ดันธุรกิจกลางคืนเปิดถึงตี 2 เงินสะพัด 4 แสนล้าน-เศรษฐกิจฟื้น

26 พ.ค. 2565 | 05:00 น.
599

ปลุกผีธุรกิจกลางคืนต้องเปิดถึงตี 2 “4 สมาคม” มั่นใจเงินสะพัดดันเศรษฐกิจฟื้นเป็นลูกโซ่ ทุกกลุ่ม ชนชั้น สร้างการจ้างงาน รองรับนักท่องเที่ยวไทย-เทศ หลังศบค.ผ่อนคลายให้สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวดเปิดบริการได้ถึงเที่ยงคืน

หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศผ่อนคลายมาตรการโดยอนุญาตให้ สถานบริการ สถานบันเทิง หรือสถานประกอบการคล้ายกันเปิดให้บริการเฉพาะในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) และพื้นที่เฝ้าระวัง (พื้นที่สีเขียว)เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565

 

โดยจำกัดเวลาในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการให้บริการไม่เกิน 24.00 น. และห้ามบุคคลที่ยังไม่รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์เข้าใช้บริการ รวมทั้งต้องผ่านมาตรการ SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus หรือตามมาตรการ COVID Free Setting นั้น

 

นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่ศบค. คลายมาตรการให้ธุรกิจกลางคืนทั้งสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ รวมถึงอาบอบนวด เปิดให้บริการได้ไม่เกิน 24.00 น. นั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจมากนัก เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่

 

เปิดให้บริการถึงเที่ยงคืนอยู่แล้ว เพราะหลายร้านปรับเปลี่ยนมาเป็นร้านอาหารเพื่อเปิดให้บริการไปก่อนหน้า ขณะที่การคงข้อปฏิบัติต่างๆ อาทิ การใส่หน้ากากอนามัย ในธุรกิจอาบอบนวด หรือคาราโอเกะ อาจไม่ถูกกับบริบทของธุรกิจมากนัก เพราะคงไม่มีใครใส่แมสร้องเพลง หรือใส่แมสอาบอบนวด

 

จ่อยื่นหนังสือทบทวนเปิดเสรีถึงตี 2

“ศบค.ไม่เข้าใจในหลักปฏิบัติ ไม่ลงมาดูพื้นที่จริง อาบอบนวดต้องใส่หน้ากาก จะร้องคาราโอเกะแต่ต้องใส่หน้ากาก ส่วนการเปิดร้านได้แค่เที่ยงคืน เกือบทุกธุรกิจในวันนี้เขาปรับตัวเพื่อให้เข้าเกณฑ์และเปิดบริการเที่ยงคืนได้อยู่แล้ว เขาต้องปรับตัวเองเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าและอยู่รอดได้ การผ่อนคลายมาตรการนี้จึงไม่ส่งผลให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่บางธุรกิจกว่าคนจะเริ่มมาเที่ยวก็ 4 ทุ่ม เปิดให้บริการแค่ 2 ชม.ก็ต้องปิด ค่าโอเปอเรชั่นก็ไม่คุ้มแล้ว”

 

วันนี้สิ่งที่อยากให้ศบค.พิจารณาคือ การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 18 รวมถึง พ.ร.บ.โรคระบาดฯ เพราะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกังวล แม้วันนี้จะผ่อนปรนมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ ยกเลิก Test & Go หรือการตรวจ RT-PCR แต่หากประเทศนั้นๆ ยังมีคำว่า State of emergency ต่างชาติจะให้ความสำคัญมาก และมีผลต่อการประกันภัยที่ไม่ครอบคลุม

ดันธุรกิจกลางคืนเปิดถึงตี 2 เงินสะพัด 4 แสนล้าน-เศรษฐกิจฟื้น

“วันนี้รัฐบาลมองการเมืองไม่ได้มองเศรษฐกิจ การมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินทำเพื่อการเมือง ยังอยู่ในวังวนเดิม ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้”

 

นายสง่า กล่าวอีกว่า การผ่อนคลายมาตรการให้ธุรกิจกลางคืนกลับมาเปิดให้บริการในครั้งนี้ ไม่ได้ผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นมากนัก คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 20% ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลประเมินหลังการเปิดให้บริการ 15 วันว่าจะเกิดการระบาดของคลัสเตอร์ใหม่ในกลุ่มธุรกิจกลางคืนหรือไม่ และควรเปิดให้ธุรกิจกลับมาเปิดทำการปกติถึงตี 2 แต่หากรัฐบาลยังไม่เปิดเสรี สมาคมที่เกี่ยวเนื่องในภาคธุรกิจกลางคืนทั้ง 9 สมาคม ร่วมกับอีก 300 ร้านค้าทั่วประเทศ จะเคลื่อนไหวยื่นหนังสือเพื่อให้นายกรัฐมนตรีทบทวนอีกครั้ง

 

ทบทวนเปิดถึงตี 2-พท.สีเหลือง

ด้านนายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า วันนี้ศบค.ผ่อนคลายให้เปิดถึงแค่เที่ยงคืน แต่ธรรมชาติของนักท่องเที่ยวจะเริ่มต้นกว่า 3 ทุ่ม และเลิกตี 1 หรือตี 2 มีการพูดคุย หากเร่งกิน ก็เร่งเมา การจับจ่ายใช้สอยก็ไม่เต็มที่ นักดนตรีเองมีเวลาเล่นแค่ 3-4 ชม. ก็ไม่คุ้มกับการเดินทาง พนักงานเองก็ได้ค่าแรงไม่คุ้ม การจ้างงานก็น้อยลงเพราะล้วนเป็นต้นทุนค่าใช้จ่าย

 

สิ่งที่อยากให้ศบค. พิจารณาคือ หากไม่เกิดคลัสเตอร์หลังการเปิดให้บริการ ศบค.ควรทบทวนใน 2 เรื่องคือ การขยายเวลาเปิดให้บริการถึงตี 2 และขยายให้จังหวัดในพื้นที่สีเหลืองเปิดให้บริการได้ด้วย เพราะการผ่อนคลายมาตรการให้สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด กลับมาเปิดได้จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากการจ้างงาน รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่น ร้านอาหาร สตรีทฟู้ด รถสาธารณะ เป็นต้น

ธนากร คุปตจิตต์

“การเปิดให้บริการในช่วงนี้อาจจะไม่ส่งผลมากนักเพราะเป็นช่วงหน้าฝน น้ำท่วม และเข้าพรรษา ผลตอบรับอาจจะยังไม่ได้นัก แต่ถือเป็นช่วงของการทดลองและเข้าระบบ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่ไฮซีซั่นตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป เพราะเชื่อว่านักท่องเที่ยวเองก็เริ่มทยอยเดินทางเข้ามา และจะทำให้มีเงินสะพัดในธุรกิจกลางคืน 3-4 แสนล้านบาทเลยทีเดียว”

 

ต้องยอมรับว่าในช่วง 1-2 ปีที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจกลางคืน ทำให้ต้องปิดกิจการแบบถาวรไปกว่า 60% เหลือเพียง 40% ที่กลับมาเปิดได้

 

เยียวยาผู้ประกอบการรายย่อย

ขณะที่นายธนิต ชุมแสง นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ และเจ้าของร้านเดอะ กู๊ดวิลล์ วิลเลจ จ.เชียงใหม่ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมาการล็อกดาวน์ธุรกิจกลางคืนสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่อย่างมาก เพราะจังหวัดเชียงใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 60-70% ของจีดีพีจังหวัด เมื่อมีการคลายล็อกดาวน์ก็ไม่สุด ยังมีข้อจำกัดเรื่องเวลาที่เปิดให้บริการได้แค่เที่ยงคืน ดังนั้นหากนับเวลาขายจริงเพียงแค่ 3 ชม. การลงทุน การเปิดการอาจจะทำรายได้น้อย

              

ซึ่งที่ผ่านมาโควิดสร้างความเสียหายทำให้ธุรกิจร้านอาหารและสถานบันเทิงในเชียงใหม่หายไปจำนวนมาก ส่วนที่ผู้ที่กลับมาเปิดก็ทำรายได้เพียง 50-80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนโควิด ซึ่งหลังคลายล็อกดาวน์เชื่อว่าจะทำให้คนมีความมั่นใจและกลับมาใช้บริการได้อีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเจนวาย ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการออกมาใช้ชีวิตแทนกลุ่มทัวริสต์ ที่ยังไม่เข้ามาโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เดิมเป็นฐานลูกค้าสำคัญ

 

“การคลายมาตรการครั้งนี้ถือเป็นบันไดก้าวแรก เพราะรัฐยังไม่กล้าเปิด 100% แต่หากไม่มีคลัสเตอร์ใหม่ก็อยากให้ศบค. ขยายเปิดได้เต็มที่ เพราะผู้ประกอบการเองก็เตรียมพร้อมและปฏิบัติการตามมาตรการต่างๆอยู่แล้ว เบื้องต้นคาดว่าหลังเปิดจะมีเงินสะพัดกลับมา 80% ขณะเดียวกันอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งมีอยู่ราว 30%

 

โดยเฉพาะในต่างอำเภอให้กลับมาเปิดทำการได้ เพราะกลุ่มเหล่านี้ถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ช่วยให้เกิดการจ้างงาน กลุ่มนี้มีศักยภาพ แต่ไม่มีทุน มีหนี้สิน จึงต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่าย อาจใช้เงินลงทุนแค่ 5 หมื่นบาทก็กลับมาเปิดได้”

 

นโยบายไม่ชัดลุ้นฟื้นไตรมาส 4

อีกมุมมองที่น่าสนใจ “นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์” นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ได้ปรับตัวเป็นร้านอาหารเพื่อเปิดให้บริการไปล่วงหน้าตามมาตรการของภาครัฐ ดังนั้นจริงๆในแง่ของตลาดจึงเริ่มกลับมาสักพักหนึ่งแล้ว การปลดล็อคครั้งนี้ข้อดีก็คือ ทำให้นักท่องเที่ยวสบายใจขึ้นที่จะมาเมืองไทย

 

ส่วนคนไทยการปลดล็อคกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็ทำให้คนสบายใจที่จะออกไปเที่ยว ไปกินไปดื่มมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือกำลังซื้อไม่ได้มีมากเหมือนช่วงก่อนโควิด แต่บรรยากาศการจับจ่ายในภาคการกินดื่ม น่าจะดีในเกรด A หรือ เกรด B เพราะกลุ่มนั้นมีกำลังซื้ออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการแค่ปลดล็อคไม่ใช่ตัวการันตีว่าตลาดจะกลับคืนมา หรือแค่ทำให้บรรยากาศดีขึ้น

 

“กว่าโมเมนตั้มจะเข้าที่เข้าทางก็น่าจะใกล้ๆไตรมาส 4 การกลับมาของตลาดคงไม่เร็วอย่างที่รัฐบาลหวังและอีกอย่างหนึ่งก็คือนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาลเองน่าหนักใจ เพราะไม่มีอะไรชัดเจน กฎหมายที่ไม่ได้เปิดเต็มที่ เช่น ยังมีจำกัดเวลาการซื้อ-ขาย ทำให้บั่นทอนในเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวเองอั้นจากโควิดมา 2-3 ปี เมื่อเข้ามาก็อยากดื่มเต็มที่อยากเอ็นจอย แต่ก็มาเจอกฎหมายแบบนี้ไม่ผ่อนคลาย”

 

นอกจากนี้ข้อจำกัดในด้านการขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์และเวนดิ้ง แมชชีน ทำให้ไม่เอื้อต่อนักท่องเที่ยว ที่ต้องการความสะดวก และไม่ถูกเอาเปรียบเรื่องของราคา รวมทั้งปัจจุบันยังสามารถกำหนดอายุในการซื้อได้ ดังนั้นรัฐควรเปิดกว้างไม่ปิดกั้น