ชง 4 มาตรการเยียวยาเร่งด่วน “ธุรกิจศูนย์การค้า” หลังล็อกดาวน์ปิดยาว

21 ก.ค. 2564 | 20:52 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2564 | 04:09 น.

“สมาคมศูนย์การค้าไทย” นำเสนอ 4 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเร่งด่วน หลังล็อกดาวน์ปิดยาว วอนภาครัฐกำหนดแผนการเปิด-ปิดธุรกิจในสถานการณ์แต่ละเฟสให้ชัดเจน พร้อมเดินหน้าลงทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สมาคมศูนย์การค้าไทย หรือ TSCA ได้นำเสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการภาคธุรกิจศูนย์การค้าและการค้าปลีก ในโอกาสประชุม conference call กับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วยคณะทำงานจากภาครัฐ

 

โดยเสนอภาครัฐให้มีมาตรการเยียวยาเร่งด่วน ทั้งรักษาอัตราการจ้างงาน ส่งเสริมการลงทุนต่อเนื่องสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนในระยะยาว เร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้ และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นช่วยลดผลกระทบที่ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบต่อเนื่อง

 

นายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจศูนย์การค้าโดยสมาคมศูนย์การค้าไทย ขอขอบพระคุณ ฯพณฯ และภาครัฐเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้โอกาสเสนอแผนงานร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศ

ชง 4 มาตรการเยียวยาเร่งด่วน “ธุรกิจศูนย์การค้า” หลังล็อกดาวน์ปิดยาว

สมาคมฯ พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งที่เป็นคู่ค้าผู้เช่า และผู้ประกอบการอาชีพอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อให้ทุกฝ่ายรอดพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยนับรวมแล้วได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วกว่า 200,000 ล้านบาท

 

ด้านนางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ อดีตนายกสมาคมศูนย์การค้าไทย 2 สมัย (ปี 2557-2561) และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคธุรกิจศูนย์การค้าและการค้าปลีกได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ผู้ประกอบการขาดรายได้

 

รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนและปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐอย่างเคร่งครัด ในการนี้ ทางสมาคมฯ จึงขอนำเสนอมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจศูนย์การค้า เพื่อโปรดพิจารณาอนุมัติโดยเร่งด่วน ดังนี้

 

1. สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ธุรกิจศูนย์การค้าได้ช่วยเหลือเพื่อพยุงธุรกิจอื่นๆ เช่น ช่วยพยุงการจ้างงานโดยสามารถนำรายจ่ายเงินเดือน พนักงาน มาหักภาษีได้ 2 เท่า สามารถนำส่วนลดค่าเช่าผู้ประกอบการ มาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

 

2. กระตุ้นการลงทุนต่อเนื่อง ให้เกิดการลงทุนในทรัพย์สิน อาคารถาวร เครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงการรซ่อมบำรุง เพื่อให้ทรัพย์สินมีอายุการใช้งานมากกว่า 1 ปี สามารถลงเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ 2 เท่า (ดังเช่นปีที่แล้ว)

 

3. เยียวยาแก่ภาคธุรกิจที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวโคยคำสั่ง ศบค. หากธุรกิจสามารถบริหารจัดการให้พนักงานได้รับวัคซีนครบ 70% แล้ว ขอให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถประกอบการได้ตามปกติ

ชง 4 มาตรการเยียวยาเร่งด่วน “ธุรกิจศูนย์การค้า” หลังล็อกดาวน์ปิดยาว

4. ช่วยลดค่าใช้จ่าย เช่น ขยายเวลาลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% อีก 1 ปี ลดค่าไฟฟ้า 50% ยกเว้นภาษีป้าย และค่าเช่าที่ดินที่เช่าจากภาครัฐ

 

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจศูนย์การค้าต้องการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการร้านค้าในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ โดยมีความเข้าใจถึงความจำเป็นรอบด้าน จึงขอให้ภาครัฐพิจารณากำหนดแผนการเปิด-ปิดธุรกิจในสถานการณ์แต่ละเฟสให้ชัดเจน

 

เพื่อเป็นแนวทางให้ธุรกิจต่างๆ เตรียมความพร้อม ลดผลกระทบที่เกิดจากคำสั่งเปลี่ยนแปลงกระทันหัน โดยแบ่งระดับความรุนแรงของการระบาด มี Indicator ที่ชัดเจน เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน เปอร์เซ็นต์ประชาชนได้รับวัคซีนครบโดส ความสามารถในการรองรับของโรงพยาบาลและบุคลากรการแพทย์

ชง 4 มาตรการเยียวยาเร่งด่วน “ธุรกิจศูนย์การค้า” หลังล็อกดาวน์ปิดยาว

และด้วย Indicators เหล่านี้ สามารถกำหนดได้ว่าสถานการณ์ในเฟสไหนจะมีธุรกิจอะไรเปิดให้บริการได้บ้าง หรือเปิดได้ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง แบ่งพื้นที่ปลอดภัยให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีกำลังใจ สามารถเตรียมการ และวางแผนการดำเนินธุรกิจของตนเองในแต่ละพื้นที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ปัจจุบัน สมาคมศูนย์การค้าไทยประกอบด้วยผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์การค้าทั้งหมด 13 ราย ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน), บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, บริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด, บริษัท แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)

 

บริษัท เดอะมอลล์ชอปปิ้งคอมเพล็กซ์ จำกัด สำนักงานใหญ่, บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะ เคอี กรุ๊ป จำกัด, บริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท พิริยา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา จำกัด