สทท.ถอดรหัส "ไทยแลนด์แซนด์บ็อกซ์"ทางออกเดินหน้าประเทศไทย

05 ต.ค. 2564 | 10:50 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2564 | 18:13 น.

กว่า 3 เดือนของการเปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เอกชนมองว่ายังมีปัญหาที่ยังคงต้องนำมาถอดบทเรียน เพื่อให้การเปิดประเทศในอีกหลายเมืองที่จะเกิดขึ้น เดินได้ดีกว่าที่ผ่านมา อ่านได้จากมุมมองของนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสทท. เปิดใจว่า 3 เดือนที่ผ่านมา ผมต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่กล้าหาญประกาศคิกออฟ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ส่งผลให้ทั่วโลกจับตามองไทยเป็นต้นมา ซึ่งตรงนี้ต้องยืนชมชื่น เราต้องยอมรับว่าวิกฤติโควิดเป็นมหาภัยร้าย ต้องคิดไปทำไปทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องของวัคซีน และการจัดการในประเทศ เพราะเราบอกไม่ได้ว่าต้องทำอย่างไรจากสถานการณ์นี้ ธุรกิจท่องเที่ยวเกือบ 2 ปีแล้วที่หลายส่วนต้องตกงาน หลายธุรกิจปิดไป หลายผู้ประกอบการร้องต่างๆ นานาว่าต้องการได้โน้นได้นี่

                                                            

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์

 

การประกาศเปิดเมืองผมมองว่านายกกล้าหาญที่ออกมาประกาศเช่นนี้ ให้คะแนนเต็ม 100 กล้าประกาศเดินหน้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่ง 3 เดือนเศษ เราได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 หมื่นกว่าคน  เป็นที่โชคดีเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเอาโควิด-19 มาติดคนในประเทศ และไม่มีคนในภูเก็ตนำเชื้อไปติดนักท่องเที่ยว แสดงให้เห็นถึงมาตรการที่หลายคนร่วมคิดร่วมทำนี้ แม้อาจไม่ถูกใจทั้งหมด แต่เป็นสิ่งที่ดียอมรับได้

 

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

 

เมื่อเปิดภูเก็ต ช่วง 3 เดือนได้ก็มาต่อยอดถึงเกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพะงัน จสุราษฎร์ธานี เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ จังหวัดกระบี่  เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ เขาหลัก จ.พังงา แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยว หลายผู้ประกอบการจะบอกว่ายังไม่เป็นที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาน้อยเมื่อเทียบกับโรงแรมที่เปิดให้บริการอยู่ ก็ได้เข้ามาไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นนิมิตหมายดีที่เราเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้


7+7 ภูเก็ต

 

ทั้งนี้ตัวฉุดรั้งให้นักท่องเที่ยวยังน้อย เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือการแพร่ระบาดของโควิดในไทย และเงื่อนไขการเข้าเมืองที่ยังเป็นอุปสรรค ซึ่งเอกชนคิดว่าควรจะมีแคมเปญหนุนในการเดินหน้าเปิดเมือง เช่นเป็นไปไหม ที่จะทำแคมเปญคนละครึ่งด้านการท่องเที่ยว และสิ่งที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้เสนอผ่านมายังสทท. คือนับจากนี้อยากเห็นไทยแลนด์แซนด์บ็อกซ์ เกิดขึ้นในอีกหลายจังหวัด เพราะโควิดไม่มีวันหมดไปจากโลก เราต้องอยู่กับมันให้ได้ ซึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ต้องคิดเราจะเดินหน้าต่ออย่างไรดี

 

อย่างที่ผ่านผมได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อยหรือสสว.เข้าไปดูด้านซัพพลาย ในพื้นที่ภูเก็ต สมุย กระบี่ ซึ่งมีการคิกออฟเปิดเมืองไปเพื่อชี้แนะโอกาสในการกลับมาเป็นธุรกิจซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

อนาคตเราอยากเห็น การถอดบทเรียนจาก ภูเก็ต สมุย โดยมองว่าการกำหนดแนวทางปฏิบัติหรือ SOP ก็อยากเห็นเหมือนกันทุกพื้นที่ ไม่งั้นทุกคนจะงง ไปเชียงใหม่ ก็ ชาร์มมิ่ง เชียงใหม่ ไปหัวหิน ก็หัวหิน รีชาร์จ ไปพัทยา ก็พัทยา มูฟออน ไปกระบี่ ก็กระบี่อะเมซิ่งกว่าเดิม ทำให้เกิดความสับสนของนักท่องเที่ยวในเรื่องของการสื่อสารออกไปซึ่งคนเข้าใจยาก ดังนั้นอนาคตเราอยากเห็นกำหนด SOP เหมือนกันทุกพื้นที่  ซึ่งอาจจะใช้ชื่อลงท้ายเหมือนกันคือแซนด์บ็อกซ์ก็ได้

 

นอกจากนี้เอกชนยังมองค่าตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR 3 ครั้ง ที่นักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่าย 8.5 พันบาท ถือว่าสูงเกินไป จึงอยากเสนอให้มีการตรวจ RT-PCR ครั้งแรกในครั้งที่ 1 ส่วนครั้งต่อไปให้ตรวจโดยใช้ชุดตรวจ ATK ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวลงได้มาก และควรจะทำให้เป็นราคาเดียวทั่วประเทศ รวมทั้งกระบวนการขอใบรับรองเข้าไทยหรือ COE ของนักท่องเที่ยว เอกชนก็อยากให้รัฐมองว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเปิดให้จองผ่านบริษัทนำเที่ยวได้ด้วย นอกเหนือจากการจองผ่านโรงแรมเท่านั้น

 

เพราะเป็นบริษัทนำจะชี้แจงข้อมูลให้นักท่องเที่ยวทราบได้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหนเปิดให้เที่ยวหรือตรงไหนยังปิดอยู่ ซึ่งจะเป็นเรียลไทม์ อินฟอร์เมชั่น และจะอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเป็นกรุ๊ปได้ดีกว่า และการลดวันกักตัวลงจาก 14 วันเหลือ 7 วันจะเอื้อให้เกิดการเดินทางเที่ยวได้อย่างสบายใจขั้น เพราะนักท่องเที่ยวจะได้ไม่รู้สึกว่าอยู่ที่เดียวนานเกินไป 

 

ภาพที่ผมอยากเห็นในการเดินหน้าหลังถอดบทเรียน ไทยแลนด์แซนด์บ็อกซ์ เพราะมองว่าเป็นทางออกในเดินหน้าประเทศ ที่น่าจะใช้ภูเก็ตเป็นฮับเอานักท่องเที่ยวต่อไปเที่ยวพัทยา กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ อาจใช้สนามบินภูเก็ตเป็นฮับก่อนเบื้องต้น สร้างความมั่นใจ และการกระจายวัคซีนใหได้ 80% หรือ 100% ไปเลยช่วง3 เดือนนี้ เดินหน้าปี 65 สร้างความมั่นใจมากขึ้น

 

ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการเอง ก็ต้องเตรียมพร้อมเปิดประเทศ โดยเฉพาะที่จะเปิดในอีก 10 เมืองที่จะเกิดขึ้น นอกจากเรื่องวัคซีน การตรวจเชื้อโควิดแบบ ATK ของพนักงานในสถานประกอบการต่างๆสัปดาห์ละครั้งก็จะสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวด้วยเช่น จึงอยากให้รัฐสนับสนุน ATK นำร่องให้ผู้ประกอบการ 1 ล้านชิ้น ซึ่งถ้าข้อเสนอของภาคเอกชนได้รับการตอบรับ ก็มองว่าการคาดการณ์ที่สทท.มองไว้ในปีนี้จะมีต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทย 280,447 คน สร้างรายได้ 16,826.82 ล้านบาทก็น่าจะมีความเป็นไปได้ หรืออาจจะได้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ

 

สทท.ถอดรหัส \"ไทยแลนด์แซนด์บ็อกซ์\"ทางออกเดินหน้าประเทศไทย

สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งรัฐมีโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ทัวร์เที่ยวไทย หรือแม้แต่ประชุมเมืองไทยของทีเส็บ ก็เป็นแรงกระตุ้นไทยเที่ยวไทยที่ดี แต่สิ่งที่ควรจะมาควบคู่กันไปด้วยคือการคลายล็อกการคัดกรองการเดินทางเข้าพื้นที่ ซึ่งในแต่ละจังหวัดก็แตกต่างกัน อย่างภูเก็ต นอกจากฉีดวัคซีนแล้ว ก็ต้องมีผลตรวจ ATK ไม่เกิน 7 วันด้วย หรือเชียงใหม่ แค่ฉีดวัคซีนแล้วก็เที่ยวได้ จึงควรมีการผ่อนคลายให้เดินทางได้สะดวกและเป็นสแตนด์ดาร์ดเดียวกัน หรือทำให้การเดินทางเข้าไปเที่ยวมีความยุ่งยากน้อยลง ก็จะทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้สะดวกขึ้น

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,719 วันที่ 3 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564