ซีพีเอ็น เปิดแอพพลิเคชั่น Serve ช่วยคู่ค้าครบวงจร

19 ส.ค. 2564 | 14:07 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2564 | 16:28 น.

“เซ็นทรัลพัฒนา” เปิดตัวแอพพลิเคชั่น Serve ช่วยเหลือเอสเอ็มอีและคู่ค้าผู้เช่า เข้าถึง Crowdfunding Platform

นายอิศเรศ จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายขาย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล, เซ็นทรัล ภูเก็ต และเซ็นทรัล วิลเลจ เปิดเผยว่า บริษัทเปิดตัว CentralPattana ‘Serve’ Application แอพพลิเคชั่นดูแลอำนวยความสะดวกให้คู่ค้าแบบครบวงจรเจ้าแรกในวงการศูนย์การค้าไทย

 

โดยจับมือกับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ บริษัท อินเวสทรี (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ให้บริการ Crowdfunding Platform ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพียงแค่ใช้ใบแจ้งหนี้การค้าหรือสัญญากับเซ็นทรัลพัฒนา

 

ในการจับคู่ธุรกิจแบบ Business Matching พันธมิตรทุกระดับในรูปแบบต่างๆ สร้างและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ สร้างความสำเร็จได้อย่างไร้ขีดจำกัด พร้อมเพิ่มโอกาสให้ SMEs ไทยเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น

ซีพีเอ็น เปิดแอพพลิเคชั่น Serve ช่วยคู่ค้าครบวงจร

“เซ็นทรัลพัฒนาดูแลคู่ค้าผู้ประกอบการกว่า 15,000 ราย โดยพยายามนำเอา pain-point ต่างๆ ของผู้เช่า มาปรับให้เป็น gain-point ด้วยการใช้นวัตกรรม หรือ innovation ใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมธุรกิจให้เติบโตไปได้ด้วยกันอย่างอย่างยั่งยืน

 

การเปิดตัว Central Pattana ‘Serve’ Application แอพพลิเคชั่นนี้ เพื่อช่วยเหลือคู่ค้าแบบครบวงจรเจ้าแรกของวงการศูนย์การค้าไทย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เช่า สะดวก รวดเร็ว โดยศูนย์การค้าเซ็นทรัล เป็นศูนย์การค้าแห่งเดียวในไทย ที่มี Application & Solution รูปแบบดังกล่าว

 

เพื่อให้การบริหารจัดการร้านค้าในพื้นที่เป็นไปได้อย่างง่ายดายได้ด้วยตัวเอง ทั้งติดต่อศูนย์การค้า ทำธุรกรรม รับข้อมูลข่าวสาร เข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายในการทำธุรกิจ รวมถึงเตรียมเปิดตัวโปรแกรม The 1 Biz : Effective CRM เพิ่มยอดขายให้คู่ค้าและแผนสนับสนุนต่อเนื่องทั้งปี และเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น”

 

นอกจากนี้เพื่อดูแลผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจร่วมกับศูนย์การค้าของเราที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 4,500 ราย เช่น ร้านค้าในโซน Food Park, Fashion Plus และ E-Center  ได้ให้การช่วยเหลือแบบ 360 องศา ทั้งการปรับลดค่าเช่าตามความเหมาะสมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

ยังได้จับมือกับพันธมิตรด้านการเงินรายใหม่ๆ ที่เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามาช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระยะสั้นอีกด้วย โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้จัดให้มี Multi-Bank Loans มอบความช่วยเหลือกับกลุ่มผู้เช่าหลัก ผนึกกำลังกับ 7 สถาบันการเงินชั้นนำ ได้แก่

 

ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต และธนาคารออมสิน ช่วยเหลือคู่ค้าเพื่อเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูสะดวกได้รวดเร็ว’ หรือเงินกู้ Soft Loan และวงเงิน O/D เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ

ซีพีเอ็น เปิดแอพพลิเคชั่น Serve ช่วยคู่ค้าครบวงจร

ซึ่งเซ็นทรัลพัฒนามีจุดแข็งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คู่ค้าได้ด้วยระบบ Grading ฐานข้อมูล Credit Score หรือความน่าเชื่อถือของคู่ค้าเซ็นทรัลพัฒนา ที่จะช่วย Tailor-Made แผนสินเชื่อให้คู่ค้าแต่ละรายได้

 

ขณะเดียวกัน เซ็นทรัลพัฒนายังได้รุก Omnichannel แพลตฟอร์มและบริการใหม่ที่จะช่วยสร้างยอดขายและตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคให้กับร้านค้าต่างๆ อาทิ Chat & Shop: ชอปออนไลน์สะดวก บริการ Food Take-away และ Delivery อย่าง GrabFood, บริการ Drive-Thru Pick-UP และ Live Streaming ทุกศูนย์การค้า

 

เพื่อกระตุ้นยอดขายร้านค้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดสะท้อนความเชื่อในเรื่องของ Dynamism หรือ ความพร้อมที่จะปรับตัวรวดเร็วและสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งใหม่ๆของบริษัทอยู่เสมอ รวมถึงความเชื่อในการดูแลพันธมิตรคู่ค้าของเราให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน (Community at heart)

 

นางสาวณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อินเวสทรี กล่าวว่า อินเวสทรีก่อตั้งมาเพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงเงินทุนในรูปแบบใหม่ที่สะดวกและเร็ว ผ่านการระดมทุนจากนักลงทุนโดยตรง ด้วยอัตราที่สมเหตุสมผลและกระบวนการระดมทุนที่โปร่งใส

 

และที่สำคัญไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพียงแค่ใช้ใบแจ้งหนี้การค้าหรือสัญญาที่มีกับ เซ็นทรัลพัฒนามาประกอบคำขอ ขณะเดียวกันฝั่งนักลงทุนเองก็ได้โอกาสลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ กระจายการลงทุนไปในธุรกิจที่หลากหลายมากกว่าเดิม

ณัทสุดา พุกกะณะสุต

ที่ผ่านมาปัญหาสำคัญที่ SMEs ไทยพบคือ เมื่อคู่ค้าหรือลูกค้ายืดเวลาการชำระเงินค่าสินค้าออกไป SMEs จะประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องในระยะสั้น หาก SMEs ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หลายรายไม่มีทางเลือกและจำเป็นต้องหันหน้าหาเงินกู้นอกระบบ

 

บริษัทหวังว่าบริการ Investment-based Crowdfunding ในรูปแบบของการออกหุ้นกู้ จะเป็นอีกทางเลือกให้ SMEs เพราะ SMEs เป็นเส้นเลือดฝอยของระบบเศรษฐกิจไทย แต่โอกาสเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs กลับมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของ GDP

 

ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจมีถึง 85% ของ GDP จะเห็นว่ามี Credit Gap ที่ใหญ่มากในระบบการเงินไทย ซึ่งเป็นแบบนี้ในหลายประเทศเช่นกัน ทั้งนี้นักลงทุนและ SMEs ไทยที่สนใจ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://investr.ee/CPN