

จากปัญหาดังกล่าวสมาคมโรงแรมไทยจึงอยากขอการสนับสนุนจากกระทรวงแรงงานและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พิจารณาช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคธุรกิจโรงแรม และการพัฒนาทักษะแรงงาน รวมถึงขอให้ภาครัฐ พิจารณาปรับหลักเกณฑ์อัตราการเบิกค่าใช้จ่ายระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2555) ให้สอดคล้องกับ เศรษฐกิจปัจจุบันที่ภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

 

เนื่องจากระเบียบดังกล่าว ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี   สำหรับการพิจารณาปรับระเบียบกระทรวงการคลัง ปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาฯ นั้น เป็นปัจจัยในการสร้างรายได้ในการดำเนินธุรกิจให้มีผลกำไร เพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานบริการ และพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

 

สำหรับการจัดเก็บภาษีสำหรับปีภาษี พ.ศ. 2565 ที่ 100% โดยไม่ได้ปรับลดลงแต่อย่างใด ธุรกิจโรงแรมมีความกังวลมาก “ไม่พร้อมเสียภาษี”  เนื่องจากขาดรายได้ช่วงวิกฤตโควิด-19 ยาวถึง 2 ปี และยังคงขาดสภาพคล่องไม่สามารถสร้างผลกำไรได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ในครั้งนี้  ขอให้ขยายเวลาชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เรียกเก็บในปี 2565 โดยขอพิจารณาผ่อนชำระ 10 งวด โดยไม่คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม และพิจารณาจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได ปี 2566 ลดหย่อน 75%  ปี 2567 ลดหย่อน 50% และปี 2568 ลดหย่อน 25%

 

ส่วนการที่กรมธนารักษ์ประกาศบังคับใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 66-69 ปรับขึ้นเฉลี่ย 8% (ของกรมธนารักษ์) นั้น ภาคธุรกิจโรงแรมยังไม่ฟื้นจากขาดทุนระยะยาวทำให้หนี้เพิ่ม ต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น พร้อมกับต้นทุนเงินเฟ้อต่างๆ ที่ต้องใช้เวลาฟื้นอีกอย่างน้อย 2 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือพยุงผู้ประกอบการโรงแรมให้คุ้มต้นทุน ทำธุรกิจเข้มแข็งขึ้น สร้างเสถียรภาพการจ้างงาน ให้ผู้ประกอบการจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการจ่ายภาษีรายได้คืนให้กับรัฐบาลได้เหมือนในอดีต