"เชียงใหม่แซนด์บ็อกซ์" 4 อำเภอนำร่อง ชูการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพิ่มมูลค่า

29 ก.ค. 2564 | 16:26 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ค. 2564 | 23:42 น.
1.2 k

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ วางรูปแบบรับนักท่องเที่ยวไฮบริด ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในโมเดล “เชียงใหม่แซนด์บ็อกซ์” ที่เปิดนำร่อง 4 อำเภอ ชูการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพิ่มมูลค่า

ตามที่จังหวัด จ.เชียงใหม่ เตรียมรับนักท่องเที่ยว ภายใต้โมเดล “เชียงใหม่แซนด์บ็อกซ์” พร้อมเปิด 4 อำเภอนำร่อง คือ อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง และ อ.ดอยเต่า ล่าสุดนายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ ออกมาแสดงความมั่นใจในศักภาพของจังหวัด

 

“จ.เชียงใหม่ มีความพร้อมด้านสาธารณสุขมาก หรือเตรียมความพร้อมเอาไว้ตลอด 24 ชั่วโมง จากการที่มีโรงพยาบาลรัฐ 24 แห่ง  โรงพยาบาลเอกชน 11 แห่ง และโรงพยาบาลสนามอีก 2,770 เตียง ปัจจุบัน ชาวเชียงใหม่และพี่น้องในภาคเหนือ เดินทางท่องเที่ยวกันเอง อย่างเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีรถที่ผ่านด่าน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน กว่า 400 คัน”

 

นายพัลลภ กล่าวว่า ดีมานด์ของการท่องเที่ยวในภาคเหนือยังสูงอยู่ ขณะที่การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ วางเป็นโมเดลแบบไฮบริด คือถ้าเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยตรงไม่ผ่านบริษัททัวร์ จะให้เข้ามาอยู่ในบล็อกเล็กๆ เช่น สนามกอล์ฟ หรือมีการแยกเซกเมนต์การท่องเที่ยวให้ชัดเจน แต่ถ้านักท่องเที่ยวจะเดินทางมาใน 4 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง ต้องผ่านบริษัททัวร์เท่านั้น และจะควบคุมการเดินทาง-การพักอาศัยแบบ Bubble And Seal ส่วนที่พักหรือสถานประกอบการที่นักท่องเที่ยวจะเข้าไปใช้บริการจะต้องผ่าน การรับรองมาตรฐานระดับ  SHA Plus+

 

“จริงๆไม่ว่าเกิดการระบาดระลอกไหน เชียงใหม่เอาอยู่ หรือสามารถบริหารจัดการได้ภายใน 14 วัน แต่ครั้งนี้ต้องยอมรับว่ามีการรับพี่น้อง จากกรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ มาเรื่อยๆ จึงพบตัวเลขการแพร่ระบาดอยู่ แต่ก็เป็นภาวะที่เราต้องช่วยช่วยกัน”

 

การท่องเที่ยวเชียงใหม่ เรามีการปรับตัวมาโดยตลอด อย่างโควิด-19 นี่ก็ไม่ใช่วิกฤติครั้งแรก ที่ผ่านมามีทั้ง วิกฤติเศรษฐกิจ เรื่องของการปรับตัวตามแพลตฟอร์มของนักท่องเที่ยวจีน วิกฤติสิ่งแวดล้อม ในทุกๆหน้าแล้งต้องเผชิญ PM2.5 สูญเสียรายได้เดือนละกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งการเจอวิกฤติบ่อยๆ ทำให้เราเรียนรู้ มีความเข้าใจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมปรับตัวสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

 

ส่วนรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สามารถนำทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มาประยุกต์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ได้ทั้งสิ้น สอดคล้องกับความโดดเด่นด้านอาหาร ชา กาแฟ สมุนไพร ที่ต้องเพิ่มมูลค่า รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงกีฬา และการทำกิจกรรมต่างๆ