เดินหน้า ‘เวลเนสอันดามัน’ ต้นแบบเมืองสุขภาพ ฟื้นท่องเที่ยวไทย

12 มิ.ย. 2565 | 20:20 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2565 | 03:22 น.
767

รัฐ-เอกชนเดินหน้าผลักดัน “ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน” Andaman Wellness Corridor (AWC) เมืองมหาอำนาจด้านสุขภาพ หวังบูสต์ท่องเที่ยวไทยฟื้น ก่อนต่อยอดเป็นต้นแบบเชื่อมโยงภูมิภาคอื่น เช่นอิสานกับการท่องเที่ยว Wellness สมุนไพร กัญชา กัญชง

เพราะการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจในการสร้างรายได้ให้กับประเทศมาอย่างยาวนานสะท้อนสัดส่วนต่อ GDP ประมาณ 18% มีจำนวนนักท่องเที่ยว 39.92 ล้านคน และการเดินทางในประเทศสูงถึง 172 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้รวมกันถึง 3 ล้านล้านบาท ในปี 2562

              

แต่หลังจากการเข้ามาโควิด-19 ในปี 2563 นำไปสู่การปิดน่านฟ้าของประเทศไทย สิ่งที่ตามมาคือตัวเลขการท่องเที่ยวที่ดิ่งลงอย่างไม่มีทีท่าจะพิคอัพได้ง่ายๆ เพราะคนเดินทางไม่ได้ ต่อเนื่องมายังปี 2564 ซึ่งประเทศไทยยังต้องเผชิญหน้ากับการระบาดต่อเนื่อง แม้จะมีการเปิดประเทศในช่วงเดือนกรกฎาคม ผ่านภูเก็ตแซนด์บ็อกก็ตาม แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งปีเหลือแค่ 4 แสนคน จาก 39.92 ล้านคน

              

ขณะที่มูลค่าตลาดรวมธุรกิจสุขภาพทั่วโลกกลับมีศักยภาพการเติบโตที่โดดเด่นโดยในปี 2560 อยู่ที่ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2562 มีมูลค่า 4.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยเติบโต 6.4% ทุกปีติดต่อกันมา 10 ปี ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกมีมูลค่า 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อผนวกเข้าด้วยกันมูลค่าของเวลเนส ทัวริสซึ่มจะอยู่ราว 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

  เดินหน้า ‘เวลเนสอันดามัน’ ต้นแบบเมืองสุขภาพ ฟื้นท่องเที่ยวไทย              

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือในปี 2563 ปีที่โควิดเข้ามา จากตัวเลขที่ควรจะดิ่งลงกลับมีมูลค่าสูงถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าปี 2573 มูลค่าจะทะลุ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

              

ขณะที่ประเทศไทยเองในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่ที่ 12.5 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ 409,200 ล้านบาทและเกิดการจ้างงาน 530,000 คนนับเป็นตัวเลขที่หอมหวานจึงไม่น่าแปลกใจที่นโยบายทางการท่องเที่ยวปี 2565 นี้ ททท.จะให้ความสำคัญกับการทำการตลาดที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่าง Medical Tourism และ Health & Wellness Tourism ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นและเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 8 หมื่น-1.2 แสนบาท

              

จากตัวเลขที่น่าสนใจดังกล่าวประกอบกับ ประเทศไทยไม่มีตัวเลือกมากนักในการหยิบขึ้นมาชูโรงเป็นแมกเน็ตสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ และต้องยอมรับว่าเมืองไทยมีชื่อเสียงในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านความงาม ศัลยกรรม การรักษาโรคเฉพาะทางก็ไม่ได้น้อยหน้าใคร รวมไปถึงการผ่าตัดแปลงเพศก็ได้รับการยอมรับเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยจะก้าวไปสู่เวทีโลกผ่านความเป็น Medical tourism และ Wellness Hub ได้ง่ายอย่างที่ใจหวังหรือไม่

      เดินหน้า ‘เวลเนสอันดามัน’ ต้นแบบเมืองสุขภาพ ฟื้นท่องเที่ยวไทย          

เพราะหากมองย้อนไปในอดีตจะเห็นว่ามีการโปรโมทประเทศไทยให้เป็น World Destination Medical Hub ต่อเนื่องมายาวนาน

              

นางสาวภาวิณี สังขบูรณ์ รองผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวในงาน Thailand Top Wellness World 2022 (TTWW) Forum ว่า ไทยพยายามที่จะผลักดันนโยบาย ชูประเทศไทยเป็นทางเลือกของ Medical and Wellness Tourism ซึ่งได้เตรียมปักหมุดในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย 6 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล ให้เป็นเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน หรือ Andaman Wellness Corridor (AWC)

 

โดยนำ Wellness มาเป็นองค์ประกอบหลักในการดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้กลับสู่ประเทศ และเกิดผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพแบรนด์ไทยผ่าน 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. บริการส่งเสริมสุขภาพ 2. บริการรักษาพยาบาล 3. บริการวิชาการ และ 4. ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

              

“ถามว่าประเทศไทยมีจุดแข็งอะไรบ้างในการที่ต่างชาติเลือกใช้บริการ เรามีในเรื่องของการมาตรฐานระดับสากลและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ในส่วนของสาธารณูปโภคต่างๆ มีเรื่องของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ราคาที่เหมาะสมและศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการวิจัย ศูนย์กลางการประชุมนานาชาติ

   เดินหน้า ‘เวลเนสอันดามัน’ ต้นแบบเมืองสุขภาพ ฟื้นท่องเที่ยวไทย             

หลังจากโควิดคลี่คลายเราจะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ Andaman Wellness Corridor (AWC) ที่จะนำร่องในพื้นที่มีศักยภาพของจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำมาโปรโมทให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยว ในส่วนของการเป็นAWC จะมีลักษณะคล้ายๆกับ EEC มีการทำกฎหมายที่อำนวยความสะดวกการส่งเสริมการลงทุน

              

สำหรับโปรเจ็กต์นี้เริ่มต้นที่อันดามันเพราะว่า อันดามันเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในเรื่องของการให้บริการ มีพื้นที่เป้าหมายที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเข้ามาเป็นอันดับต้นๆ เช่น เมืองภูเก็ต เมืองกระบี่ ในภาพรวมของ Thailand Wellness Corridor ถ้าเราไปทุกเขตในประเทศไทยการพัฒนาอาจจะต้องใช้เวลา จึงพยายามที่จะผลักดันให้เป็น sandbox แต่ละพื้นที่ก่อน

 

เมื่อพื้นที่ต้นแบบเช่น อันดามันเป็นพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จ จะขยายไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่นๆ เพราะในหลายๆพื้นที่เองมีศักยภาพในตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริบทของสถานที่ท่องเที่ยวหรือบริบทอื่นๆ เช่น ภาคอีสานมีศักยภาพในเรื่องของสมุนไพร กัญชา กัญชง ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ ในอนาคตจะมีการทำการท่องเที่ยวสาย Wellness เพื่อเชื่อมโยงทั้งประเทศ”

 

อย่างไรก็ตามในอนาคต Andaman Wellness Corridor (AWC) จะกลายเป็นเมืองมหาอำนาจด้านสุขภาพและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำได้ตามที่รัฐคาดหวังหรือไม่ก็เป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด อย่างน้อยๆล่าสุดรัฐบาลมีคำสั่งให้จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดนำร่องถอดแมสก์ ซึ่งก็อาจนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการบูสต์การท่องเที่ยวอีกครั้ง

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 42 ฉบับที่ 3,791 วันที่ 12 -15 มิถุนายน พ.ศ. 2565