สธ.เร่งฉีด “ผู้สูงอายุ” ก่อนลูกหลานกลับบ้านวันสงกรานต์

04 มี.ค. 2565 | 18:59 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2565 | 01:59 น.

“สงกรานต์” กลับบ้านอย่างปลอดภัย สธ.เร่งฉีดผู้สูงอายุ เพิ่มจิตอาสาสายด่วน 1330 ช่วยลดจำนวนโทรเข้า สายไม่ว่าง ไม่ได้รับสายลดลง

กระทรวงสาธารณสุขเผยสถานการณ์โควิด 19 ประเทศไทยยังเพิ่มขึ้น ขอประชาชนร่วมกันเข้มมาตรการลดการติดเชื้อ พร้อมเร่งฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ "สูงอายุ" ที่อัตราเสียชีวิตสูงกว่าวัยอื่น แนะผู้สูงอายุฉีดวัคซีนก่อนสงกรานต์ เพื่อให้ลูกหลานกลับไปเยี่ยมอย่างสบายใจและปลอดภัย ด้าน สปสช.เผยเพิ่มจิตอาสาสายด่วน 1330 และการเพิ่มบริการโควิดแบบผู้ป่วยนอก ช่วยลดจำนวนโทรเข้าจาก 7 หมื่นสาย เหลือ 5.5 หมื่นสาย ขณะที่สายไม่ว่างและไม่ได้รับสายลดลง

 

แถลงข่าว

 

วันนี้ (4 มีนาคม 2565) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวฉีดวัคซีนโควิด 19 ผู้สูงอายุก่อนสงกรานต์ ลูกหลานกลับบ้านสบายใจ และการปรับระบบ 1330 ลดผู้ติดเชื้อโควิด 19 ตกค้าง

 

นพ.โสภณกล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ของประเทศไทยยังแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่น ถ้าดูจากอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อในประเทศไทย มีโอกาสผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเป็นไปตามฉากทัศน์เส้นคาดการณ์สีเหลือง ซึ่งอาจมีผู้ติดเชื้อสูงสุดถึง 5 หมื่นรายในช่วงหลังสงกรานต์ แต่ทุกคนสามารถร่วมกันยกระดับมาตรการป้องกันเพื่อลดการติดเชื้อลงได้ โดยคาดว่าช่วงพฤษภาคม-มิถุนายนจะเป็นขาลงของการระบาด

 

 

ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ แม้ปัจจุบันสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นทำให้มีผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ขณะที่ผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยวันนี้พบเสียชีวิต 54 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและไม่ได้รับวัคซีน

 

นพ.โสภณกล่าวว่า ผู้สูงอายุมีการติดเชื้อน้อยกว่ากลุ่มวัยอื่น แต่มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าวัยอื่นหลายเท่า โดยเฉพาะสูงอายุ 70 ปีขึ้นไป อัตราติดเชื้อเสียชีวิตเกือบ 3% อายุ 60-69 ปี อัตราติดเชื้อเสียชีวิต 0.6% และอายุ 50-59 ปี อัตราติดเชื้อเสียชีวิต 0.2% และจากข้อมูลพบว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุ ช่วยลดการเสียชีวิตลง 41 เท่า เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้น ในช่วง 1 เดือนกว่าๆ ก่อนสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกหลานจะกลับไปเยี่ยมที่ต่างจังหวัด

 

 

ผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19

 

กระทรวงสาธารณสุข ได้สนับสนุนให้ทุกหมู่บ้านมีทะเบียนรายชื่อผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด 19 เพื่อเป็นข้อมูลให้ทุกหน่วยงานร่วมกันนำผู้สูงอายุมารับวัคซีนให้ครบถ้วนมากที่สุด และขอให้ผู้สูงอายุ 2.17 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้มารับวัคซีนเข็มแรก หากฉีดเข็มแรกแล้วให้ฉีดเข็ม 2 ตามนัด และหากรับครบ 2 เข็มเกิน 3 เดือนให้มารับเข็มกระตุ้น  เนื่องจากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เหมือนปีที่แล้ว ที่หลายครอบครัวสูญเสียผู้สูงอายุ จากการที่ลูกหลานกลับมาเยี่ยมพร้อมนำเชื้อมาด้วย เพื่อให้ลูกหลานกลับบ้านอย่างสบายใจ โดยลูกหลานก็ต้องฉีดวัคซีนและต้องป้องกันตนเองด้วยเช่นกัน

 

"มีข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลำปาง ทำการสำรวจประชาชน 86,798 คน พบว่า 37.8% ไม่ต้องการรับวัคซีนเข็ม 3 แม้ถึงเวลาที่กำหนดแล้ว เนื่องจากกังวล กลัวผลข้างเคียง และกลัวเสียชีวิต 21% และคิดว่าฉีด 2 เข็มเพียงพอแล้ว 14% ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ถ้าช่วยกันแก้ความเข้าใจผิดได้ก็จะนำกลุ่มนี้เข้ามาฉีดวัคซีนได้มากขึ้น นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนในเด็กก็จะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อในผู้สูงอายุได้ด้วย" นพ.โสภณกล่าว

 

ทำไมผู้สูงอายุต้องฉีดวัคซีน

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก สามารถติดต่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาผ่านสายด่วนต่างๆ ได้ โดยพื้นที่ กทม.ติดต่อสายด่วนประจำเขต 50 เขต หรือสายด่วน 1669 กด 2 ส่วนต่างจังหวัดมีสายด่วนประจำจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีเบอร์กลาง คือ สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีการโทรลงทะเบียนจำนวนมากขึ้นด้วย โดยสายด่วน 1330 มีผู้โทรเข้ามาสูงถึง 70,300 สาย

 

แต่ละสายเราใช้เวลาในการพูดคุยสอบถามประมาณ 7 นาที ทำให้ส่วนหนึ่งเมื่อโทรเข้ามาแล้วสายไม่ว่างหรือไม่ได้รับสาย แม้จะมีการขยายคู่สายจนเต็ม 3,000 คู่สาย และเพิ่มจำนวนผู้รับสายแล้วมาตั้งแต่ช่วงปีใหม่ ดังนั้น จึงมีการเพิ่มช่องทางลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ สปสช. หรือไลน์ @nhso รวมถึงรับสมัครจิตอาสาทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนมาช่วยด้วย

 

 

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มทางเลือกการเข้ารับการรักษาสำหรับผู้ติดเชื้อไม่มีอาการและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงในการตรวจแบบผู้ป่วยนอก ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่ต้องลงทะเบียน แต่สามารถไปติดต่อหน่วยบริการตามสิทธิได้ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

 

"การเพิ่มจำนวนผู้รับสายและเพิ่มบริการแบบผู้ป่วยนอก ทำให้จำนวนสายที่โทรเข้ามาสายด่วน 1330 ลดลงจาก 7 หมื่นสาย เหลือ 5.5 หมื่นสาย และอัตราไม่ได้รับสาย ซึ่งเดิมมีประมาณครึ่งหนึ่ง ก็ลดลงเหลือไม่ถึง 1 ใน 4 แล้ว และคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ จำนวนสายที่ไม่ได้รับหรือรอสายจะลดลง" ทพ.อรรถพรกล่าว