ไขข้อสงสัย แพทย์แผนไทย-หมอพื้นบ้าน ปรุงยากัญชาเองได้หรือไม่

04 พ.ค. 2565 | 10:50 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2565 | 18:04 น.
1.2 k

กัญชาทางการแพทย์กำลังเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากผู้ป่วยในการเข้ารับการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือก ปัจุบันมีตำรับยากัญชาออกมาหลากหลายตำรับ มาดูกันว่าผู้ที่สามารถปรุงยากัญชาได้มีใครบ้าง

กัญชามีสารประกอบเรียกว่า Cannabinoids จำนวนมาก โดยมีตัวหลัก คือ THC (Tetrahydrocannabidiol) และ CBD (Cannabidiol) ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ คือ ฤทธิ์ของ THC ต่อจิต ประสาท ทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และ กระตุ้นให้อยากอาหาร ส่วน CBD มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกหลายชนิดในหลอดทดลอง

 

กัญชาทางการแพทย์ก็เหมือนกับยาชนิดอื่นๆ ที่มีรูปแบบยาเตรียมและผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท เช่น การสูดไอระเหยผ่านเครื่องพ่นไอระเหยทางการแพทย์, การให้ยาทางปากในรูปของสเปรย์ น้ำมันหยดใต้ลิ้น แคปซูล, การส่งยาผ่านผิวหนังในรูปของครีม แผ่นแปะผิวหนัง และในรูปของอาหาร (คุกกี้)

 

 

แต่ละรูปแบบให้ปริมาณความเข้มของสารแคนนาบินอยด์ไม่เหมือนกัน และสนองความต้องการของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน วิธีการบริหารยาหรือรับกัญชาทางการแพทย์จึงขึ้นอยู่กับรูปแบบยาเตรียมหรือผลิตภัณฑ์กัญชาที่เลือกใช้ให้เหมาะกับอาการ

 

ทั้งนี้ผู้ที่สามารถปรุงยากัญชาได้จะต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย การปรุงหรือสั่งจ่ายยา ต้องอยู่ภายใต้สถานพยาบาลของรัฐ หรือเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

 

 

และหมอพื้นบ้านที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้ตำรับยาที่มีกัญชาผสม จากกระทรวงสาธารณสุขหรือหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขหรือสภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทยให้การรับรอง การสั่งจ่ายไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน แต่ต้องเป็นตำรับที่ได้รับการยอมรับแล้วเท่านั้น

 

โดยวัตถุดิบกัญชาที่จะนำมาใช้ในการปรุงยาต้อง “ไม่สามารถ” แยกเป็นช่อดอก ใบ เพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด สามารถใช้เครื่องยาที่ได้จากการนำกัญชามาผสมกับตัวยาอื่นอีก 1-2 ชนิด ที่สามารถเข้ารับตำรับกัญชาได้

 

และหมอพื้นบ้านต้องระบุองค์ความรู้และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจน และต้องได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก