อุตสาหกรรมยาปีเสือโต 3-5% แม้โควิด-19 ซา

02 ก.พ. 2565 | 14:46 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2565 | 22:14 น.

​ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองตลาดยา ปี2565 ส่อแววขยายตัวต่อเนื่อง3-5% หรือมีมูลค่า2.33-2.38 แสนล้านบาท แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นและความต้องการยารักษาโควิดจะลดลง คาดผู้ผลิตหรือนำเข้ายาจากต่างประเทศเติบโตได้ดี

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะส่งสัญญาณดีขึ้นตามลำดับ และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาซึ่งเติบโตอย่างมากในช่วง2ปีที่ผ่านมาจากความต้องการของตลาด

 

อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นจนทำให้ความต้องการยาเพื่อรักษาโควิด-19 อาจปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีการระบาดรุนแรง

แต่ในทางกลับกัน อาจทำให้คนไข้ไทยกลุ่มเดิมที่รักษาโรคทั่วไป และคนไข้ต่างชาติบางกลุ่มทยอยกลับมาใช้บริการรักษาพยาบาลในไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปีนี้

ก็น่าจะยังหนุนให้มูลค่าตลาดยาในประเทศ ปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.33-2.38 แสนล้านบาท ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง 3.0-5.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัว 2.5% (ภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการระบาดที่รุนแรงของสายพันธุ์ใหม่ หรือเกิดกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่)

โดยช่องทางการจำหน่ายยาในประเทศส่วนใหญ่จำหน่ายผ่านโรงพยาบาลรัฐ 60% ซึ่งครอบคลุมระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลักของประเทศ โรงพยาบาลเอกชน 25% และร้านขายยาอีก 15% โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การจำหน่ายผ่านช่องทางโรงพยาบาลรัฐน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่จะพึ่งพิงสวัสดิการรักษาพยาบาลของภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่ร้านค้าขายยารายย่อยต้องเผชิญการแข่งขันจากการเติบโตของร้านขายยาแฟรนไชส์และการขยายจุดจำหน่ายยาของห้างค้าปลีก ทั้งนี้ เม็ดเงินค่าใช้จ่ายสำหรับยาต้นตำรับ (Original Drugs) ต่อยาชื่อสามัญ (Generic Drugs) มีสัดส่วนประมาณ 45:55 ของค่าใช้จ่ายยาในประเทศทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดยาในประเทศน่าจะเป็นโอกาสของผู้ผลิต/นำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากมูลค่าตลาดยากว่า 70% ของมูลค่าตลาดยาทั้งหมดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากไทยต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่คุณภาพและมาตรฐานของการผลิต การสร้างความเชื่อมั่นหรือการยอมรับให้กับผู้ใช้ (โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์) ตลอดจนการทำการตลาดให้หันมาใช้ยาที่ผลิตในประเทศมากขึ้น

 

โดยอาจจะเริ่มจากยาชื่อสามัญ (Generic Drugs) ที่ไทยพอจะมีศักยภาพในการผลิตได้ ในขณะที่ยาต้นตำรับ (Original Drugs) เนื่องจากต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาที่ใช้ระยะเวลานานและเงินลงทุนสูง จึงอาจยังต้องพึ่งพาการนำเข้า