ฮาริโอะ คาเฟ่พรีเมี่ยมสไตล์ญี่ปุ่นเขย่าตลาด Speciality Coffee

26 ก.พ. 2565 | 13:59 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2565 | 21:00 น.

อโรม่า กรุ๊ป เปิดเกมรุกธุรกิจร้านกาแฟ consumer และ Speciality Coffee รีเทิร์นลงทุนเพิ่มทั้งรีแบรนดิ้ง รีดีไซน์ Aroma Shop พร้อมปักหมุด “ฮาริโอะ” คาเฟ่พรีเมี่ยมสไตล์ญี่ปุ่น หวังเพิ่มพอร์ตกาแฟพิเศษ และ Accessories Slow Bar มั่นใจดันรายได้ทะลุ 2,000 ล้านบาท

ธุรกิจร้านกาแฟในประเทศไทยช่วง 2 ปี ที่ผ่านมายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคกาแฟผ่านช่องทาง off-trade มากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขของตลาดในปี 2564 ที่มีการเติบโต 7.2% จากปริมาณการบริโภคกาแฟของคนไทยเฉลี่ยมากกว่า 300 แก้วต่อคนต่อปี

 

นอกจากนี้มาตรการ WFH (Work from Home) ยังส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาให้สนใจการชงกาแฟดื่มเองมากขึ้น ทำให้เกิดการซื้อเมล็ดกาแฟ โดยเฉพาะเมล็ดกาแฟพิเศษหรือผงกาแฟรวมไปถึงเครื่องชงกาแฟมาทำเองที่บ้านมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเครื่องชงกาแฟ Home Brewing เติบโตถึง 10.7%

 

นายกิจจา วงศ์วารี กรรมการบริหาร บริษัท อโรม่า กรุ๊ป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมโดยรวมของกาแฟเติบโตอย่างมากในตลาดใหม่ Niche market ที่มีลูกค้าประจำ ส่วนร้านกาแฟทั่วไปอาจจะดรอปลงบ้างจากการที่มีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาในตลาดมาก และหากไม่มีการล็อกดาวน์ยอดขายอาจดรอปลงบ้างแต่ไม่น่าเกิน 20%

อโรม่า กรุ๊ป

โดยในปีที่ผ่านมาสัดส่วนร้านกาแฟเปิดใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นร้านกาแฟระดับพรีเมี่ยม เพราะปัจจุบันคนไทยเริ่มมองหากาแฟที่ถูกใจตัวเองมากขึ้นและพร้อมที่จะจ่ายมากขึ้น ในขณะที่วัยของผู้ที่ดื่มกาแฟเองก็ต่ำลงเรื่อยๆ

 

ในส่วนของอโรม่า กรุ๊ป ปัจจุบันดำเนินธุรกิจการขายส่งเมล็ดกาแฟคั่วบด ชา โกโก้และเครื่องชงกาแฟ ซึ่งมีเอาท์เล็ตของอโรม่า กรุ๊ป ที่มีซัพพลายเมล็ดกาแฟ เครื่องดื่ม และอุปกรณ์ที่ใช้ในร้านกาแฟทั้งหมด 31 สาขา และเอาท์เล็ตของชาวดอย 300 สาขา โดยภาพรวมธุรกิจในปี 2562 ยอดขายลดลง 8% และกลับมาเติบโตใน 2563-2564 ราว 15% สำหรับปีนี้ตั้งเป้าโต 20-25% หรือคิดเป็นยอดขายราว 2,000 ล้านบาท

อโรม่า กรุ๊ป

สำหรับปีนี้อโรม่า กรุ๊ป มีแผนจะขยาย outlet aroma shop เพิ่มเติม 3 สาขา หากสถานการณ์เอื้ออำนวยซึ่งหลักๆจะเป็นในเรื่องของการก่อสร้างที่เป็นปัญหาทำให้ที่ผ่านมาขยายสาขาได้ไม่ตามเป้า ในส่วนของ outlet กาแฟชาวดอยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการลดจำนวนการขยายสาขาลงจาก 40 สาขาต่อปีเหลือปีละไม่เกิน 30 สาขา โดยเน้นเปิดในโลเคชั่นที่มีความเป็นนิว นอร์มอลมากขึ้น

 

“นับจากนี้เป็นต้นไป อโรม่า กรุ๊ป จะเริ่ม rebranding และ redesign shop ใหม่ให้เข้ากับ lifestyleปัจจุบันทั้งเทรนด์การตกแต่งหรือการใช้งานร้านกาแฟที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพิ่มไลน์สินค้า เช่น ชาวดอยในเวอร์ชั่นใหม่จะมีส่วน Drip Bar เข้ามาเพิ่ม”

 

นายกิจจา กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งธุรกิจที่บริษัทจะโฟกัสคือ แบรนด์ ฮาริโอะ คาเฟ่ แบงคอค ซึ่งถูกวางโพสิชั่นเป็นร้านกาแฟพรีเมียม ในคอนเซ็ปต์สไตล์ญี่ปุ่น เนื่องจาก branding ของฮาริโอะคือ Accessories อุปกรณ์การชงกาแฟ ดังนั้นโจทย์สำคัญคือ การกระตุ้นให้คนอยากใช้งาน บิสิโมเดลจึงออกมาในรูปของการขายโดยใช้ประสบการณ์เป็นหลัก

 

เนื่องจากโปรดักท์เป็นญี่ปุ่นดีไซน์ของร้านฮาริโอะ จึงเป็นไปในลักษณะของ Drip Bar เพื่อให้ประสบการณ์กับผู้บริโภคในการนั่งดื่มกาแฟไป ดูบาริสต้าชงกาแฟและมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างลูกค้ากับบาริสต้าหรือลูกค้าด้วยกันเอง

 

“ในฮาริโอะ มีสโลว์ บาร์ เป็นหลักเพื่อที่เวลามีสินค้าใหม่เข้ามาเราจะสามารถพรีเซนต์บนบาร์ได้ ทำให้การขายกาแฟเป็นแก้วได้เพิ่มมากขึ้น พอเกิดการลองก็เพิ่มโอกาสในการซื้อ Accessories กลับบ้าน และเป็นการช่วยให้ตลาดกาแฟในบ้านเติบโตด้วย ซึ่งที่ผ่านมาตลาดกาแฟที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยคือตลาดกาแฟสำเร็จรูป (Instant Coffee) ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่กาแฟคั่วบดชงยากกว่าไม่มาก แต่ได้ประสบการณ์มากขึ้นก็น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสนใจมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ฮาริโอะ จึงเป็นเหมือนโมเดลนำร่องของ อโรมา กรุ๊ป ในการเข้าสู่ตลาด consumer และ Speciality”

อโรม่า กรุ๊ป

นอกจาก Slow Bar แล้วใน ฮาริโอะ คาเฟ่ แบงคอคยังมี Speed bar และเมล็ดกาแฟที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศและได้ขึ้นโต๊ะชิงแชมป์โลกตั้งแต่อันดับ 1-20 กว่า 40 ชนิดจาก 4 ประเทศ เพื่อให้คอกาแฟมาหาประสบการณ์และลองรสชาติที่หลากหลาย

 

ปัจุบัน ฮาริโอะ คาเฟ่ แบงคอค มีทั้งหมด 2 สาขา ซึ่งเป็นโมเดลร้านกาแฟ Slow Bar + show room Accessories กาแฟแบรนด์ ฮาริโอะ เปิดตัวครั้งแรกในปี 2562 ซึ่งยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฝั่งAccessories ในแต่ละปีเติบโต 30- 40 % ขณะที่การขายกาแฟ Slow Bar และ Speed bar มีสัดส่วนรายได้เท่าๆกัน

อโรม่า กรุ๊ป

สำหรับปีนี้ ฮาริโอะ คาเฟ่ แบงคอคมีแผนเปิดสาขาเพิ่ม 2 สาขาในกรุงเทพและภูเก็ต เพิ่มไลน์กาแฟใหม่ๆเข้ามาโดยโฟกัสในเรื่องของกาแฟคุณภาพสูงมากขึ้น ในส่วนของอุปกรณ์แต่ละปีจะมีสินค้าใหม่ 30-40 รายการ ซึ่งบริษัทจะเลือกสินค้าที่ถูกกับตลาดเมืองไทยเข้ามา นอกจากนี้ยังเริ่มลงไปเพาะปลูกไร่ Speciality Coffee ในเมืองไทย รวมไปถึงขยายสาขา Aroma shop 3-4 สาขาในต่างจังหวัด เพราะเชื่อว่าในอนาคตอุตสาหกรรมของกาแฟคุณภาพที่ดีกว่าปัจจุบันนี้เติบจะโตขึ้นอีกมาก

 

“ในส่วนของ ฮาริโอะ เป้าหมายหลักของเรายังโฟกัสขายสินค้ามากกว่ากาแฟชง และเรากำลังมองโมเดลใหม่ๆเช่น การไปร่วมมือกับร้าน Speciality Coffee ในพื้นที่มากกว่าการลงทุนขยายสาขาเองเพราะ Slow Bar ควบคุณภาพยากกว่า speed bar และการลงทุนที่ค่อนข้างสูง 30-40 ล้านบาทต่อสาขา แต่หากเป็นการคลอแลปกับร้านกาแฟการลงทุนจะอยู่ที่ 2-3 ล้านบาทในส่วนของการสต๊อกสินค้าที่จะนำไปวางขาย และการตกแต่งร้านให้เป็นธีมเดียวกับฮาริโอะ เพราะเราต้องการ represent สินค้าเอาสินค้าเข้าไปในบ้านคนให้ได้ ไม่ใช่เรียกคนมากินกาแฟที่ร้าน”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,760 วันที่ 24 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565