เมโทรแผ่นเสียง งัด 3 กลยุทธ์ดิจิทัล – กล่องเพลง - ลิขสิทธิ์ ลุยต่อธุรกิจ

05 ก.พ. 2565 | 14:45 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2565 | 21:54 น.

"เมโทรแผ่นเสียง" สู้ต่อ ชู 3 กลยุทธ์ ดิจิทัล กล่องเพลง และลิขสิทธิ์เพลงดัง ขยายช่องทางการตลาดครอบคลุม ผนึกพันธมิตรสร้างโปรดักส์ใหม่ หวังปั้นรายได้ปี 2565

ผู้สื่อข่าวรายงาน บริษัท เมโทรแผ่นเสียง-เทป (1981) จำกัด ยืนหยัด ก้าวสู่ปี 57 จากการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยตลอดเวลา ในปี 2565 เมโทรฯ ยังไปต่อ ด้วย 3 กลยุทธ์สำคัญ คือ “ดิจิทัล” ที่แฟนเพลงสามารถโหลดเพลง ฟังเพลงของค่าย ทั้งสุนทราภรณ์ ลูกกรุง และลูกทุ่งอมตะ ได้จากหลายช่องทาง เช่น Joox,  Apple Music, Spotify

 

ล่าสุด ผ่านแอป “Plern” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่องยูทูป ของเมโทร ที่ทั้งฟังเพลง-ชมวิดีโอ-ร้องคาราโอเกะ ฟรี ภายใต้ชื่อช่อง “Metro Records” (https://www.youtube.com/c/Metrorecordschannel) มีแฟนเพลงติดตามมากกว่าสี่แสนคน สร้างสังคมเล็กๆ ของคนฟังเพลงแนวเดียวกัน ได้พูดคุยกันใต้คอมเม้นท์เพลงที่ชอบ โดยหากสนใจสั่งสินค้าก็ยังสามารถสั่งผ่านช่องทางดิจิทัลได้ครบทั้งหมด ทั้ง Facebook, Line Shop, Lazada หรือ Shopee เป็นต้น

กลยุทธ์ด้านตัวสินค้า ปัจจุบัน เน้นที่ “กล่องเพลง” หรือ “มิวสิคบ๊อกซ์” ซึ่งเป็นลำโพง-วิทยุพกพา ที่บรรจุเพลงของค่ายเอาไว้เป็นหลักพันเพลง ในราคาที่คุ้มค่าสุดๆ ได้แก่ “กล่องเพลงสุนทราภรณ์รุ่นอัปเกรด 1,500 เพลง” “กล่องเพลงลูกกรุงโกลเด้นฮิตส์ 2,200 เพลง” และล่าสุด จับมือกับค่ายทีวีดาวเทียมยักษ์ใหญ่ ออกสินค้า “MV Music Box ชุดเพชรน้ำเอก 2,000 เพลง” ในราคา 990 บาท 

 

กลยุทธ์ที่สาม คือ การอนุรักษ์เพลงเก่าที่มีคุณค่า ด้วยการบริหารลิขสิทธิ์เพลงที่มีอยู่ ให้ได้มีการนำมาใช้ เผยแพร่สู่คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการขับร้องใหม่ในรายการประกวดร้องเพลงยอดฮิตทางโทรทัศน์ การใช้ในงานโฆษณาสินค้า หรือการให้ร้องคัฟเวอร์โดยศิลปินอินดี้ในโลกดิจิทัล

ค่ายเมโทรแผ่นเสียง เกิดจากร้านจำหน่ายแผ่นเสียงเล็กๆ ที่เปิดขึ้นในปี พ.ศ. 2508 จนได้รับความไว้วางใจเป็นผู้จัดจำหน่ายอัลบั้มเพลงสุนทราภรณ์ต้นฉบับเดิม ต่อมาได้เปิดตัวเป็นค่ายเพลงค่ายแรกๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ ผลงานเด่น อาทิ “ปั้นดินให้เป็นดาว” โดย ธานินทร์ อินทรเทพ “หัวใจสลาย” โดยวงประสานเสียง เดอะฮอทเปปเปอร์ซิงเกอร์ส แจ้งเกิดลูกทุ่งหมอลำชื่อดัง “พิมพา พรศิริ” และ ราชาลูกทุ่งจากแดนใต้ “เอกชัย ศรีวิชัย”

 

ถึงวันนี้ ชื่อ “เมโทรแผ่นเสียง” จึงยังคงเป็นค่ายเพลงที่คนเอ่ยถึง เมื่อนึกถึงเพลงอมตะ ทั้งเพลง สุนทราภรณ์ - เพลงลูกกรุงอมตะ – และเพลงลูกทุ่งอมตะ