เปิดยุทธศาสตร์ “แม็คโคร” หลังซินเนอยี่ “โลตัส” เดินหน้าต่ออย่างไร

03 ธ.ค. 2564 | 18:45 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2564 | 01:57 น.
1.2 k

เปิดแผนยุทธศาสตร์“แม็คโคร” -“โลตัส” ซินเนอยี่ธุรกิจค้าส่ง (B2B) และค้าปลีก (B2C) พัฒนาแพลตฟอร์มออมนิชาแนล (O2O) รับยุคดิจิทัล ปูพรมสู่การเติบโตในระดับภูมิภาค

เป็นก้าวสำหรับก้าวย่างที่สำคัญของแม็คโครและโลตัส สำหรับการผนึกกำลังสร้างการเติบโตในธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกที่ไม่ใช่แค่ในเมืองไทยแต่จะเติบโตในภูมิภาค  ขณะที่หลายคนจับตามองเขาว่าศักยภาพในการเติบโตของทั้งแม็คโครและโลตัสหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร และมีความน่าสนใจที่จะเปิดโอกาสให้บรรดาผู้ลงทุนส่วนบุคคลมีส่วนร่วมกับโอกาสการเติบโตครั้งนี้

 

นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร
นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโครเปิดเผยว่า การที่แม็คโครรวมกับโลตัส มีพันธกิจหลักที่มุ่งจะเป็นผู้นำองค์กรอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย โดยประสานช่องทางการขายที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น  B2B (Business to Business หรือการค้ากับผู้ประกอบการ) และค้าปลีกแบบ B2C (Business to Consumer หรือการค้ากับผู้บริโภค)  

 

“สถานะปัจุบันหลังรวมกันแล้วเรามีฐานลูกค้าขนาดใหญ่และหลากหลายไม่ว่าจะเป็นลูกค้าผู้ประกอบการหรือลูกค้าผู้บริโภคสุดท้าย ผ่านรูปแบบของร้านค้าหลายๆรูปแบบรวมทั้งระบบนิเวศของการทำธุรกิจแบบออนไลน์สำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเราเป็นผู้นำออนไลน์ทางด้านอาหารสดและสินค้าอุปโภคบริโภคเพราะฉนั้นเรามีการทำงานร่วมกันในการจัดหาแหล่งสินค้าและคัดสรรสินค้าที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม

เปิดยุทธศาสตร์ “แม็คโคร” หลังซินเนอยี่ “โลตัส” เดินหน้าต่ออย่างไร

จากวันนี้ไปเราจะทำงานร่วมกันเพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น โดยการลดการซ้ำซ้อนหลายๆอย่างในธุรกิจของเราทั้งสอง และที่สำคัญอย่างยิ่งเราจะสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้กับทุกๆหน่วยที่เราเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือSME คู่ค้าหรือแม้กระทั่งพนักงานไปจนถึงผู้ถือหุ้น นักลงทุนด้วย”

 

หลังจากควบรวมกันแล้ว แม็คโครและโลตัสได้กำหนดรูปแบบการนำเสนอสินค้าให้กับผู้บริโภคในรูปแบบคือในส่วนของค้าส่ง แม็คโครอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลาถึง 32 ปี ในส่วนของค้าปลีก คือ โลตัสซึ่งวันนี้ได้ทำแบรนด์ใหม่ ที่ให้ภาพลักษณ์ที่ทันสมัยมากและรูปแบบสุดท้ายคือพื้นที่ให้เช่าซึ่งอยู่ในห้างขนาดใหญ่ของโลตัส ส่งผลให้มียอดขายรวมกันในปีที่ 427,000ล้านบาท 

 

ส่วนแผนในอนาคต สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ประการที่สองการสร้างแพลตฟร์อม O2O โดยใช้ระบบของออนไลน์เข้ามาช่วย จากนั้นจะมีการปรับ branding และ store ของโลตัสให้มีความทันสมัยตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น และที่สำคัญคือโอกาสที่จะเติบโตไปในต่างประเทศ ซึ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในประเทศจีน ขณะเดียวกันธุรกิจที่เป็นสินค้าอุปโภค บริโภคสมัยใหม่ในประเทศต่างๆยังถือว่ามีน้อยมากไม่ว่าจะเป็นในอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซียหรือในฟิลิปปินส์ เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นเป็นโอกาสในการขยายตัวไปในตลาดต่างประเทศมากขึ้น แต่ต้องมีการพิจราณาว่าจะสามารถขยายธุรกิจได้ในช่วงไหนซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาอย่างเร่งรีบ

 

นอกจากนี้บริษัทยังให้การสนับสนุน SMEs และผู้ผลิตสินค้ารายย่อยของไทย ผ่าน “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าไทยสู่ผู้บริโภคในระดับภูมิภาค ผ่านระบบนิเวศออนไลน์ (Online ecosystems) ของการค้าปลีกรูปแบบใหม่ โดยให้บริการแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Marketplace) แบบ B2B นอกจากนี้มีแผนลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ Makroclick.com แอปพลิเคชัน Makro Application และ Makro Line Official Account รวมทั้งช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วย

นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย

ด้านนายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย เปิดเผยว่าหลังจากนี้ ภาพการเติบโตของโลตัส 4 จะประกอบไปด้วย 4ด้าน ภาพแรกคือการเติบโตของแบรนด์ ซึ่งโลตัสมีความแข็งแกร่งในธุรกิจB2C ถ้ามองในมุมเครือข่ายร้านค้าปัจจุบันมีมากกว่า 2000 สาขาทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งโลตัสยังมองเห็นโอกาสการเติบโตของเครือข่ายร้านค้าในอนาคตต่อเนื่อง นอกจากนี้โลตัสยังอยูในช่วงระหว่างการเปลี่ยนแปลงบริษัทต้องการสร้างโลตัสยุคใหม่ให้เป็นจุดหมายของความsmart ในการช้อปปิ้งความsmartในการจับจ่ายใช้สอยโดยแตกแบรนด์ใหม่ๆออกมารวมถึงการปรับโพซิชั่นนิ่งให้เหมาะสมกับลูกค้ามากขึ้นภายใต้แบรนด์  “โลตัส โก เฟรช” ซึ่งในอนาคตอันใกล้บริษัทต้องการนำแบรนด์นี้ไปปักธงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ภาพที่ 2 คือการเติบโตของธุรกิจศูนย์การค้า ซึ่งปกติโลตัสร้านใหญ่จะมาพร้อมกับศูนย์การค้าเสมอซึ่งถ้ารวมทั้งในประเทศไทยและมาเลเซียจะมีพื้นที่เช่าเพื่อให้ผู้ค้าเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อทำการค้ามากกว่า 1 ล้านตารางเมตร รวมทั้งในการบริหารกองทุน SSF โลตัสมีร้านอยู่ในนั้นอีก 23 ร้าน พื้นที่เช่าอีกประมาณ 3แสน กว่าตารางเมตร ซึ่งโลตัสเนี่ยถือหุ้นอยู่ 25% การเติบโตของศูนย์การค้าเเป็นการตัวประกอบที่ทำให้ธุรกิจของไฮเปอร์มาร์เก็ตสมบูรณ์มากขึ้นและทำให้ตัวร้านเป็นกลายเป็น smart community center 

เปิดยุทธศาสตร์ “แม็คโคร” หลังซินเนอยี่ “โลตัส” เดินหน้าต่ออย่างไร

ภาพที่ 3 การปรับตัวที่เน้นเรื่องของ food มากขึ้น โดยนำร้านเข้าใกล้ชุมชนมากขึ้น เช่นการสร้างร้าน Mini supermarket ที่เรียกกว่าโกเฟรช  ซึ่งช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิดบริษัทไม่ได้หยุดลงทุนและมีการเปิดร้านเพิ่มกว่า 200 แห่ง ซึ่งปัจุบันในแต่ละพื้นที่เริ่มฟื้นตัวขและกลับมาเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆและคาดว่าตัวเลขจะกลับไปที่ 95 %ซึ่งเป็นอัตราเดิมก่อนโควิด ภายในปีหน้า

 

 ภาพที่4 คือการผนึกกำลังกับแม็คโคร ซึ่งแต่ละธุรกิจมรการเติบโตและแข็งแกร่งในฟากของตัวเอง โลตัสB2C  แมคโครB2B ทำให้ปัจุบันแข็งแกร่งทั้ง 2 ด้านจากการสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งมากและพร้อมจะใช้ศักยภาพนี้ลงไปช่วย 3 กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยผ่านแพลตฟอร์มไอทีและโลจิสติกส์ ทำให้ทั้ง2ธุรกิจกลายเป็น smart retail และการเติบโตศูนย์การค้ามีการปรับให้เหมาะสมกับชุมชนและเปลี่ยนให้เป็น smart community center เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ นาย ธรินทร์ ธนียวันกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจโลตัสส์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ปัจจุบันทั้งแม็คโครและโลตัสในส่วนของธุรกิจออนไลน์กำลังจะสร้างบนกองกำลังที่แข็งแกร่งของออฟไลน์ คือการใช้กำลังสาขากว่า 100 สาขาของแม็คโครกับ supply chain เป็นจุดที่ส่งของออนไลน์ถึงมือลูกค้าในเวลาอันสั้น ขณะเดียวกันใช้สาขาของโลตัสกว่า 90 สาขาใหญ่ในการส่งสินค้าออกไปถึงลูกค้า ซึ่งในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาแม้จะอยู่ในช่วง covid แต่ทั้งแม็คโครและโลตัสยังมีการเติบโตและทำรายได้ แตะ22,000 ล้านบาท

เปิดยุทธศาสตร์ “แม็คโคร” หลังซินเนอยี่ “โลตัส” เดินหน้าต่ออย่างไร

“จุดแข็งของทั้งสองธุรกิจคือของสด สิ่งที่แม็คโครกำลังจะส่งออกสู่สายตาคนทั่วไปคือ ธุรกิจ B2B ออนไลน์ ต้นปีหน้าแม็คโครจะออกสิ่งที่เรียกว่าB2B  marketplace เคือจะมีทั้งแม็คโครและผู้ค้ารายย่อยเข้ามาอยู่ในตลาด B2B marketplace เพื่อขายของออนไลน์ให้กับเซ็กเมนต์ที่เติบโตสูงมากคือ B2B purchase online  ฝั่งของโลตัสเองจะมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ ทั้งการออก application ใหม่ที่ทั้งการขายของออนไลน์ และการรวมกลุ่มเป็น application ที่ตอบคำถามลูกค้าสัมพันธ์ และสิ่งสำคัญคือก่อนหน้านี้เรามีสาขาประมาณ 90 สาขาในการส่งของ แต่การมีโลตัส application นี้ขึ้นมาจะทำให้เราสามารถใช้สาขากว่า 2000 สาขาส่งของภายใน 1 ชั่วโมงให้ลูกค้าได้ นี่คือ investment ของเทคโนโลยีที่จะออกมาภายในหนึ่งปีข้างหน้า”



ด้านนางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร - กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร สายงาน Group Shared Service เปิดเผยถึงฐานะทางการเงินของทั้งสองธุรกิจว่า ผลประกอบการของแม็คโครก่อนจะรวมกับโลตัสในปี 2020 การเติบโตในประเทศลดลงไป 6 % มีกำไรถึง 12,500 ล้านบาท เมื่อรวมกับโลตัสแล้วคงจะหาช่องทางและโอกาสที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดดต่อไป 

 

ในส่วนของ 9 เดือนแรกแม็คโครยังเติบโตถึง 2.7% ปิดยอดรายได้ที่1.6แสนล้านบาท ขณะเดียวกันกำไรยังเติบโต4%ถึงแม้ว่ามีผลกระทบจากโควิด 19 ส่วนโลตัสในปี 2020 ยอดรายได้เติบโตเกือบ100%นะคะ คือจากยอดรายได้ที่เคยทำได้ 20,000 ล้านจะขึ้นไปเกือบ 43,000 ล้านบาท  แม็คโครปกติกำไรสุทธิจะอยู่ที่ 10.3 % แต่เมื่อมีโลตัสเข้ามาทำให้กำไรเพิ่มขึ้นแตะ 14 % 

 

“อนาคตมีแต่ดีขึ้นเพราะว่าสองเจ้ามารวมกันแล้วเอาความแข็งแกร่งมารวมกัน แม็คโครเป็นธุรกิจ โฮเซล เพราะฉนั้นการลงทุนของเราไม่ได้ลงทุนหวือหวา แต่พอมารวมกันแล้วความแข็งแกร่งทางการเงินก็ไม่ได้ลดลง”

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ปัจจุบันแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ได้รับการอนุมัติและแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว โดยการเสนอขายหุ้น PO ครั้งนี้มีจำนวนไม่เกิน 1,300 ล้านหุ้น ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 910 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือ CPH และบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด หรือ CPM จำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 390 ล้านหุ้น นอกจากนี้ อาจพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Overallotment shares หรือ กรีนชู) จำนวนไม่เกิน 130 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายแก่ประชาชนครั้งนี้  โดย MAKRO จะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ขยายธุรกิจในไทยและต่างประเทศ ชำระเงินกู้ยืมสถาบันการเงินบางส่วน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป 

 

ล่าสุด บมจ.สยามแม็คโคร กำหนดราคาเสนอขายของหุ้น PO ที่ 43.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 62,205 ล้านบาท (รวมมูลค่าของหุ้นส่วนเกิน) โดยเปิดให้ผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO CPALL และ CPF ที่ได้รับสิทธิ และนักลงทุนรายย่อย ได้จองซื้อระหว่างวันที่ 4 – 9 ธันวาคมนี้ 

 

ขณะที่การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น PO ที่ 43.50 บาทต่อหุ้น ถือเป็นราคาที่ไม่สูงและมีความเหมาะสมด้วยเหตุผล 4 ประการ ได้แก่ (1) นักลงทุนทุกกลุ่มจะได้จองซื้อในราคาเดียวกัน ทั้งผู้ถือหุ้นเดิมที่มีสิทธิได้รับจัดสรร ผู้จองซื้อรายย่อย นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนหลักแบบเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) (2) สื่อสารและดำเนินการกับนักลงทุนทุกกลุ่มได้ง่าย โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยและผู้ถือหุ้นเดิมที่มีสิทธิได้รับจัดสรร สามารถชำระเงินจองซื้อด้วยราคาเดียวกัน จึงลดปัญหากระบวนการคืนเงินจองซื้อ
(3) นักลงทุนจะได้จองซื้อหุ้นสามัญ MAKRO ในราคาเดียวกับราคา Swap Price (ราคาแลกเปลี่ยน) ในช่วงที่ บมจ.สยามแม็คโคร ออกหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) เพื่อรับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์จากบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด เท่ากับเป็นการลงทุนเพื่อเริ่มเติบโตไปพร้อมกับบริษัทฯ และ (4) ราคาเสนอขาย 43.50 บาทต่อหุ้น ยังต่ำกว่าราคาหุ้นเฉลี่ยย้อนหลัง 1 สัปดาห์ ซึ่งอยู่ที่หุ้นละประมาณ 47 บาท โดยมีส่วนลดประมาณ 7.5% และต่ำกว่าราคาหุ้นเฉลี่ยย้อนหลัง 1 เดือน ซึ่งอยู่ที่หุ้นละประมาณ 48 บาท โดยมีส่วนลดประมาณ 9.4% 

 

ทั้งนี้ จำนวนหุ้นที่เสนอขายครั้งนี้ไม่เกิน 1,300 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไม่เกิน 130 ล้านหุ้น ซึ่งทางบริษัทฯ พิจารณาแล้วว่าเหมาะสม เนื่องจากหลังสิ้นสุดการเสนอขายหุ้น PO จะมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) เกินกว่า 15% ตามเกณฑ์ขั้นต่ำของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีผลกระทบต่อสัดส่วนการถือครองหุ้น (Control Dilution) ของผู้ถือหุ้นเดิม และอัตรากำไรสิทธิต่อหุ้นของ MAKRO (EPS Dilution) น้อยกว่ากรณีที่มี Free Float เป็นจำนวนมากกว่านี้ขณะที่การเสนอขายหุ้น PO ดังกล่าว ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนหลักแบบเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) ซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบันชั้นนำ จำนวน 14 ราย ที่ได้ลงนามในสัญญา Cornerstone Placing Agreement รวมทั้งสิ้นประมาณ 423 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 18,400 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 32.5 ของจำนวนหุ้น PO ที่เสนอขายครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) ตอกย้ำถึงความมั่นใจของกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่มีต่อ บมจ.สยามแม็คโคร ที่เป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจค้าส่ง B2B และค้าปลีก B2C และมั่นใจว่าการเสนอขายในครั้งนี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO CPALL และ CPF ที่ได้รับสิทธิและนักลงทุนรายย่อยเช่นกัน 

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)  ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ผู้ถือหุ้นเดิมที่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ MAKRO สามารถจองซื้อผ่านแอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking และแอปพลิเคชัน SCB Easy โดยสามารถจองซื้อตามสิทธิที่ได้รับจัดสรร เกินกว่าสิทธิที่ได้รับจัดสรร (ไม่กำหนดจำนวนจองซื้อสูงสุด) หรือน้อยกว่าสิทธิที่ได้รับจัดสรรก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้จองซื้อได้รับการจัดสรรไม่ครบตามจำนวนที่จองซื้อ จะมีการคืนเงินให้แก่ผู้จองซื้อที่ได้รับจัดสรรไม่ครบตามจำนวนที่จองซื้อ 

 

ทั้งนี้ บมจ.สยามแม็คโคร ได้กำหนดอัตราส่วนการใช้สิทธิ (Ratio) จองซื้อหุ้นสามัญของ MAKRO ดังนี้ (1) ผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO ในอัตราส่วน 10 หุ้นสามัญของ MAKRO ต่อ 1 หุ้นสามัญของ MAKRO ที่เสนอขาย (2) ผู้ถือหุ้นเดิมของ CPALL ในอัตราส่วน 15 หุ้นสามัญของ CPALL ต่อ 1 หุ้นสามัญของ MAKRO ที่เสนอขาย และ (3) ผู้ถือหุ้นเดิมของ CPF ในอัตราส่วน 70 หุ้นสามัญของ CPF ต่อ 1 หุ้นสามัญของ MAKRO ที่เสนอขาย โดยการจัดสรรจะดำเนินการโดยระบบคอมพิวเตอร์ของ บริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด (SETTRADE) โดยจะจัดสรรหุ้นตามสิทธิที่ได้รับแก่ผู้ถือหุ้นเดิมทุกรายที่จองซื้อในรอบแรก และหากยังมีหุ้นเหลือจากการจัดสรรตามสิทธิ ในรอบถัดไปจะนำสิทธิของผู้ถือหุ้นเดิมของทั้ง 3 บริษัทที่แสดงความจำนงจองซื้อเกินกว่าสิทธิมารวมกัน และจะจัดสรรเพิ่มแก่ผู้จองซื้อเกินกว่าสิทธิของผู้ถือหุ้นเดิม จนกว่าหุ้นจะหมดหรือครบตามจำนวนที่มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิจองซื้อ ซึ่งจะเป็นไปตามรายละเอียดตามที่เปิดเผยในไฟลิ่ง