ศึกปุ้มปุ้ย คดีกงสี ‘โตทับเที่ยง’ ส่อเค้าแตกต่อ “สุรินทร์-สุธรรม”โต้แหลก

29 เม.ย. 2565 | 13:35 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2565 | 20:57 น.
3.2 k

คดีกงสี “โตทับเที่ยง” ส่อเค้ายาว “สุรินทร์” ออกโรงโต้ อ้างข้อมูลคลาดเคลื่อน หลังพี่ใหญ่ “สุธรรม” ตั้งโต๊ะแถลงพร้อมจัดบอร์ดบริหารใหม่ เรียกประชุมผู้ถือหุ้น 30 เม.ย. นี้

คดีกงสีตระกูลโตทับเที่ยง เจ้าของผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องปุ้มปุ้ย ส่อจบไม่ลง แม้ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุด ชี้ขาดให้ต้องแบ่งสรรหุ้นและทรัพย์สินทั้งหมดแก่พี่น้องทั้ง 10 คน คนละ 1 ส่วนเท่าๆ กัน อาจเป็นจุดเริ่มต้นการกลับมาจัดทัพธุรกิจของครอบครัวโตทับเที่ยงอย่างพร้อมหน้ากันอีกครั้ง แต่ท้ายสุดก็เกิดการแถลงตอบโต้ระหว่าง 2 ขั้วขึ้นทันควัน

 

ความขัดแย้งในครอบครัวโตทับเที่ยง ปะทุให้สังคมรับรู้ในปี 2557 เมื่อนายสุธรรม โตทับเที่ยง พี่ใหญ่ของตระกูลออกมาประกาศไม่ให้ “นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง” ใช้นามสกุล “โตทับเที่ยง” จากการปลดพี่น้องในตระกูลทุกคนออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทกงสีของพี่น้อง จากนั้นร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้องนายสุรินทร์ จนเป็นคดียืดเยื้อ

นายสุธรรม โตทับเที่ยง พร้อมพวก

ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จําเลย (นายสุรินทร์) โอนหุ้นในบริษัทรวม 19 บริษัท ให้แก่โจทก์ ทั้ง 4 คน และจําเลยที่ 1 คนละ 1 ส่วนใน 10 ส่วน ของหุ้นในแต่ละบริษัท และให้โอนที่ดินที่จําเลยทั้ง 5 คน ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนให้แก่พี่น้องในตระกูลโตทับเที่ยงทั้ง 10 คน คนละ 1 ส่วนใน 10 ส่วนเมื่อวันที่ 20มีนาคม 2561

 

ขณะที่วันที่ 24 เมษายน 2562 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้ไขบางส่วนเกี่ยวกับที่ดินของบริษัทกงสี โดยระบุว่าถึงแม้ที่ดินดังกล่าวจะนําเงินของบริษัทกงสีมาซื้อ โดยใส่ชื่อจำเลย (นายสุรินทร์) แทนบริษัทกงสี แต่บริษัทกงสีเจ้าของเงินไม่ได้ร่วมฟ้องมาด้วย จึงให้ยกคําขอที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้ง 4 และจําเลยที่ 1 มาแบ่งกันคนละ 1 ใน 10 ส่วน

 

กระทั่งเมื่อ 25 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ นายสุธรรม โตทับเที่ยง พร้อมพี่น้องตระกูล “โตทับเที่ยง” ตั้งโต๊ะแถลงข่าว เช้าวันที่ 28 เม.ย. 2565 โดยระบุว่า หลังจากนี้ทนายจะส่งหนังสือเชิญนายสุรินทร์ให้เข้ามาร่วมประชุม เพราะระหว่างที่เกิดความขัดแย้งและมีการดำเนินในขั้นศาล หลายบริษัทได้รับผลกระทบภาพลักษณ์เสียหาย

 

ขณะเดียวกันที่ดินหลายแปลงที่ศาลมีคำวินิจฉัย แต่บริษัทกงสีไม่ได้ยื่นฟ้องเข้าไปด้วย อาจจะตกลงกันได้โดยไม่ต้องไปยื่นฟ้องใหม่ เพราะตามคำวินิจฉัยที่ดินนั้นตกเป็นของกงสีแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีชื่อของจำเลยก็ตาม

ปุ้มปุ้ย

“ศาลได้พิจารณาสรุปจบเรื่องราว“โตทับเที่ยง” ซึ่งผมขอใช้คำว่าไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ ทุกคนชนะหมดด้วยความเป็นธรรม ทุกคนไม่มีใครเสีย แต่ได้ในสิ่งที่เป็นของตัวเอง หลังจากนี้ก็จะดำเนินการตามเจตนาที่ศาลพิพากษามา ก็คือการแบ่งหุ้น แบ่งที่ดินต่างๆ ตามสัดส่วนของพี่น้อง 10 คน”

โรงแรมธรรมรินทร์

ส่วนการขับเคลื่อนธุรกิจ นายสุธรรม กล่าวว่า ธุรกิจ “โตทับเที่ยง” 3 ส่วนคือ ปุ้มปุ้ย ซึ่งเป็นกิจการที่อยู่ในกรุงเทพฯ, โรงแรม 2 แห่งในจังหวัดตรังได้แก่ โรงแรมธรรมรินทร์ 120 ห้อง และโรงแรมธรรมรินทร์ธนา 280 ห้อง และที่ดินในสำนวนคดี ซึ่งหลายแปลงอยู่ระหว่างการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

 

โดย “ปุ้มปุ้ย” ที่คนสนใจว่าจะเดินต่ออย่างไรนั้น หลังมีคดีฟ้องร้องกันนายสุรินทร์และทีมบริหาร ได้ลาออกจากทุกตำแหน่ง ทำให้ปุ้มปุ้ย กลับมาอยู่ภายใต้การบริหารของนายสุธรรมและพี่น้องฝ่ายโจทก์

 

“ปัจจุบันนี้คณะกรรมการชุดเดิมที่เหลืออยู่ก็หมดวาระไปแล้ว ทางคณะของผม ซึ่งผมเป็นพี่ใหญ่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าไปกุมบังเหียน ในนามประธานกรรมการบริษัท เพราะปุ้มปุ้ยเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งไม่ได้มีแต่เฉพาะคนในครอบครัวของโตทับเที่ยงเท่านั้นที่ก่อตั้งและบริหาร แต่ยังมีผู้ถือหุ้นอีกพันกว่าราย ที่เข้ามาร่วมเสี่ยงร่วมลงทุนกับปุ้มปุ้ย ซึ่งตามขั้นตอนตามระเบียบที่เราจะเข้าไปรับช่วงบริหารงานได้จริงๆ คือปลายเดือนพฤศจิกายน 2564”

 

นอกจากนี้ยังมีคณะผู้บริหารชุดใหม่ คือพี่น้องโตทับเที่ยง ที่เข้ามาดูแลในตำแหน่งสำคัญ รวมทั้งลูกหลานโตทับเที่ยงที่เป็นเจนเนอเรชั่น 2 เข้ามามีบทบาทในการบริหารในหลายตำแหน่ง คลุกคลีธุรกิจมานาน มีความรู้ความสามารถเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม”

 

อีกประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้กันคือ บทบาทของสุรินทร์ ในธุรกิจกงสี “โตทับเที่ยง” ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งหลังจากคำพิพากษาศาลฎีกาถึงที่สิ้นสุดแล้ว จำเลยจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน ทั้งนี้ นายสุธรรมพร้อมทนายเห็นพ้องต้องกันว่า “ไม่เห็นด้วย” ที่จะออกคำบังคับกับนายสุรินทร์

 

ส่วนบทบาทของสุรินทร์ ในธุรกิจกงสีต่อไปนั้น นายสุธรรมพร้อมทนายเห็นพ้องต้องกันว่า “ไม่เห็นด้วย” ที่จะออกคำบังคับกับนายสุรินทร์

 

อย่างไรก็ดีในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ได้ออกแถลงการณ์โต้  โดยระบุว่า การแถลงกลุ่มนายสุธรรม คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง ทำให้ตนและครอบครัวเสียหาย จึงข้อชี้แจง 5 ข้อ ระบุว่า คำพิพากษาให้แบ่งหุ้น 19 บริษัทให้พี่น้องคนละ 1 ส่วน นั้น ส่วนใหญ่หยุดประกอบการไปแล้ว จึงไม่กระทบตนและครอบครัว 

สุรินทร์ โตทับเที่ยง

ศาลไม่ได้พิพากษาว่าหุ้นของตนและครอบครัว ในบมจ. ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด เป็นกงสีที่ต้องนำมาแบ่ง จึงยังเป็นผู้ถือหุ้นในบมจ.นี้อยู่ ส่วนที่ดินนั้น ศาลอุทธรณ์เคยยกคำขอของกลุ่มนายสุธรรม ที่ขอโอนทะเบียน จึงไม่เป็นที่ดินกงสีที่โจทก์จะอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ “ดังนั้น เนื้อหาจากการแถลงข่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกา”

           

นายสุรินทร์ย้ำด้วยว่า จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง เกิดจากตนขัดขวางการหาประโยชน์ในธุรกิจ และดำเนินคดีจนศาลสั่งชัดใช้ ซึ่งจะได้ตามดูว่าผู้บริหารปัจจุบันจำติดตามบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือไม่ นอกจากนี้ที่ผ่านมา แม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ตนชนะหลายคดี ก็ไม่เคยแถลงข่าวให้ร้านคนในตระกูล

 

“การให้ข่าวครั้งนี้ไม่ได้มุ่งตอบโต้ แต่ต้องการให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาที่ถูกต้องครบถ้วน”