สังคมสูงวัย น่านน้ำใหม่ของนักการตลาด

29 ต.ค. 2564 | 18:17 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2564 | 19:41 น.

สังคมสูงวัย โอกาสทางการตลาดมหาศาล ที่ปัจจุบันจากมูลค่าสินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 9 แสนล้าน มีสืนค้าที่ดีไซน์เพื่อคนสูงวัยเพียง 1% "ชาลอต โทณวณิก" นักการเงิน-การตลาดสบช่อง สร้างคอนเทนต์ สนองซิลเวอร์เอจ ผ่านออนไลน์มีเดีย ตอบโจทย์สินค้า

นางชาลอต โทณวณิก นักการเงิน การตลาด การประชาสัมพันธ์ และบันเทิง เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย จึงกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของนักการตลาด ผู้สูงวัยในยุคปัจจุบันจะมีการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากในอดีตเรียกได้ว่าเป็น"วัยอิสระ"ที่ปลอดภาระ ทั้งด้านการงาน ด้านเศรษฐกิจ และอยากหาความสุขให้กับชีวิต และสามารถช่วยเหลือตัวเองให้มีความเป็นอยู่สะดวกสบายจากการที่มีเทคโนโลยีที่ user friendly คือใช้ง่าย มี ทำให้เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของสินค้าและบริการ รวมถึงการแสวงหาความรู้ในเรื่องที่สนใจได้ง่ายๆ จาก social media

จึงทำให้มีการทำ online media ต่างๆ เพื่อกลุ่มเป้าหมายนี้มากขึ้น เช่น ช่อง "Young Enjoy by Charlotte" ที่ทำขึ้น ด้วยการนำเรื่องราวที่น่าสนใจ ทั้งด้าน ไลฟ์สไตล์และองค์ความรู้ต่างๆ มานำเสนอ

สังคมสูงวัย น่านน้ำใหม่ของนักการตลาด

"จากประสบการณ์และ เครือข่ายที่สะสมมาเป็นเวลานานมาก ทำให้มีเรื่องราวที่น่าสนใจและสนุกสนาน ที่จะสามารถมาถ่ายทอดให้ผู้ติดตาม ที่แม้จะมุ่งในวัยที่เกษียณแล้ว แต่กลุ่มอื่นก็สามารถที่จะดูได้อย่างสนุกสนานด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกินดีอยู่ดี กินเที่ยวแบบหรู หรือแบบเดินดินกินข้าวแกงแต่เป็นของอร่อย การเที่ยวแบบ exclusive แม้กระทั่ง เรื่องความเชื่อต่างๆ เช่น การพยากรณ์ ที่เราเองก็ต้องเชื่อว่าดูได้ตรง มานำเสนอ"

สังคมสูงวัย น่านน้ำใหม่ของนักการตลาด

นางชาลอต เล่าว่า โชคดีที่เทปแรกในชื่อช่องใหม่นี้ ได้ อาจารย์พรหมญาณที่เคยทำนายเรื่องโควิดไว้แม่นมาก และในคลิปแรกเดือนเมษายนได้ยอดเกือบล้านวิว พยากรณ์ว่าหลังเปิดประเทศแล้วจะเป็นอย่างไร และยังได้พระเอกตลอดการอย่าง ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง มาร่วมสนทนา ทำให้มีความน่าสนใจ โมเดลธุรกิจก็คือการรับทำสกู๊ปโปรโมท เรื่องราวเรื่องสินค้า สถานที่ที่น่าสนใจ 

 

"ด้วยความที่เราใช้ชื่อเรา คือเครดิตที่สร้างมาทั้งชีวิต อะไรที่นำเสนอ ก็ต้องลองก่อน มีความเชื่อก่อน และดีจริงในมาตรฐานเรา และหากโชคดีมีคนตามมากก็ได้ค่าตอบแทนจากยูทูปด้วย

งานนี้ต้องบอกว่าไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่อยากถ่ายทอดความสุข ถือว่าเล่าเรื่องดีๆให้เพื่อนฟัง และ social media เป็นอะไรที่ไม่คุ้นเคยสำหรับคนทำทีวีมาก่อน ว่าเราจะเข้าใจจริตมันหรือไม่ รวมถึงมันเห็นผลลัพธ์ได้ตลอด มันท้าทายดีค่ะ"

วรรณา สวัสดิกูล

อีกหญิงเก่งและแกร่งที่หันมาทำเพจ สำหรับกลุ่มเป้าหมายนี้ เป็นผู้มีประสบการณ์การตลาด สายเทคโนโลยีโดยเคยอยู่ค่ายมือถือค่ายใหญ่ระดับโลกมา "วรรณา สวัสดิกูล" ที่ร่วมมือกับเพื่อนๆ เปิดเพจใน facebook ชื่อ CountUp ซึ่งเป็นชื่อที่มาจากแรงบันดาลใจที่ต้องการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดของชาวซิลเวอร์เจน (50+)และวิถีที่สังคมมองมาที่คนกลุ่มนี้ว่าอายุมากแล้ว เป็นลุง เป็นป้า ทำอะไรก็ไม่ได้ดูแก่ ดูเชย ให้ลุกขึ้นมาใช้ชีวิตแบบ CountUp สนุก มีความสุขกับชีวิตหลังวัย 50 คิดบวก คิดไปข้างหน้าไม่คิดถอยหลังเพราะยังมีอะไร อะไรให้ทำได้อีกเยอะ CountUp จึงเป็นการสร้างคอมมิวนิตี้ของคน 50+ ที่รวมคนที่มีทัศนคติเหมือนกันมาพูดคุยกัน ซึ่งปัจจุบันนี้มี followers ถึง 170,000 คน

 

เพจนี้นำเสนอเรื่องราวต่างๆ สไตล์  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “กิน เที่ยว การออกกำลังกาย ที่เหมาะกับคนที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” แต่การเที่ยววัยนี้ไม่ใช่เที่ยวที่เดิมๆ แต่สนใจที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยไป รวมถึงเทรนด์การเที่ยวใหม่ๆ “เปรี้ยวซ่า” ไม่แก่ ไม่เชย อัพเดตเทรนด์ตลอดเวลา เรื่องเก่าๆ ย้อนยุค กลับไม่เหมาะกับกลุ่มนี้ คลิปสัมภาษณ์ หรือไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย ที่ไม่มีกรอบอายุ เช่น การใส่ชุดว่ายน้ำ ในวัย 50+ การแต่งตัวเปรี้ยวๆ สร้าง engagement ได้ดี

 

ด้วย concept ที่ชัดเจนของเพจและผู้ผลิตเป็นคนวัยนี้จริงๆ จึงเข้าใจคนวัยเดียวกันได้ดี และยังได้รับการร่วมมือจากศิลปิน ดารา คนดัง ผู้เชี่ยวชาญ หรือกลุ่มที่เราเรียกว่า friends of CountUp ที่ให้สัมภาษณ์ถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจมานำเสนอตลอด 3 ปี

 

นางชาลอต กล่าวว่า ในมุมมองของนักการตลาด มองกลุ่มผู้สูงวัยว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ เป็น blue ocean เพราะเป็นตลาดเดียวที่เติบโตในอัตราที่สูง แต่ยังไม่ค่อยมีการแข่งขันมากนัก ปัจจุบันมีเพียงไม่ถึง 1% ที่เป็นมูลค่าจากสินค้าและบริการสำหรับกลุ่มซิลเวอร์ (source : Nielsen) ซึ่งคำพูดนี้จะเริ่มเปลี่ยนไป เพราะ ในอีกไม่เกิน 2 ปี ประชากรที่อายุมากกว่า 55 ปี จะมีมากกว่า 30% เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงที่ทุกแบรนด์เริ่มจะตื่นตัว แต่ก็เป็นกลุ่มที่เข้าใจยาก เช่น ไม่มีใครอยากถูกเรียกว่า “แก่ สูงวัย เกษียณ” ยังมีความต้องการที่จะทำงาน อัพเดตตัวเองให้ทันยุค ทันสมัย ใส่ใจสุขภาพและอยากดูดี ซึ่งตรงกันข้ามกับที่สังคมหรือคนวัยอื่นมองและคิดถึงพวกเขา

 

ตลาดซิลเวอร์เอจโตขึ้นทุกปี ถ้าเทียบกับตลาดกลุ่มเด็กจะค่อยๆ ลดลง ปีนี้เหลือแค่ 23 % เล็กกว่ากลุ่มซิลเวอร์แล้วหลังจากนี้ก็จะลดลงไปอีก ซิลเวอร์เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง หลักการตลาดคือ First Come First Serve ใครมาก่อนเป็นที่รู้จักก่อนก็จะอยู่กับเขา แต่กลายเป็นว่าเชิงโปรดักส์ สินค้าอุปโภคบริโภค 9 แสนล้านบาทของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดในประเทศไทยมีสินค้าที่ดีไซน์มาเฉพาะกลุ่มนี้น้อยกว่า 1 % แสดงว่าโอกาสยังมีอีกเยอะ และเป็นกลุ่มที่ไม่กังวลเรื่องราคามากนัก" นางสมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ นีลเซ็น คอมปะนี (ประเทศไทย) ให้ข้อมูล

 

กลุ่มตลาดสูงวัย หรือ Silver Age ในเชิงการตลาด Silver Generation คือคนอายุ 55 ขึ้นไป 20-30% การศึกษาดี มีรายได้ค่อนข้างสูง ตลาดค่อนข้างใหญ่ประมาณ 26% แต่กลับมีสินค้าสำหรับคนกลุ่มนี้ในท้องตลาดเพียง 1% เท่านั้น