เปิดเวทีถก ‘ราคากลาง’ ยกระดับอุตสาหกรรมกัญชง

06 ก.พ. 2565 | 12:07 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2565 | 19:08 น.
1.5 k

อุตสาหกรรมกัญชง ส่อเค้าวุ่น ราคาซื้อ-ขายรับได้ฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายไม่ตรงกัน TIHTA ยกเข่งทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ปลูก ผู้ประกอบการและนักวิชาการ นั่งถก “โครงสร้างราคาซื้อ-ขายวัตถุดิบจากพืชกัญชง”

ท่ามกลางการเติบโตที่โดดเด่นและน่าสนใจของ “อุตสาหกรรมกัญชง” ที่เริ่มต้นได้เพียง 1 ปี หลังจากจากการปลดล็อกและผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจทำให้ผู้ประกอบการจากหลายอุตสาหกรรมกระโดดเข้ามาร่วมวงจำนวนมาก หากปี 2564 เป็นปีทองของธุรกิจต้นนํ้าและกลางนํ้า ปี 2565 ก็นับเป็นปีทองของธุรกิจปลายนํ้าที่จะเริ่มปล่อยสินค้าออกสู่ตลาด

 

แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะเริ่มมองเห็นภาพซัพพลายเชนที่ครบถ้วน แต่ทว่ายังมีความท้าทายของอุตสาหกรรมในเรื่อง “ราคากลาง” ที่ยังไม่มีความชัดเจนพอและอาจเป็นสาเหตุให้ “อุตสาหกรรมกัญชง” ต้องสะดุด เนื่องเพราะราคาที่ต้อง การซื้อและราคาที่ต้องการขายไม่สมดุลกัน

กัญชง

ปัจจุบันในส่วนของช่อดอกแห้งกัญชงองค์การเภสัชกรรมได้ตั้งราคารับซื้อ ใน 3 ระดับคือ Grade A ปริมาณสาร CBD 12%
ราคา 45,000 บาท/กก. Grade B ปริมาณสาร CBD 10-11.9% ราคา 37,500-43,125 บาท/กก. และ Grade C ปริมาณสาร CBD 8-9.9% ราคา 30,000-35,625 บาท/กก.

 

ในส่วนอื่นนอกเหนือจากราคาช่อดอกแห้งที่อย.รับซื้อ ที่ผ่านสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TIHTA) ได้เป็นตัวตั้งตัวตี ในการเชิญหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมถกปัญหาและกำหนดโครงสร้างราคากลางในการซื้อ-ขายกัญชง เพื่อสร้างระบบการแข่งขันที่เป็นธรรมในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมกัญชง

 

นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย เปิดเผยว่า หลักการในการกำหนดราคากลาง คือการนำโครง สร้างต้นทุนของผู้ผลิต มาวิเคราะห์ เพื่อหาราคาอ้างอิง และควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วม ในการกำหนดราคากลาง ในการซื้อ-ขายอย่างยุติธรรม และเกิดความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขายซึ่งสุดท้ายทุกอย่างจะวนกลับไปที่ Demand Supply

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ TIHTA เสนอเกณฑ์ในการตั้งราคากลางผลผลิตกัญชง ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ (1) ปริมาณสารสำคัญในช่อดอก (2) รูปแบบการปลูกสัมพันธ์กับต้นทุนการผลิต/เกรดการผลิต และ (3) การปนเปื้อนของวัตถุดิบ เช่นยาฆ่าแมลง โลหะหนัก และเชื้อรา รวมทั้งรวบรวมข้อมูลโครงสร้างราคาเฉลี่ยเบื้องต้น

กัญชง

คือราคาช่อดอกแห้งจากการปลูกระบบปิด (Indoor) ที่ตรงตามเงื่อนไขมาตรฐานการรับซื้อจะเริ่มต้นที่ 24,000-32,000 บาท/กิโลกรัม ในระดับสาร CBD 8-9.9% ไปจนถึงราคา 45,000- 90,000 บาท/กิโลกรัม ในระดับสาร CBD 14% ขึ้นไป และราคาช่อดอกแห้งจากการปลูกระบบกึ่งปิด (Green House) ที่ตรงตามเงื่อนไขมาตรฐานการรับซื้อจะเริ่มต้นที่ 5,000-12,000 บาท/กิโลกรัม ในระดับสาร CBD 5-7.9% ไปจนถึงราคา 15,000-40,000 บาท/ กิโลกรัม ในระดับสาร CBD 10% ขึ้นไป เป็นต้น

 

ขณะที่แกนกัญชงและเส้นใยกัญชงฝั่งเกษตรกรต้องการขาย ต้นสดกัญชง ในราคา 10-15 บาท, เปลือกแห้งลอกโดยมือ ราคา 500 บาท/กก. ซึ่งราคานี้โรงงานไม่สามารถซื้อได้อย่างแน่นอน ,เปลือกแห้งลอกด้วยเครื่อง 350-500บาท/กก., แกนแห้งบดหยาบ 50-150 บาท/กก.ขึ้นอยู่กับความแห้งและความสมบูรณ์, ใยกัญชง ที่ผ่านการต้มและปั่นพร้อมทอ 2,500-4,000 บาท/กก. ซึ่งฝั่งผู้ซื้อไม่สามารถซื้อในราคานี้ได้

 

ด้านผู้ประกอบการภาคเอกชน ทั้งส่วนของต้นนํ้า กลางนํ้า ปลายนํ้า มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการกำหนดราคากลางเพื่อซื้อ-ขายวัตถุดิบจะต้องมีการตั้งมาตรฐานที่ดีเพื่อใช้ร่วมกันในประเทศ โดยใช้กลไกราคาของประเทศไทยเป็นหลัก เพราะหากนำราคาในต่างประเทศ มาเป็นข้อเปรียบเทียบอาจส่งผลก่อให้เกิดความล้มเหลวในโครงสร้างของพืชกัญชงไทยได้ และกัญชงยังเป็นพืชที่ปลูกเพื่อวัตถุประสงค์ตามใบอนุญาต ฉะนั้นในการทำเอกสารสัญญาการซื้อขายทั้งใบสั่งซื้อ ระยะเวลาการรับซื้อให้ชัดเจน รวมถึงร่วมกำหนดมาตรฐานของวัตถุดิบ ให้สอดคล้องกับกับราคาซื้อขาย

 

ในขณะที่ภาครัฐนำโดย ภก. ดร.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นว่านอกเหนือจากการกำหนดราคากลางแล้ว การจัดทำ Market place และทะเบียนผู้ประกอบการเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการในภาคส่วนต่างๆ ได้เล็งเห็นถึงปลายทางได้ชัดเจนมากขึ้น และแนวโน้มในการวางมาตรฐานการผลิตของตนเองและการลงทุนเช่นกัน

 

ยังต้องจับตาต่อไปว่าที่สุดแล้วราคากลางในการซื้อ-ขายกัญชง จะอยู่ ณ จุดใด ที่เหมาะสมและสามารถตอบโจทย์ดีมานด์ ซัพพลายในตลาดได้